“ศักดิ์สยาม” แจงสร้างเทอร์มินัลใหม่แก้สุวรรณภูมิล้น ยัน”ประยุทธ์”สร้างรถไฟฟ้าตามแผนแม่บท

“ศักดิ์สยาม” แจงรัฐบาลสร้าง North Expansion เพราะรองรับผู้โดยสารได้มากกว่าแผนเดิม ยันทำตาม Master Plan ย้ำรับฟังความเห็นทุกหน่วยงานแล้ว ส่วนการก่อสร้างรถไฟฟ้าเป็นไปตามแผน M-MAP แย้มได้นั่งรถเมล์ใหม่ ขสมก. 1 ต.ค.64

เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2563 ที่รัฐสภา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงกรณีนายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงโครงการอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion) สนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 42,000 ล้านบาท ว่าแผนแม่บทการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเดิมทำไว้เพื่อรองรับผู้โดยสารเพียง 45 ล้านคน/ปี ซึ่งขณะนี้สนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสารเดินทางกว่า 60 ล้านคน/ปี จึงจำเป็นต้องปรับปรุงแผนแม่บทเพิ่มเติมตามสภาพข้อเท็จจริง

@ผู้โดยสารสุวรรณภูมิล้น

เพราะถ้าไม่ปรับแผนในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารใหม่ จะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิไม่สามารถรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้ จึงได้เกิดโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีความเข้าใจผิดว่า เป็นการเอาเทอร์มินอล 2 มาสร้างทางทิศเหนือแทน ขอเรียนว่าไม่ใช่ ส่วนของเทอร์มินอล 2 กับ 3 คือโครงการขยายอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก (East wing & West wing) ซึ่งยังมีเหมือนเดิม

“แต่ที่ต้องทำอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือก่อน เพราะหากขยายอาคารผู้โดยสารเดิม จะต้องมีการปิดพื้นที่บางส่วน เพื่อดำเนินการก่อสร้าง จะมีผลต่อการรองรับจำนวนผู้โดยสารที่อาจจะลดลงอีก”

ส่วนคำถามที่ว่า เมื่อการเกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในเวลานั้น ได้เข้ามาทำอะไรกับโครงการนี้หรือไม่ ขอตอบว่า พลเอกประยุทธ์ได้เข้ามาดูแผนเดิมและพบว่า ไม่สามารถรองรับผู้โดยสารที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ได้ จึงให้มีการแก้ไขแผนดังกล่าวขึ้น โดยไม่ได้เข้ามาทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคแต่อย่างใด

@รอสภาพัฒน์ฯเคาะ

ขณะที่ขั้นตอนการรับฟังความเห็น ขอเรียนว่า คณะทำงานของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการได้รวบรวมความเห็นหน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งสมาคมสายการบิน สมาคมธุรกิจการบิน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการที่ปรึกษาท่าอากาศยาน (Airports Consultative Committee : ACC) เป็นต้น และได้ข้อสรุปแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พิจารณา

นายศักดิ์สยามกล่าวต่อว่า ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าโครงการนี้ใช้งบก่อสร้างสูงกว่าแผนในอดีตนั้น การขยาย East-Wesr Wing ใช้งบประมาณ 13,600 ล้านบาท จะได้พื้นที่เพิ่มเพียง 132,000 ตารางเมตร และรองรับผู้โดยสารได้เพียง 30 ล้านคน/ปี

@ได้พื้นที่เพิ่ม 169,700 ตารางเมตร

ขณะที่โครงการ North Expansion จะได้พื้นที่มากกว่าที่ 169,700 ตารางเมตร และได้พื้นที่เพิ่มมากว่านี้อีก ประกอบด้วย อาคารเทียบเครื่องบิน 125,000 ตารางเมตร อาคารสำนักงาน 53,000 ตารางเมตร นอกจากนี้จะได้หลุมจอดเพิ่มอีก 14 หลุมจอด อาคารจอดรถอีก 3,000 คัน มีถนนหน้าอาคารอีก 1,710 ตารางเมตร และจะมี APM วิ่งอีก 2 สาย

ส่วนวงเงินที่เสนอ ครม.ไม่ใช่ตัวเลข 42,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขที่อ้างว่าเป็นวงเงินของโครงการคือ 45,520.476 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่ใช้ในการคำนวณผลตอบแทนทางการเงินเท่านั้น คาดกันว่าหากโครงการผ่านการพิจารณาของสภาพัฒน์จะมีวงเงินที่ 41,261.364 ล้านบาทเท่านั้น

