คมนาคมเร่งแก้รถติดกทม.-ปริมณฑลเปิดเดินเรือ นำร่อง “คลองมหาสวัสดิ์” เชื่อมล้อ-ราง-เรือ

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการประสานงานการแก้ไขปัญหาจราจรกรุงเทพฯ-ปริมณฑล รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการใน 8 ประเด็นคือ

1. การจัดทำที่จอดรถใต้ดินบริเวณ ถ.ราชดำเนิน โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) รายงานความคืบหน้าว่า หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่บริเวณโดยรอบถ.ราชดำเนิน ทำให้ต้องมีการศึกษาพื้นที่เหมาะสมใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง โดย กทม.จะเป็นผู้ดำเนินการศึกษาใหม่ทั้งหมด โดยอยู่ระหว่างการของบประมาณเพื่อศึกษาในรายละเอียด และมีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร.(สนข.) เป็นที่ปรึกษา โดยจะมีการรายงานความคืบหน้าให้ทราบเป็นระยะๆ

@แก้จราจรแยกพระราม9-ประดิษฐ์มนูธรรม

2. การแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณแยกพระราม 9 – ประดิษฐ์มนูธรรม 3. ร่างแผนแม่บทแก้ปัญหาจราจรในเขต กทม. – ปริมณฑล ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ทำไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว ขณะนี้ร่างดังกล่าวทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว รอเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)

แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่จึงต้องรอนายกรัฐมนตรีมอบหมายก่อนว่า จะให้รองนายกรัฐมนตรีท่านใดมาทำหน้าที่ประธานในการประชุมของคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งเดิมมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่เนื่องจากกระทรวงคมนาคม อยู่ภายใต้การกำกับของรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ นายอนุทิน ชาญวีรกุล จึงต้องรอดูคำสั่งของนายกรัฐมนตรีก่อน

@เปิดเส้นทางเรือนำร่องคลองมหาสวัสดิ์

4. การขยายเส้นทางเดินเรือในคลองบริเวณเขตกรุงเทพ –ปริมณฑล ภาพรวมขณะนี้มี 12 คลองที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นเส้นทางการเดินทางเชื่อมต่อแบบล้อ-ราง-เรือคาบเกี่ยว 3 จังหวัด (กทม.-นนทบุรี-ปทุมธานี) ได้แก่ คลองแสนแสบ คลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ คลองผดุงกรุงเกษม คลองภาษีเจริญ คลองมหาสวัสดิ์ คลองเปรมประชากร คลองอ้อมนนท์ คลองลาดพร้าว คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองบางลำพู

“กำลังศึกษาเส้นทางนำร่องที่เหมาะสมอยู่ เบื้องต้น คลองมหาสวัสดิ์มีศักยภาพที่จะพัฒนามากที่สุด เนื่องจากเป็นคลองที่เคยใช้สัญจรหลักมาก่อน เส้นทางไม่คดเคี้ยว อีกทั้งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าจำพวกน้ำตาลอยู่แล้วด้วย และในอนาคตจะเชื่อมต่อกับรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราชและตลิ่งชัน – ศาลายาด้วย “

โดยตอนนี้มีผู้ใช้งานสัญจรไปมาประมาณ 500 คน/วัน ในลักษณะเป็นเรือเหมารับส่งเป็นรอบ ๆ วางแนวเส้นทางเริ่มตั้งแต่ช่วงจุดเชื่อมคลองบางกอกน้อย – ประตูน้ำฉิมพลี มีระยะทาง 15 กม. จะต้องมีการปรับปรุงท่าเรือในคลองเส้นนี้ใหม่ทั้งหมด 8 ท่า มีกรมเจ้าท่าเป็นเจ้าภาพหลัก

การออกแบบต้องรองรับการใช้งานแบบ Universal Design ดำเนินการแล้วเสร็จ 1 ท่าคือท่าเรือวัดชัยพฤกษ์มาลา ระยะแรกอาจจะให้กทม. มาเดินเรือไปก่อน แต่ทุกอย่างจะต้องรอการศึกษาแผนเบื้องต้นให้แล้วเสร็จก่อน

@ผุดสถานีเรือ-ปรับปรุงโปะ

5. การขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องการจัดท่าเรือสาธารณะ เพื่อให้สามารถนำพื้นที่บางส่วนมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ มีกรมเจ้าท่าเป็นเจ้าของเรื่อง โดยจะเสนอแก้ไขเพื่อให้มีการพัฒนาจาก “ท่าเรือสาธารณะ” เป็น “สถานีเรือ” รูปแบบเดียวกับ TOD ของรถไฟฟ้า แต่ขนาดไม่ใหญ่มาก รวมถึงการปรับปรุงโปะเรือให้ปลอดภัยด้วย ลักษณะอาจจะให้เอกชนเช่าพื้นที่แลกผลประโยชน์ตอบแทน โดยใช้กฎหมายของกรมธนารักษ์ประกอบ

6. การแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนถ.ทล.305 รังสิต – นครนายกช่วงรังสิต – คลอง 10 ของกรมทางหลวง (ทล.) จะมีการจัดการจราจรช่วงเร่งด่วนเช้า-เย็นใหม่ให้เหมาะสม เช่นเดียวกันกับกรณีข้อ 7.การบริหารจัดการบริเวณถนนตัดใหม่ศรีนครินทร์ – ร่มเกล้า เพราะมีจุดคอขวด แต่จะเพิ่มเติมเรื่องการตีเส้นจราจรให้ชัดเจนและการบริหารจัดการสัญญาณไฟจราจรในบริเวณนั้นใหม่

@ให้กทม.สำรวจถนนทำ Street Food

และข้อ 8. ถนนสายอาหาร (Steet Food) ที่ประชุมให้กทม.ไปสำรวจถนนที่มีร้านอาหารแบบ Street Food ที่มีรูปแบบเดียวกับถ.เยาวราช ถ.ข้าวสาร และถ.บางลำพูมาเพิ่มเติมลั้วนำเสนอในที่ประชุมครั้งต่อไป มีเกณฑ์คร่าวๆคือ ถนนเส้นนั้นสามารถจัดกิจกรรม Street Food ในวันเสาร์-อาทิตย์ได้ ไม่กีดขวางจราจรและคนเดิน หรือเป็นถนนที่มีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เป็นต้น