“ยักษ์รับเหมา” ครึ่งปีแรกรายได้หด เค้กงานใหม่ออกช้า-backlog ร่อยหรอ

คอลัมน์ ดาต้าเบส

หลายภาคส่วนของประเทศไทยเคยตั้งความหวังเมื่อมี “รัฐบาลใหม่” มาจากการเลือกตั้ง จะทำให้เศรษฐกิจที่ซึมยาวกลับมาเบิกบานแต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น

เมื่อพิษจากการตั้งรัฐบาลล่าช้ากว่า 3 เดือน กระทบการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ที่ต้องพิจารณาให้เสร็จก่อนเดือน ต.ค. 2562 ต้องลากยาวออกไปเป็นเดือน ม.ค. 2563

ประกอบกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ปี 2562 อยู่ที่ 2.3% เติบโตต่ำสุดรอบ 19 ไตรมาส นับจากไตรมาส 4 ปี 2557 และคาดการณ์ทั้งปี 2562 จะขยายตัว2.7-3.2% หดตัวจากปี 2561 ขยายตัวถึง 4.1%

ยังไม่รวมปัจจัยภายนอก ไม่ว่าสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ปมการเมืองที่รัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ เสถียรภาพไม่มั่นคงที่อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยไม่สดใสอย่างที่คิด

Advertisment

เมื่อเศรษฐกิจปีนี้ดู “ซบเซา” มากกว่า “คึกคัก” การลงทุนของภาครัฐโดยเฉพาะเมกะโปรเจ็กต์ที่เคยเป็นฟันเฟืองสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็ดูนิ่ง ๆ ไปตั้งแต่มีรัฐบาลใหม่เข้ามา

“ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจรายได้ 10 บริษัทรับเหมาในตลาดหลักทรัพย์ฯ ณ ไตรมาส 2/2562

พี่ใหญ่วงการ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ มี “เปรมชัย กรรณสูต” เป็นหัวเรือใหญ่ แต่ดูเหมือนดวงไม่ดี นอกจากยังต้องขึ้นโรงขึ้นศาลในคดีเสือดำ ผลประกอบการก็ไม่สดใสเท่าไหร่ สิ้นไตรมาส 2/2562 มีรายได้รวม 31,502 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 1,697 ล้านบาท

เนื่องจากงานในมือมีความคืบหน้ามาก เช่น รถไฟทางคู่มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และโครงการ One Bangkok มิกซ์ยูสแสนล้านของเจ้าสัวเจริญ แต่พบว่าขาดทุน 326 ล้านบาท จากช่วงเดียวของปีที่แล้วกำไร 80 ล้านบาท เป็นผลมาจากมีการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน

Advertisment

ด้าน “บมจ.ช.การช่าง” เบอร์ 2 ของวงการใต้ปีก “ตระกูลตรีวิศวเวทย์” มีรายได้รวม 15,111.76 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 630.08 ล้านบาท มาจากรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ส่งมอบงานเรียบร้อยแล้ว และโรงไฟฟ้าพลังน้ำไชยะบุรี สปป.ลาว เข้าสู่ช่วงปลายโครงการ ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,316.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 473.27 ล้านบาท จากส่วนแบ่งกำไรเงินลงทุนใน บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และเปลี่ยนประเภทเงินลงทุนใน บมจ.ทีทีดับบลิว

อันดับที่ 3 บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ภายใต้ร่มเงาของ “ตระกูลชาญวีรกูล” มีรายได้รวม 14,967.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 3,858.12 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 611.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้นช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 13.58 ล้านบาท

อันดับที่ 4 บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น มีรายได้ 5,952.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 16.14 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 357.73 ล้านบาท ลดลง 1.91 ล้านบาท

อันดับที่ 5 บมจ.ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น มีรายได้รวม 4,000.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 679.3 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 133.67 ล้านบาท ลดลง 238.24 ล้านบาท

อันดับ 6 บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ มีรายได้รวม 3,897.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีแล้ว 240.36 ล้านบาท มีผลขาดทุนสุทธิ 203.47 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่กำไร 35.95 ล้านบาท เพราะมีต้นทุนงานก่อสร้างเพิ่มขึ้น ประกอบกับบริษัท มานะ พัฒนาการ จํากัด มีรายได้จากการโอนบ้านจัดสรรและห้องชุดในคอนโดมิเนียมให้แก่ลูกค้าลดลง

อันดับ 7 บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง มีรายได้ 3,528.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 240.36 ล้านบาท มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 97.28 ล้านบาท ลดลง 50.33 ล้านบาท

อันดับที่ 8 บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) มีรายได้ 3,311.32 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 108.05 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 17.81 ล้านบาท ดีขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งขาดทุน 108.18 ล้านบาท จากโครงการที่ได้รับและเข้าประมูลในปี 2562 มาจากการประมูลงานจากปี 2561 ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นต่ำมากจากสภาวะตลาดที่มีการแข่งขันกันสูง และพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ทำให้ต้องรับรู้ต้นทุนบริการในอดีตเป็นค่าใช้จ่าย 30.4 ล้านบาท

อันดับ 9 บมจ.พรีบิลท์ มีรายได้ 2,010.65 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 141.31 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 152.69 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 95.68 ล้านบาท เพราะภาวะเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศที่อยู่ในภาวะหดตัว จากสงครามการค้าของสหรัฐและจีน

ปิดท้ายที่อันดับ 10 บมจ.ซีฟโก้ มีรายได้ 1,633.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 516.23 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 221.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 76.03 ล้านบาท โดยมีสาเหตุจากการส่งมอบงานเป็นไปตามเป้าหมายและสามารถบริหารอุปสรรคในการทำงานได้ดี