ตามไปดูห้องแล็บที่ ม.เกษตรฯ “โครงการศึกษาพืชพันธุ์ประกอบอาคาร”

เจาะลึกรายละเอียดครั้งแรกในประเทศไทยของศูนย์ research “Green Taskforce” หรือ “โครงการศึกษาพืชพันธุ์ประกอบอาคาร”

“ประชาชาติธุรกิจ” ถ่ายทอดบทสัมภาษณ์พิเศษ “รศ.ดร.พัชรียา บุญกอแก้ว” หัวหน้าโครงการ คณะเกษตร และ “ดร.กันติทัต ทับสุวรรณ” หัวหน้าโครงการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ถึงที่มาที่ไปของโครงการ

Q : คณะเกษตรมีส่วนร่วมยังไง

“รศ.ดร.พัชรียา” – บริษัทอนันดาฯ มีความมุ่งมั่นและให้ความสนใจศึกษาพืชแต่ละชนิดจะนำมาใช้ในการเป็นพืชผนังสีเขียวหรือ green wall ได้หรือไม่ มีพืชที่ใช้ในการวิจัย 47 ชนิด เช่น green wall ทั้งแบบเลื้อยขึ้นและเลื้อยลง ฯลฯ

โดยบุคลากรหลัก ๆ มาจากภาควิชาพืชสวนของคณะเกษตร ทั้งอาจารย์ นิสิตปริญญาเอก ปริญญาโท และระดับปริญญาตรี รวมถึงอาจารย์ทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

เราเพิ่งทำเฟสที่ 1 เสร็จไป เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2563 มีข้อมูลประกอบด้วยความต้องการในการใช้น้ำของพืช รวมทั้งพืชแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากน้อยแค่ไหน และปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมาอย่างไร

และในด้านความทนต่อแรงลม เพราะอนันดาฯมีอาคารที่เป็นตึกสูงซึ่งมีปัญหาแรงลมที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชด้วย ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ได้เก็บข้อมูลในส่วนนี้ไป

Q : ประโยชน์จากงานวิจัยนี้

ทางอนันดาฯให้โจทย์มา เรามองความสำคัญว่าสภาพแวดล้อมทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างเยอะมาก ในการที่เรามีอาคารเกิดขึ้นมา ถ้าเราได้ใช้พืชให้ถูกต้อง ทราบความต้องการของพืชว่าต้องการแสงอย่างไร ต้องการน้ำอย่างไร พืชแต่ละชนิดทนแรงลมแบบไหน ตรงส่วนนี้ก็จะช่วยสิ่งแวดล้อม

ถ้าเราปลูกพืชโดยไม่ทราบความต้องการ พืชที่เราปลูกไปก็อาจจะตายได้ เกิดการเปล่าประโยชน์ขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น งานวิจัยชิ้นนี้ก็จะทำให้ทราบถึงการใช้พืชอย่างเหมาะสม รวมทั้งนิสิต นักศึกษาได้มีโอกาสเข้ามาช่วยในงานวิจัยชิ้นนี้ และได้เรียนรู้ สร้างผลงานออกมาด้วย

รวมทั้งการเป็นจุดเริ่มของการใช้พืช เพื่อมาช่วยลดมลพิษทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฝุ่น ที่ทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้วิจัยเรื่องนี้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการใช้พืช เพื่อช่วยลดสาร VOC หรือสารอินทรีย์ระเหยง่ายในอาคาร ซึ่งสารเหล่านี้มักจะติดมากับเฟอร์นิเจอร์หรือสี ซึ่งในการสร้างตึกต่าง ๆ ก็จะมีพวกสีที่ใช้ในอาคารหรือเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ตกแต่งในอาคารด้วย ก็สามารถที่จะเลือกใช้พืชที่ช่วยลด VOC ได้ด้วย

โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ โดยเฉพาะในเขตเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร พื้นที่ก็ลดน้อยลง มีอาคารเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากตามความต้องการที่อยู่อาศัย เพราะฉะนั้น การที่เราสามารถที่จะใช้พืชในการประกอบอาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลักษณะของแนวตั้ง จะช่วยสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นได้ ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ สภาพแวดล้อมของเราก็จะน่าอยู่

อาจารย์ทำงานวิจัยที่เกี่ยวกับทางด้านพืชนี้มาหลายโครงการด้วยกัน งานนี้เป็นงานแรกที่ได้ร่วมงานกับอนันดาฯ ในกลุ่มของอสังหาริมทรัพย์ที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับการใช้พืชในการประกอบอาคาร

Q : ภาพรวมการทำงาน CBIT

“ดร.กันติทัต” – สำหรับ CBIT (Center of Building Innovation and Technology) มีบริการและสนับสนุนหน่วยงานภายในและภายนอก มีห้องปฏิบัติการทดสอบวัสดุที่เกี่ยวกับอาคาร เช่น กระเบื้อง อิฐบล็อก เครื่องมือวัดอุณหภูมิ การวัดสารระเหยหรือ volatile organic compounds (VOC) PM 2.5