“การกำหนดพื้นที่แปลงที่ 37 เป็นพื้นที่พัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องนั้น มีกำหนดตั้งแต่แผนแม่บทฉบับปี 2536 แล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร”

@ไม่เกิดปัญหาจราจร

และที่กังวลว่าโครงการนี้จะมีผลต่อจราจรนอกสนามบินและต้องเพิ่มเงินก่อสร้างมอเตอร์เวย์และรถไฟความเร็วสูง โครงการมอเตอร์เวย์ที่จะผ่านสนามบินมีการศึกษามาตั้งแต่ปี 2551 ไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับการก่อสร้าง North Expansion

ส่วนรถไฟความเร็วสูง เดิมจะเชื่อมแค่สุวรรณภูมิ – ดอนเมือง แต่เมื่อเกิดนโยบายพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จึงต้องต่อเชื่อมไปที่สนามบินอู่ตะเภา เพราะมีความจำเป็น จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการเพิ่มงบประมาณทั้งสิ้น

@สร้างรถไฟฟ้าตาม M-MAP

นอกจากนี้ นายศักดิ์สยาม ยังตอบการอภิปรายของ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กรุงเทพ พรรคเพื่อไทย ที่ตั้งคำถามถึงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าว่า เป็นการปฏิบัติตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชน ทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-MAP 1)ที่ได้รับการอนุมัติจาก ครม.มาตั้งแต่ปี 2553

และเมื่อเกิดการรัฐประหารปี 2557 ก็ได้มีการเร่งรัดการก่อสร้างมาโดยตลอด ถ้าไม่ทำก็จะมีปัญหาจราจร PM2.5 และสูญเสียเรื่องพลังงาน ซึ่งคาดว่าภายในปี 2569 จะเปิดบริการได้ จากปัจจุบันเปิดแล้ว 4 สาย คือ สายสีเขียว (เคหะฯ – หมอชิต/สนามกีฬา – บางหว้า) สายสีน้ำเงิน (บางซื่อ – หัวลำโพง/หัวลำโพง – บางแค) แอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ และสายสีม่วง (คลองบางไผ่ – เตาปูน)

โดยมีสายรถไฟฟ้าที่กำลังเร่งรัดอยู่ 6 เส้นทาง 1.สายสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 2.สายสีแดงอ่อน บางซื่อ – หัวหมาก/ตลิ่งชัน – ศาลายา/ตลิ่งชัน – ศิริราช 3.สายสีแดงเข้ม รังสิต – ธรรมศาสตร์ 4.สายสีส้มตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรม – บางขุนนนท์ 5.สายสีน้ำเงิน บางแค – พุทธมณฑล 4 และ 6.สายสีเขียวเข้ม สมุทรปราการ – บางปู/คูคต-ลำลูกกา

โดยพลเอกประยุทธ์ให้ใช้รูปแบบลงทุน PPP แต่ต้องคิดถึงประชาชน รัฐ และเอกชน ซึ่งการทำ PPP จะทำให้รัฐไม่ต้องกู้เงิน ไม่เป็นภาระงบประมาณ

@ยันได้เห้นรถเมล์ใหม่ 1 ต.ค.64

ทั้งนี้ ขอพูดถึง ขสมก.เพราะได้ปรับปรุงแผนปฏิรูปเรียบร้อยแล้ว จะไม่มีการวิ่งทับซ้อน จะวิ่งใน 3 รูปแบบ คือ 1.Liner 2.Feeder 3.Circle คาดว่าจะลดจำนวนรถที่ให้บริการจาก 6,000 คัน เหลือ 3,000 คัน โดยรถที่จะเข้ามาดำเนินการจะใช้รถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงาน EV และ NGV ซึ่งจะใช้วิธีจ้างเช่าเหมาตามระยะทาง ไม่เป็นภาระต่องบประมาณ ส่วนค่าโดยสารจะไม่เกิน 30 บาท/วัน/ทุกเที่ยว/ทุกสาย คาดว่าจะได้เริ่มเห็นรถใหม่ในวันที่ 1 ต.ค.2564 และทั้งโครงการจะดำเนินการเสร็จสิ้น 1 ต.ค.2565