รถไฟทุ่ม3.5หมื่นล้าน เนรมิตที่ดิน120ไร่ ใกล้บางซื่อผุดออฟฟิศ-ที่อยู่อาศัยเปิดสัมปทาน50ปี “ซี.พี.-เซ็นทรัล-เจริญ”สนใจ

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเอกชน (Market Sounding) ในการศึกษาความเหมาะสมและการออกแบบเบื้องต้น โครงการพัฒนาพื้นที่สำนักงานใหญ่ของ ร.ฟ.ท. และพื้นที่ต่อเนื่องบริเวณตึกแดง บางซื่อ พื้นที่ 120 ไร่ ในเบื้องต้นประเมินมูลค่าโครงการรวมอยู่ที่ประมาณ 35,000 ล้านบาท ยังเป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้น ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้

หลังจากนี้จะนำความคิดเห็นของเอกชนไปปรับให้เหมาะสมต่อไป โดยคาดว่าที่ปรึกษาจะสรุปผลการศึกษาเบื้องต้น (Conceptual Design) ได้ประมาณเดือน พ.ค.นี้ และน่าจะเข้าสู่ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างได้ในปีหน้า

@ไม่เข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562

โดยรูปแบบการลงทุนเบื้องต้น เนื่องจากรัฐบาลเพิ่งประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562) เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้โครงการนี้ไม่เข้าเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว

ฉะนั้นรูปแบบการลงทุนจึงยึดตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของ ร.ฟ.ท. วางระยะเวลาเช่าอยู่ที่ 50 ปี สัญญาเดียว ส่วนเอกชนจะรวมกลุ่มกันมาในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือกิจการค้าร่วม (Consortium) ก็สามารถทำได้ โดยจะต้องก่อสร้างอาคารที่ทำการ ร.ฟ.ท.แห่งใหม่ กับบ้านพักพนักงาน ที่จะย้ายมาจากบริเวณ กม.11 ก่อนเป็นเฟสแรก ซึ่งอยู่ระหว่างสำรวจจำนวนครัวเรือนที่จะต้องย้ายมาอยู่

สำหรับรูปแบบการพัฒนาที่วางไว้ แบ่งพื้นที่ 120 ไร่ พัฒนาจำนวน 4 โซนด้วยกัน เริ่มที่ โซน S พื้นที่ประมาณ 15.6 ไร่ จะเป็นสำนักงานใหญ่ของ ร.ฟ.ท.ทั้งหมด ซึ่งจะย้ายมาจากที่ทำการปัจจุบันบริเวณหัวลำโพง ที่ใช้งานมากว่า 70 ปี, โซน A พื้นที่ประมาณ 20.4 ไร่ จะเป็นส่วนของอาคารสำนักงาน, โซน B พื้นที่ 55.8 ไร่ จะเป็นส่วนของที่อยู่อาศัยและคอมมูนิตี้มอลล์ และโซน C พื้นที่ 28.2 ไร่ จะเป็นส่วนของบ้านพักพนักงานรถไฟ

@ชงแก้ผังเมือง มิ.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดที่ปัจจุบันพื้นที่พัฒนาทั้งหมดยังต้องยึดตามผังเมืองรวมกรุงเทพ 2556 ทำให้พื้นที่พัฒนาอยู่เขตสีน้ำตาล ประเภท ย.8 และ ย.9 (ที่อยู่อาศัยหนาแน่น) ส่งผลกับการพัฒนาอาคารสำนักงานที่กำหนดพื้นที่ใช้สอยไม่เกิน 10,000 ตารางเมตร ทำให้การพัฒนาส่วนหนึ่งไม่สามารถทำได้เต็มศักยภาพ เพราะในอนาคตพื้นที่ตรงนี้จะต่อเนื่องกับสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะเป็นแลนด์มาร์กด้านการขนส่งแห่งใหม่ของประเทศไทยที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในโครงการต่างๆ

ร.ฟ.ท.จึงเตรียมแผนที่จะขอปรับสีผังเมืองในพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นสีน้ำตาล ย.9 ทั้งหมด เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอาคารสำนักงานได้ โดยที่ปรึกษาจะสรุปผลการศึกษาเบื้องต้นแล้วเสร็จในเดือน พ.ค.นี้ จากนั้น ร.ฟ.ท.จะทำเรื่องเสนอสำนักผังเมือง กทม.ภายในเดือน มิ.ย.นี้ต่อไป

@ซี.พี.-เซ็นทรัล-เจริญ ร่วมสังเกตการณ์

สำหรับเอกชนที่มาร่วมรับฟังในวันนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 10 บริษัท เช่น บมจ.ซี.พี.แลนด์ และ บมจ.แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ ของกลุ่มซี.พี., บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ของกลุ่มจิราธิวัฒน์ และ บมจ.ยูนิเวนเจอร์ กับ บมจ.ไรมอนแลนด์ ของกลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นต้น