“ไพรินทร์” เปิดไทม์ไลน์รถไฟฟ้า เม.ย.ทดลองเดินรถสีน้ำเงิน”หัวลำโพง-ท่าพระ” ดีเดย์ ก.ค.เปิดนั่งฟรี!

รมช.คมนาคมเผยลงพื้นที่เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้า คาดส่วนต่อขยายสีน้ำเงิน”หัวลำโพง-ท่าพระ” ทดลองเดินรถเมษาฯนี้ เดือนก.ค.เปิดให้ประชาชนนั่งฟรี ก่อนเปิดเต็มรูปแบบเดือนก.ย. ระบุสายสีส้ม-ชมพู-เหลือง คืบหน้าแล้วกว่า25%

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การตรวจเยี่ยมการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่ประเทศไทย (รฟม.) เป็นการเร่งรัดการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสำคัญของรฟม.

โดยส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – หลักสอง และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ ระยะทางรวม 27 กม. ในช่วงหัวลำโพง – หลักสอง จะมีทดลองเดินรถเสมือนจริงในเดือน เม.ย.นี้ หลังจากนั้นประมาณเดือน ก.ค. จะเปิดให้ประชาชนใช้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จะคล้ายๆ กับช่วงที่เปิดให้ประชาชนโดยสารสายสีม่วงเป็นรอบๆ เพื่อจูนระบบก่อนเป็นเวลา 2 เดือน

และในเดือน ก.ย.จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบและเริ่มเก็บค่าโดยสาร ซึ่งมีอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 16-42 บาท และหากนั่งจากสายสีม่วงค่าโดยสารสูงสุดก็ยังอยู่ที่ 70 บาท

คาดการณ์ผู้โดยสารในช่วงแรกอยู่ที่ 200,000 คน/วัน เฉพาะในส่วนต่อขยายนี้ จะทำให้ยอดผู้โดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 360,000 คน/วัน เป็น 400,000 คน/วัน และหากรวมกับสายสีน้ำเงินเดิมช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ และส่วนต่อขยายบางซื่อ – ท่าพระ ยอดผู้โดยสารน่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 700,000 คน/วัน และส่งผลให้ยอดผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 คน/วันได้ โดยส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ – ท่าพระ เบื้องต้นวางไว้ว่าจะเปิดให้ประชาชนโดยสารฟรีในช่วงเดือน ม.ค. 2563 และจะเปิดเต็มรูปแบบในเดือน มี.ค.ตามลำดับ

@ต่อขยายไปสาย 4 รอผู้โดยสารแตะล้าน

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่า รฟม.กล่าวว่า ความคืบหน้ารถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค – พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 8 กม. เบื้องต้นระดับนโยบายต้องการเห็นยอดผู้ใช้บริการสายสีน้ำเงินทั้ง 3 ช่วงก่อน

โดยคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารจะต้องอยู่ที่ 800,000 คน/วันก่อน หลังจากนั้นจะต้องมีอัตราเร่งให้ผู้โดยสารของสายนี้แตะ 1 ล้านคน/วันให้ได้ก่อน จึงจะพิจารณาเจรจากับผู้รับสัมปทานคือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป

@ทับซ้อนอุโมงค์แยกไฟฉายไร้ปัญหา

สำหรับปัญหาโครงสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ – ท่าพระ ทับซ้อนกับโครงการทางลอดจรัญสนิทวงศ์-พรานนก บริเวณแยกไฟฉาย ระยะทาง 600 เมตร ของกรุงเทพมหานคร (กทม.)

ตอนนี้ได้รับมอบพื้นที่ทั้งหมดแล้ว และเดินหน้าก่อสร้างต่อ เพราะกำแพงทางลอดดังกล่าว รฟม.ลงเสารูปตัวยูคว่ำแทรกลงไปแล้ว ระยะห่างของเสาประมาณ 35 เมตร ในลักษณะโครงสร้างร่วมและทำทางวิ่งเรียบร้อย โดย รฟม. ได้ออกค่าก่อสร้างดังกล่าวทั้งหมดประมาณ 200 ล้านบาท จึงไม่มีผลกระทบกับการก่อสร้างอีกแล้ว

@ส้ม-ชมพู-เหลืองคืบ 20-25%

นายภคพงศ์กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้ารถไฟฟ้า 3 สายที่กำลังก่อสร้าง ในส่วนสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. กับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. มีความคืบหน้าการก่อสร้างอยู่ที่ 20% ช้ากว่าแผนอยู่ 4% สายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 21.2 กม. มีความคืบหน้าอยู่ที่ 25%

@ส้มตกเข้า ครม.กลาง มี.ค.นี้

ความคืบหน้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กม. เงินลงทุน 120,459 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ คาดว่าจะเสนอได้กลางเดือน มี.ค.นี้

หลังจากนั้นจะส่งกลับมาที่บอร์ด รฟม.พิจารณาตั้งคณะกรรมการคักเลือกเอกชนตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 เพื่อร่างประกาศ TOR และเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน หรือภายในเดือน พ.ค. และจะประกาศเชิญชวนได้ในเดือน มิ.ย. จากนั้นจะใช้เวลาคัดเลือกและเจรจาประมาณ 7-8 เดือน จึงจะได้ตัวเอกชนผู้ร่วมลงทุนต่อไป

@ส่อเลื่อนเปิด 1 สถานีเขียวเหนือ ปลายปี

ผู้ว่ารฟม.กล่าวต่อว่า ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-คูคต ที่จะเปิดสถานีห้าแยกลาดพร้าวก่อน 1 สถานี ขณะนี้ติดตั้งงานระบบเรียบร้อยแล้ว ตามกำหนดจะพยายามเร่งรัดให้เปิดบริการภายในสิ้นปีนี้ เพราะยังมีเรื่องของงานระบบไฟฟ้าที่ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ จากนั้นเปิดสถานีพหลโยธิน 24 สถานีรัชโยธิน สถานีเสนานิคม สถานี ม.เกษตรศาสตร์ ภายในปี 2563 และสถานีกรมป่าไม้ สถานีคูคต ภายในปี 2564

ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.1 กม. ในช่วงพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการทางด่วนสายเหนือขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 ช่วงวงแหวนตะวันออก-เกษตรฯ เป็นระยะทาง 5.7 กม. ที่มีการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นเจ้าของโครงการ เบื้องต้น หารือกันแล้วว่าจะให้ กทพ. รับภาระก่อสร้างในส่วนโครงสร้างร่วมไปก่อน เมื่อ รฟม.ได้ตัวผู้รับสัมปทานแล้ว ก็จะให้มาจ่ายเงินส่วนนี้กลับคืนไปให้ กทพ.ในภายหลัง

ส่วนการออกแบบโครงการยังมีเวลาทำงานอยู่ 6 เดือน เมื่อออกแบบเสร็จแล้วจะต้องเสนอ ครม.เห็นชอบ เพราะตัวฐานรากที่ใช้เป็นโครงสร้างร่วม จะมีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งตาม พ.ร.บ. รฟม. 2543 ระบุให้นำโครงการที่มีมูลค่าเกิน 500 ล้านบาท จะต้องเสนอให้ ครม.อนุมัติก่อน

หลังจากนั้นจะจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษารูปแบบ PPP ภายในปีนี้ จะใช้เวลาศึกษาประมาณ 2 ปี คาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ประมาณ ก.พ. 2564