ทุ่มพันล้าน “ขยายถนน 4 เลน” บูมท่องเที่ยวแพร่-น่าน

กลางหุบเขา - กรมทางหลวงเตรียมขยาย 4 เลน ถนนสาย 101 ให้ครบตลอดสายล่าสุดเตรียมลงพื้นที่สร้างช่วงร้องกวาง-น่าน หลังได้รับผ่อนผันให้ใช้พื้นที่ลุ่มน้ำ 1 เอมาก่อสร้างโครงการได้ ตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ

ครม.ผ่อนผันพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ให้กรมทางหลวงขยาย 4 เลน ถนน 101 ช่วง อ.ร้องกวาง-น่าน ระยะทาง 16 กม.เศษ วงเงินกว่า 1 พันล้าน เตรียมเสนออนุมัติผู้รับเหมาก่อสร้าง เสร็จปี”65 เชื่อมการเดินทางภาคเหนือ การค้า 4 ประเทศ ไทย-ลาว-เวียดนาม-จีน

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 เม.ย. 2563 อนุมัติผ่อนผันมติ ครม.วันที่ 21 ต.ค. 2529 การใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ลุ่มน้ำยมและน่าน ดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 101 สาย อ.ร้องกวาง-น่าน ตอนบ้านห้วยแก๊ต-บ้านห้วยน้ำอุ่น พื้นที่ จ.แพร่และน่าน ตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ อนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)

เนื่องจากโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสายทางของโครงการเร่งรัดขยายทางสายประธานให้เป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) เพื่อเป็นโครงข่ายถนนสายหลักในพื้นที่ภาคเหนือ ตั้งแต่ จ.กำแพงเพชร สุโขทัย แพร่ และน่าน ตามโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 101 หรือโครงการก่อสร้างทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ (ไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม-จีน) ตามแนวทางหลวงอาเซียนหมายเลข 13 (AH 13)

“ถนนสายนี้เป็นเส้นทางหลักเชื่อมการเดินทางจังหวัดแพร่และน่าน ปัจจุบันมีปริมาณรถบรรทุกที่ใช้เส้นทางไปยังด่านห้วยโก๋นของลาวเพิ่มมากขึ้น และช่วงเทศกาลท่องเที่ยวจะมีการจราจรหนาแน่น ซึ่ง จ.น่านเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติขุนเขา แม่จริม ดอยภูคา เป็นต้น”

ปัจจุบันถนนบางช่วงเป็น 2 ช่องจราจร สภาพเส้นทางเป็นเขาคดเคี้ยว เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้เป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องทางจราจร มีจุดเริ่มต้นโครงการจาก อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ที่ กม.183+750 และสิ้นสุดที่ อ.เวียงสา จ.น่าน ที่ กม.199+900 ระยะทางรวม 16.150 กม. ใช้งบฯก่อสร้าง 1,093 ล้านบาท

Advertisment

โดยสำนักงบประมาณจัดสรรงบฯปี 2562 จำนวน 220 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 873.9 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563-2565 ต่อไป ขณะนี้กรมเปิดประมูลได้ผู้รับเหมาก่อสร้างแล้ว รอการอนุมัติจาก ครม.เนื่องจากเป็นโครงการเกิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการมีอัตราผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ (EIRR) 15.37%

ตัดผ่านแหล่งน้ำธรรมชาติสำคัญ

การที่โครงการต้องทำ EIA เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันและเป็นที่ราบสลับเนินเขา สภาพพื้นที่ 2 ข้างทางเป็นป่า ป่าละเมาะ สวนไม้สัก และไร่ข้าวโพด มีพื้นที่ชุมชนอยู่ตามแนว 2 ข้างทางในบางส่วน

แนวโครงการตัดผ่านแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ ห้วยแม่คำมี ห้วยแม่สาคร และห้วยน้ำอุ่น ผ่านพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำสา และป่าแม่สาครฝั่งซ้าย

อีกทั้งตัดผ่านพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ จำนวน 2 จุด รวมระยะทาง 400 เมตร ได้แก่ เริ่มต้นที่ กม.199+700 ถึง กม.199+900 ระยะทาง 200 เมตร และจุดเริ่มต้นที่ กม.200+200 ถึง กม.200+400 ระยะทาง 200 เมตร

Advertisment

โดยบอร์ดสิ่งแวดล้อมได้มีความเห็นเรื่องการออกแบบท่อลอดและทางระบายน้ำสำหรับสัตว์ป่าขนาดเล็กที่อาศัยและหากินตามพื้นดิน โดยเฉพาะสัตว์เลื้อยคลาน ควรมีการปรับขนาดและรูปแบบให้เหมาะสมกับสัตว์ที่สำรวจพบในพื้นที่โครงการและความเหมาะสมในการใช้งาน และควรดำเนินการมาตรการติดตามและตรวจสอบผลกระทบอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องสัตว์ในระบบนิเวศควรมีการสำรวจและติดตามอย่างต่อเนื่องและชัดเจนมากกว่าปีละครั้ง เนื่องจากจะมีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาและแต่ละฤดูกาล

“กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ จึงดำเนินการขอผ่อนผันมติ ครม.ที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะมาตรการการใช้ที่ดินในเขตลุ่มน้ำที่ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการควบคุมการชะล้างพังทลายของดิน การบำรุงรักษาป่าธรรมชาติ การปลูกป่าทดแทน และการป้องกันการบุกรุกป่าจากการดำเนินโครงการ ทั้งในระยะก่อสร้างและระยะเปิดดำเนินการ” แหล่งข่าวกล่าว