ต้านย้าย “หมอชิต” กลับที่เดิม “ชุมชนวิภาวดีซอย5″หวั่นเวนคืนระนาว

ลานจอดรถหมอชิตเดิม

ตัวแทนชุมชนหลังสถานีขนส่งหมอชิตเก่ายื่นหนังสือร้องกระทรวงคมนาคม คัดค้านเวนคืนสร้างทางยกระดับเชื่อมวิภาวดีฯ-โทลเวย์  เชื่อหวังย้ายหมอชิตกลับมาที่เดิม เตรียมร้องศาลปกครองเพิกถอนพ.ร.ฎ.เวนคืนในท้องที่แขวงจอมพลฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2563 นางสาววินินท์อร ปรีชาพินิจกุล ผู้แทนชุมชนหลังสถานีขนส่งหมอชิตเก่า ยื่นหนังสือต่อ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คัดค้าน พ.ร.ฎ.เวนคืนในท้องที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 2563 สร้างทางยกระดับรองรับการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯปัจจุบันกลับมายังที่เดิม เป็นที่ดินกรมธนารักษ์ให้เอกชนพัฒนาโครงการ เนื่องจากมองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องย้ายสถานีขนส่งกลับมาเพราะจะเกิดความแออัดมากกว่าเดิม และการออก พ.ร.ฎ.ยังมีแนวโน้มเอื้อประโยชน์ให้เอกชน หลังจากนี้จะไปยื่นกรมธนารักษ์ และยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอน พ.ร.ฎ.เวนคืน

วิรัช พิมพะนิตย์
วิรัช พิมพะนิตย์

นายวิรัชกล่าวว่า ยังไม่มีแนวคิดย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 กลับที่เดิม เพราะการเดินทางสะดวกเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ รอบสถานีกลางบางซื่อได้ ขณะนี้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จะขยายสัญญาเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และจะหารือสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) บขส. กรมธนารักษ์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และตัวแทนชุมชน หาข้อสรุปร่วมกัน

แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวว่า ได้ต่ออายุ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินแขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 2563 อีก 4 ปี นับจากวันที่ 21 ส.ค. 2563 เพื่อสร้างทางยกระดับเชื่อมสถานีขนส่งหมอชิตกับอาคารจอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้ากับถนนวิภาวดีรังสิต โดยจะสร้างทางยกระดับคร่อมถนนวิภาวดีฯซอย 5 เชื่อมจากสถานีขนส่งหมอชิตเดิมกับโทลล์เวย์ และขยายถนนเดิมด่านล่างเป็น 4 ช่องจราจร

จะเวนคืนระยะทาง 530 เมตร จากพหลโยธิน18/1 มีแนวกว้าง 100 เมตร ครอบคลุมไปถึงคอนโดมิเนียมและสำนักงานของบีทีเอส ตรงปากซอยด้วย แต่เวนคืนจริงอาจจะใช้เขตทางไม่ถึง ซึ่งจะเป็นการขยายซอยจากเดิม 2 ช่อง เป็น 4 ช่องจราจร ไปทะลุถนนวิภาวดีรังสิตซอย 5 (ซอยยาสูบ 1) ใกล้กับอาคารหิรัญกุล และอาคารแสงโสม มีแนวเวนคืนกว้างที่สุด 300 เมตร

“กทม.จะเข้าสำรวจพื้นที่จริงอีกครั้ง จากเดิมมีที่ดิน 35 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 21 หลัง มีค่าเวนคืน 300 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง 1,650 ล้านบาท น่าจะเพิ่มขึ้นทั้งค่าก่อสร้างและเวนคืน เพราะต้องรีวิวใหม่หมด โดยค่าเวนคืนน่าจะเกิน 500 ล้านบาท ซึ่งได้ของบประมาณปี 2565 จากรัฐบาลแล้ว”

แหล่งข่าวจากกรมธนารักษ์กล่าวว่า ที่ดิน 63 ไร่หมอชิตเดิม มี บจ.บางกอกเทอร์มินอล (BKT) ลงทุนโครงการ ระยะเวลา 30 ปี วงเงิน 26,916 ล้านบาท จะเป็นศูนย์กลางคมนาคมและคอมเพล็กซ์ใหญ่ มีอาคารสูง 36 ชั้น และ 32 ชั้น มีใต้ดิน 4 ชั้น พื้นที่ใช้สอยรวม 810,000 ตร.ม. ประกอบด้วย อาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย โรงแรม ศูนย์การค้า อาคารจอดรถ ศูนย์ประชุม และสถานีขนส่ง บขส. 112,000 ตร.ม.

และจะสร้างทางเชื่อมต่อการเดินทางรอบทิศ 3 โครงการ 1.ทางยกระดับบน ถ.พหลโยธินฝั่งขาออก รับรถมุ่งหน้าไปยังห้าแยกลาดพร้าว 2.ทางเชื่อมยกระดับด้าน ถ.พหลโยธิน ฝั่งมุ่งหน้าสะพานควาย เป็นทางยกระดับเชื่อมกับโครงการสะพานเกียกกาย และ 3.ทางเชื่อมยกระดับด้าน ถ.วิภาวดีรังสิต และดอนเมืองโทลล์เวย์ เชื่อมเข้าสถานีขนส่ง รับรถโดยสารและรถยนต์ที่ใช้โทลล์เวย์ ขณะนี้อยู่ระหว่างทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จะเริ่มสร้างปี 2564-2568

ต้านย้ายหมอชิต