ลุ้นไปต่อ!ปิดประตูข้อเสนอซี.พี.จับตา5มี.ค.เจรจาชี้ขาดถอน-ไม่ถอนเงื่อนไขพิเศษไฮสปีด

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงิลงทุน 224,544 ล้านบาท เปิดเผยว่า ที่ประชุมสรุปผลการเจรจารอบแรกกับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัดและพันธมิตรแล้ว โดยมีมติไม่รับประเด็นเจรจาที่อยู่นอกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และประกาศเชิญชวน (RFP) จำนวน 12 ประเด็น จากข้อเสนอทั้งหมด 108 ประเด็น เช่น การขอต่ออายุสัญญาสัมปทาน 99 ปี , ให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มก่อสร้าง เป็นต้น โดยเป็นข้อสรุปที่คณะอนุกรรมการที่มีผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธาน ได้ข้อสรุปและส่งข้อสรุปในประเด็นต่างๆให้คณะกรรมการคัดเลือกพิจาณา

สำหรับขั้นตอนต่อไป คณะกรรมการคัดเลือกจะทำหนังสือแจ้งผลการเจรจาเบื้องต้นไปทางกลุ่มซี.พี.ภายในวันนี้(22ก.พ.) จากนั้นถ้ากลุ่มซี.พี.ยังอยากเจรจาอีก จะนัดมาคุยกันในวันที่ 5 มี.ค. เวลา 14.00 น.

โดยมีการบังคับว่า ห้ามนำประเด็นที่ถูกคัดทิ้งมาคุยอีก และถ้าจะมีข้อเสนอเพิ่มเติมจะต้องไม่ขัดมติครม.และประกาศ RFP อีกแล้ว แต่ถ้าจะยังยืนยันข้อเสนอเดิม จะต้องคุยกันเพื่อยุติการเจรจากับกลุ่มซี.พี.ต่อไป ดังนั้นในวันนี้ จึงยังไม่ได้ตัดสิทธิ์กลุ่มซี.พี.ออกไป คาดว่าวันที่ 5 นี้จะรู้เลยว่ากลุ่มซี.พีงจะได้ไปต่อหรือไม่

“ถ้าซี.พี.มาคุยต่อ จะใช้เวลาไม่กี่วันก็จบ เพราะประเด็นเจรจาที่เหลือ เป็นข้อเสนอที่ง่ายทั้งหมด ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกสามารถควบคุมได้ เช่น การปรับกรณีที่ก่อสร้างล่าช้า หรือการรับประกันกรณีเกิดภัยสงคราม เป็นต้น ส่วนตัวคิด ซี.พี. ยังไม่ถอนตัว และน่าจะไปต่อจนนาทีสุดท้าย หากผู้ถือหุ้นของซี.พี.จะไม่ลงทุน เขาจะต้องไปกล่อมหุ้นส่วนเขา”

นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า ถ้ากลุ่มซี.พี.ไม่ได้ไปต่อ คณะกรรมการคัดเลือกจะเชิญกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Jont Venture) ที่มีกลุ่มบมจ.บีทีเอสเป็นแกนนำมาเปิดซอง 4 และเจรจาต่อ

ส่วนกรอบการเซ็นสัญญา ถ้าสามารถเซ็นได้ภายในเดือน มี.ค. หลังจากนั้นอีก 6 เดือนน่าจะเริ่มก่อสร้างได้ โดยรัฐบาลไม่ได้กดดันหรือเร่งรีบ มีเพียงเร่งรัดกระบวนการเจรจาเท่านั้น ยอมรับว่าโครงการนี้มีความยากเหมือนโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ข้อเสนอที่ให้ขยายเวลาก่อสร้าง 6 เดือนมีผลกับการเจรจาหรือไม่ นายวรวุฒิ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีเหตุ ส่วนข้อเสนอการปรับย้ายสถานี, สร้างสเปอไลน์, ส่วนต่อขยาย คณะกรรมการเพียงรับไว้ เป็นออฟชั่นหนึ่งไปใส่ไว้ในเงื่อนไขสัญญาเจรจาในอนาคต

ส่วนการขอเลื่อนจ่ายค่าเช่าการพัฒนา TOD สถานีมักกะสัน และศรีราชา คณะกรรมการได้รับข้อเสนอนี้ไว้ ส่วนเรื่องการขอปรับเพดานเงินกู้ ทางกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้ดูแลดูเรื่องนี้ โดยคณะกรรมการคัดเลือกไม่ได้รับไว้พิจารณา เพราะไม่อำนาจ

ขณะที่การพิจารณารายงานผลวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าน่าจะผ่านประมาณเดือน มี.ค.นี้ เพราะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการมาแล้ว