สัญญาณไฟกระพริบเสียเหตุรถไฟชนรถทัวร์ คมนาคม สั่งติดเครื่องกั้นอัตโนมัติ

สัญญาณไฟเสียทำเกิดเหตุสลด “คมนาคม” ล้อมคอกสั่ง “รถไฟ” สำรวจพื้นที่-ความเสียหาย 7 วัน ก่อนสั่งติดเครื่องกั้นอัตโนมัติ วงเงิน 4-5 ล้านบาท อุบไทม์ไลน์ขอหารือก่อน ด้าน “กรมราง” ชงงบกองทุน กปถ. 29.5 ล้าน ศึกษาจุดตัดรถไฟทั่วประเทศ 2,684 จุด เน้น 35 จุดเกิดเหตุถี่ อีก 2 ปีได้รูปแบบชัดเจน

เมื่อเวลา 15.00 วันที่ 12 ต.ค. 2563 ที่กระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคมด้านภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง เปิดเผยว่า กรณีอุบัติเหตุขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าคอนเทนเนอร์จากสถานีแหลมฉบัง – สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ICD) ลาดกระบัง ชนกับรถบัสโดยสารเลขทะเบียน 30-1476 พระนครศรีอยุธยา ณ บริเวณป้ายหยุดรถคลองแขวนกลั่น อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา

“รถไฟ” ดูแลทั้งเจ็บ-ตาย

ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตรวม 19 ราย แบ่งเป็นเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 18 ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีก 1 ราย , มีผู้บาดเจ็บรวม 44 ราย กลับบ้านได้แล้ว 31 ราย ที่เหลือรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา

โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะเป็นผู้ดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งการรักษาพยาบาลสำหรับผู้บาดเจ็บและค่าทำศพสำหรับญาติผู้เสียชีวิตทั้งหมด และได้ก่อตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบเหตุเฉพาะกิจในรูปแบบ One Stop Service ตลอด 24 ชม.แล้ว โดยสามารถติดต่อประสานงานได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-272-5068 ตลอด 24 ชม.

ส่วนการตรวจสอบความเสียหาย เบื้องต้นพบว่าในส่วนของรถไฟ หัวรถจักรได้รับความเสียหายกระจกแตกร้าว ด้านข้างรถมีรอย และตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ได้รับความเสียหาย 5 ตู้แบ่งเป็น ฉีกขาด 1 ตู้ และบุบอีก 4 ตู้

โดยร.ฟ.ท.ยังไม่มีความประสงค์จะแจ้งความเอาผิดแต่อย่างใด ตอนนี้ขอช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตก่อน ส่วนรถบัสเบื้องต้นพบว่าภาษีทะเบียนสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา อยู่ระหว่างทำเรื่องโอนรถ

ไฟเสียเป็นเหตุ-สั่งล้อมคอก

“ช่วงเช้าได้ประชุมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นแล้ว ทาง ร.ฟ.ท.จะเร่งปรับปรุงสัญญาณไฟเตือนและป้ายเตือนก่อน เนื่องจากมีรายงานว่าไฟเตือนแบบกะพริบในบริเวณดังกล่าวชำรุด อาจทำให้ผู้ขับขี่ไม่ทราบว่าจุดดังกล่าวเป็นจุดตัดทางรถไฟ โดย ร.ฟ.ท.ขอเวลา 7 วันในสำรวจความเสียหายและดำเนินการติดตั้งป้ายเตือน สัญญาไฟกะพริบให้ครบถ้วน “

ส่วนการติดตั้งเครื่องกั้นทางรถไฟ เนื่องจากจุดเกิดเหตุเป็นจุดลักผ่านที่ทำขึ้นโดยไม่ได้ขออนุญาตจากร.ฟ.ท. เป็นการทำกันเองของหน่วยงานส่วนท้องถิ่น แต่เพื่อแก้ไขปัญหาก็จะให้ ร.ฟ.ท. จัดทำเครื่องกั้นแบบอัตโนมัติขึ้น โดยต้องเสนอผ่าน “คณะอนุกรรมการกลั่นกรองอนุญาตและแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนระดับจังหวัด” มีผู้ว่าราชการหรือรองผู้ว่าราชการที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน

เทงบ 4-5 ล้านแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

จากนั้น เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วจึงจะเสนอ “คณะกรรมการร่วมพิจารณาการขออนุญาตและการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนน“ ที่มีตนเองเป็นประธานพิจารณา โดยคาดการณ์วงเงินที่จะดำเนินการประมาณ 4-5 ล้านบาท

ซึ่งงบประมาณจะเบิกใช้จากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นผู้ดูแล คาดว่าจะเร่งรัดการดำเนินการให้เร็วที่สุด ส่วนจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีนี้หรือไม่ ยังอยู่ระหว่างวางกรอบเวลากัน

สั่งตรวจสอบจุดตัดทั่วประเทศ

ส่วนการดำเนินการแก้ไขปัญหาในระยะยาว นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการในที่ประชุมหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมแล้ว ให้ ร.ฟ.ท.สำรวจตรวจสอบจุดตัดรถไฟทั่วประเทศ 2,684 จุด ทั้งแบบที่เคยอนุญาตไปแล้ว และที่ยังไม่ได้รับอนุญาต

โดยแบบที่อนุญาตแล้วให้สำรวจว่ามีความเสียหายอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ ส่วนจุดที่ยังไม่ได้ขออนุญาต ให้สำรวจว่าจุดใดจำเป็นต้องทำเครื่องกั้นหรือติดป้ายไฟ สัญญาณไฟ หรือจุดใดไม่จำเป็นต้องปิดทางก็ให้สำรวจรวบรวมมา โดยให้ร่วมกับกรมการขนส่งทางราง (ขร.)

เร่งแก้ 35 จุดเกิดเหตุบ่อย

อย่างไรก็ตาม ในระยะเร่งด่วนจะต้องแก้ไขจุดตัดรถไฟที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนก่อน โดยจากการสำรวจมีทั้งสิ้น 35 จุด (รวมจุดที่เกิดอุบัติแล้ว) มีการติดตั้งเครื่องกั้นแล้ว 9 จุด เป็นทางลักผ่าน 9 จุด

ส่วนที่เหลือยังรอข้อมูลที่ชัดเจนจาก ร.ฟ.ท. ซึ่งกรมการขนส่งทางราง จะทำการศึกษาออกแบบและจัดทำฐานข้อมูล (Data Base) เพื่อแก้ปัญหานี้ คาดว่าจะใช้เวลาศึกษา 2 ปี วงเงิน 29.5 ล้านบาท

โดยแหล่งเงินทุนมาจากกองทุน กปถ. ความคืบหน้าอยู่ระหว่างการหาตัวผู้รับจ้าง คาดว่าจะศึกษาเสร็จภายในต้นปี 2565 ซึ่งสิ่งที่จะได้จากการศึกษาจะได้แบบก่อสร้างของทั้ง 35 จุดเลยว่า ควรก่อสร้างเป็นอะไร เช่น สะพานข้าม, อุโมงค์ หรือถนนชุมชนเลียบทางรถไฟ (Local Road)