เราก็คาดหวังว่าผู้พัฒนาโครงการจะเห็นประโยชน์ของพืชมากขึ้น ไม่ใช่แค่คิดว่ามีค่าดำเนินการเยอะ มีแมลงหรือมีผลเสีย แต่ว่าพืชมีประโยชน์มากกว่านั้น ทั้งในเชิงเพิ่มคุณภาพอากาศ หรือภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นตอนนี้

Q : ในอนาคตจะพัฒนาเป็นหลักสูตร

งานวิจัยโครงการนี้จะนำไปต่อยอดเป็นตำราการสอน และทางคณะสถาปัตยกรรมและคณะเกษตรจะจัดทำคู่มือที่สามารถศึกษาได้ง่าย ๆ ให้กับผู้พัฒนาโครงการ สถาปนิก และวิศวกรได้เอาไปเลือกใช้

ซึ่งการศึกษาวิจัยต้องทำที่ห้องแล็บก่อน เพราะพืชพันธุ์แต่ละชนิดมีความต้องการปัจจัยพื้นฐานที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตแตกต่างกัน โดยเฉพาะปัจจัยแสง ความต้องการน้ำ

เมื่อทราบถึงปัจจัยพื้นฐานที่เหมาะสมจะช่วยในการลดต้นทุนที่เกิดขึ้น ในการทดลองการเกษตรแม่นยำมีความจำเป็น ถ้าปลูกพืชโดยไม่ทราบความต้องการของพืชก็จะทำให้สูญเสียงบประมาณในการปฏิบัติดูแล ต้องคอยตามแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ผลจากการวิจัยเมื่อนำพืชไปใช้งานจริง พืชมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ต้องคอยดูแลตัดแต่งกิ่งที่แห้งหรือกิ่งที่เป็นโรคแมลงที่มาทำลายต้นไม้ออกไป คอยเติมปุ๋ยหรือธาตุอาหารที่เหมาะสมทำให้ต้นไม้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

Q : แบ่งการวิจัยอย่างไรบ้าง

ในเชิงสถาปัตยกรรมการใช้พืชรอบอาคารคำนึงถึงความสวยงามของพืชเป็นอันดับแรก และดู performance ของพืชตามมาว่าจะสามารถช่วยลดคุณภาพอากาศที่เสีย ๆ ได้หรือไม่ ลดอุณหภูมิที่เข้าสู่อาคารได้อย่างไร คำนึงถึงในเชิงสถาปัตยกรรมและฟิสิกส์ในอาคารเป็นหลัก

แต่เราจะเริ่มทำไม่ได้ถ้าไม่รู้สิ่งที่จำเป็นของพืช หรือสิ่งที่พืชต้องการ เราจะทำให้พืชอยู่รอดยังไง เราจึงขอความร่วมมือกับคณะเกษตรในการศึกษาพืช สิ่งที่สำคัญมากคือการที่พืชเจริญเติบโตได้ต้องใช้ปัจจัยพื้นฐานในเรื่องความต้องการน้ำ ซึ่งเรียกว่า ประสิทธิภาพการใช้น้ำของพืช หรือปริมาณการใช้น้ำของพืชแต่ละชนิดจะแตกต่างกันออกไป

โครงการนี้มีพืชถึง 47 ชนิด ความต้องการก็แตกต่างกัน สำคัญมากที่สุดคือการใช้งานในอาคาร ปัจจัยที่จะทำให้พืชอยู่รอดหรือไม่ มีประสิทธิภาพตามที่ต้องการหรือไม่ สามารถช่วยดูดซับสารระเหยหรือ (VOC) ได้ดีไหม สังเคราะห์แสงหรือดูดซับ CO2 ได้ดีไหม

ปัจจัยสำคัญยังมีเรื่องแสง ถ้าแสงไม่เหมาะสมพืชก็จะเจริญเติบโตไม่ได้และอาจตายในที่สุด จึงเป็นความร่วมมือของคณะสถาปัตยกรรมและคณะเกษตร เมื่อได้ข้อมูลตั้งต้นทั้งค่าแสง ค่าน้ำที่พืชต้องการ ก็นำไปวิจัยที่ไซต์จริง

ถ้าเรารับรู้ข้อมูลการบริหารแสง บริหารน้ำ ทรัพยากรในอาคารก็จะยั่งยืน มีประสิทธิภาพ ประหยัดค่าบำรุงรักษาที่ทางอาคารจะต้องแบกรับ ทำให้วิน-วิน-วิน

ผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้ประกอบการได้ตอบแทนสังคม และชุมชนได้ปอดของเมืองเพิ่มขึ้น