5 โซลูชั่น “S-E-N-S-E” โมเดลคิดใหม่ City of the Future

รติวัฒน์ สุวรรณไตรย์

โควิดระลอกใหม่ เป็นได้ทั้งวิกฤตและโอกาส

ไม่พูดมาก เจ็บคอ “รติวัฒน์ สุวรรณไตรย์” ซีอีโอกลุ่มบริษัทสถาปนิกโอเพนบอกซ์ ชวนเปิดไอเดียสถานการณ์โควิด-19 เพียงแค่มองต่างมุมก็จะพบว่าเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่สมดุลของเมืองสอดรับกับความปกติวิถีใหม่ (new normal)

นำเสนอแนวคิด S-E-N-S-E รวม 5 โซลูชั่นสู่การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เชื่อมต่อสู่ “city of the future เมืองแห่งอนาคต” เพื่อให้ผู้คนสามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขในรูปแบบใหม่ ตอบโจทย์ทั้งการอยู่อาศัยและด้านเศรษฐกิจ

เพราะตระหนักดีว่าการวางผังเมืองและการออกแบบมีบทบาทและความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนา เสริมสร้างศักยภาพเมืองไปสู่ความยั่งยืน

โดยเมืองแห่งอนาคตคือเมืองที่มีความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบด้านต่าง ๆ รวมเข้ามาประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด (space efficiency), บริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (energy sharing), ให้ความสำคัญกับธรรมชาติและพื้นที่สีเขียว (nature & green), ออกแบบสถาปัตยกรรมตอบโจทย์การใช้งานหลากหลาย (synchronization) และคิดค้นนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัย (exploration of living innovation)

“แนวคิด S-E-N-S-E ที่รวม 5 โซลูชั่นสำหรับ city of the future เป็นเหมือน DNA การออกแบบของโอเพนบอกซ์ เช่น แนวคิดการขายสมัยใหม่สนใจที่จะมีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น ซึ่งกฎของการเปิดพื้นที่สีเขียวให้กับอาคารสูงเป็นสิ่งที่ดีมาก ช่วยจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปัจจุบันสังคมให้ความสนใจพลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ เราจึงได้เห็นการติดตั้ง solar panel รวมทั้งมีการใช้เทคโนโลยี energy blockchain ทำให้เกิดการแชร์พลังงานระหว่างตึกที่เรียกว่า energy sharing เป็นต้น”

Advertisment

ซีอีโอโอเพนบอกซ์ระบุด้วยว่า วินาทีนี้สิ่งที่ตลาดให้ความสนใจและเป็นจุดขายในสังคมเพราะดีต่อโลกและดีต่อเมืองยังคงเป็นหลักการ 3 zero) 1. zero waste ใช้วัสดุที่ไม่มีเศษเหลือเลย ตั้งแต่ไลน์ผลิตวัตถุดิบเข้าจนออกมาจากโรงงาน

2.zero energy มีตัวแบบคือระบบ solar cell 100% และ 3.zero emission ไม่มีการปล่อยของเสียออกมา โดยคำนวณการใช้แอร์+การใช้พลังงานทุกอย่างจะต้องหักลบกับพื้นที่สีเขียวที่สามารถหักล้างค่าคาร์บอนไดออกไซด์ได้ลงตัวพอดี

Advertisment

“สถานการณ์โควิดส่งผลกระทบอย่างมาก รายได้การท่องเที่ยวที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหายไป ดังนั้น ช่วงล็อกดาวน์ระลอกใหม่ควรเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับอนาคตหลังยุคโควิดที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามา เพราะถึงยังไงประเทศไทยก็เป็น tourist destination ของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก”

หลักคิดในการ “เตรียมเมือง” เพราะผู้คนต้องการเปลี่ยนที่อยู่อาศัยจากทั่วโลก จึงจำเป็นต้องพัฒนาเมืองหรือโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการท่องเที่ยวให้มีความพร้อม (development of tourism infrastructure) เช่น การมีท่าเรือรองรับเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ฯลฯ

“การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการท่องเที่ยวจะทำให้เกิดกลยุทธ์ระดับเมือง strategic district เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจพื้นที่และจุดประกายให้บริเวณรอบ ๆ เตรียมตัวในการพัฒนาไปด้วยกัน”