ยังไม่ประกาศ เพิ่ม 10 ประเทศเสี่ยง กพท.ให้เว้นระยะห่างที่นั่ง-มีใบประกันภัย เช็กประวัติ 14 วัน

กพท.ออกมาตรการคุมโควิด-19 เพิ่มเว้นระยะห่างที่นั่ง-ตรวจสอบประวัติ 14 วัน-ประกันภัย “ปัดประกาศพื้นที่เสี่ยงเพิ่ม 10 ประเทศ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563  สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ออก “ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศเกี่ยวกับการให้บริการจากท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดต่อโรคติดต่ออันตรายกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) และพื้นที่มีการระบาดต่อเนื่อง”

สาระสำคัญของประกาศดังกล่าวคือ หลังจากกระทรวงสาธารณสุขประกาศ พื้นที่ที่เป็นเขตติดต่อของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบด้วย 6 พื้นที่ ประกอบด้วย ประเทศจีน เกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และเขตปกครองพิเศษมาเก๊า แต่ในปัจจุบันพบว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้กระจายไปในประเทศต่างๆ มากขึ้น กพท.จึงออกแนวปฏิบัติเพิ่มเติม 11 ข้อ ดังนี้

1.ผู้โดยสารที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด 6 แห่งดังกล่าวในระยะ 14 วันที่ผ่านมา ก่อนเดินทางกลับประเทศไทย ต้องได้รับการกักตัว (Quarantine) และให้อยู่ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมตามที่รัฐบาลไทยกำหนด

2.กรณีที่ผู้โดยสารกำลัง Check-in เพื่อขึ้นเครื่องบินเดินทางกลับประเทศ ให้สายการบินต่างๆ

Advertisment
  • ตรวจประวัติผู้โดยสารว่าในช่วง 14 วันก่อนเดินทางมายังประเทศไทย มีการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงหรือไม่
  • ตรวจใบรับรองแพทย์ (Health Certificate) ที่ออกให้โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง (3 วัน) ที่ยืนยันว่า ไม่มีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19
  • ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยที่คุ้มครองการรักษาพยาบาลในไทย ที่ครอบคลุมถึงเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3,239,500 บาท)

3.กรณีที่เป็นผู้โดยสารสัญชาติไทยเดินทางเข้าประเทศ ให้สายการบินต่างๆ ตรวจสอบว่ามีใบรับรองแพทย์ และหนังสือเดินทาง (Passport) ที่ออกโดยสถานเอกอัครราชทูตไทย สถานกงสุลใหญ่ หรือกระทรวงการต่างประเทศออกให้

4.หากพบว่าผู้โดยสารมีประวัติเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง และไม่สามารถแสดงหลักฐานดังกล่าวข้างต้นหรือแสดงแล้วแต่ไม่สมบูรณ์ ให้สายการบินต่างๆ งดออกบัตรขึ้นเครื่อง (Boarding Pass)

5.ผู้โดยสารที่ขึ้นเครื่องแล้ว จะต้องกรอกแบบฟอร์ม ต.8 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 และยื่นต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่สนามบินปลายทาง หรือจะกรอกข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่น “AOT Airport of Thailand”

6.สายการบินต่างๆ ต้องจัดให้ผู้โดยสารนั่งมีระยะห่างกันมากที่สุดเท่าที่ทำได้ และจัดห้องโดยสารต่างหากสำหรับผู้ที่อาการไข้ ไอ หรือเจ็บป่วยตามความจำเป็น รวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกคนบนเครื่องต้องใส่หน้ากากอนามัย อาจจะพิจารณาลดการให้บริการบนเครื่องบินด้วย และต้องแจ้งให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง

Advertisment

7.เมื่อถึงประเทศไทยแล้ว สายการบินต่างๆ จะต้องทำความสะอาดเครื่องบินทันที

8.เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อมีอำนาจสั่งห้ามไม่ให้ผู้ใดเข้าออกเครื่องบินที่ยังไม่ได้รับการตรวจจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ รวมถึงห้ามนำยานพาหนะอื่นๆ มาจอดเทียบเครื่องบิน จนกว่าจะได้รับอนุญาต และสามารถออกคำสั่งให้สายการบินกำจัดเชื้อโรค ให้จอดเครื่องบิน ณ จุดใดจุดหนึ่งจนได้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศจะอนุญาตให้ไปได้ และให้ผู้โดยสารที่เดินทางมารับการตรวจในทางแพทย์ และอาจให้แยกกัก หรือกักไว้สังเกตการณ์

9.ในกรณีพบผู้ฝ่าฝืนมาตรการข้างต้น สายการบินจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในขนส่งผู้โดยสารที่มากับเครื่องบิน เพื่อทำการกักตัว ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู รักษาพยาบาล การป้องกันและควบคุมตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558

10.สายการบินต่างๆต้องปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคติดต่อันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 อย่างเคร่งครัด

11.สายการบินต่างๆ ต้องแจ้งแนวปฏิบัติดังกล่าว ให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานีต้นทางและเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องบินทราบและถือปฏิบัติ และให้เจ้าหน้าที่ประจำเครื่องบินประกาศเพิ่มเติมบนเครื่องบินให้ผู้โดยสารรับทราบด้วย

ทั้งนี้ ประกาศฉบับนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.นี้ เวลา 00.00 น. ของประเทศไทย เป็นต้นไป

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ข่าวลือที่จะประกาศพื้นที่เสี่ยงระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มเติมอีก 10 ประเทศขอยืนยันว่า ไม่มีการประกาสดังกล่าว เพราะการประกาศพื้นที่เพิ่มเติมเป็นอำนาจของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งประกาศฉบับนี้ เป็นการอุดช่องว่างมาตรการเดิมที่เคยประกาศเท่านั้น และได้ประสานงานสายการบิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว