รีวิว 5 ปี รถไฟทางคู่ เฟสแรก ขยับไทม์ไลน์เปิดใช้ตุลาคม 2566

เดือนกุมภาพันธ์ 2559 หรือ 5 ปีที่แล้วในยุครัฐบาล คสช. ถือเป็นจุดกำเนิดโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 993 กิโลเมตร วงเงิน 113,660 ล้านบาท

โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยปี 2558-2565 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีการผลักดันจนทุกเส้นทางได้รับการประมูลและทยอยก่อสร้างเป็นผลสำเร็จในช่วงปลายปี 2560

เสร็จ 100% ใน 2 เส้นทาง

อัพเดตความคืบหน้าโครงการ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นั่งหัวโต๊ะการประชุมแมตช์ล่าสุดวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีนโยบายเร่งรัดงานก่อสร้างที่มีบางส่วนล่าช้าจากสาเหตุนานัปการ

ในจำนวน 7 สายทาง พบว่าก่อสร้างเสร็จ 100% 2 สายทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 ช่วงฉะเชิงเทรา-ชุมทางคลอง 19-แก่งคอย 106 กิโลเมตร วงเงิน 10,232.86 ล้านบาท เนื้องานแบ่งเป็น 2 สัญญา เริ่มจากสัญญาที่ 1 งานโยธาช่วงฉะเชิงเทรา-คลอง 19-วิหารแดง และช่วงบุใหญ่-แก่งคอย พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง 97 กิโลเมตร วงเงิน 9,825.81 ล้านบาท โดยมีกลุ่มซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้รับเหมา

สัญญาที่ 2 งานโยธาช่วงวิหารแดง-บุใหญ่ และอุโมงค์รถไฟ 10.2 กิโลเมตร วงเงิน 407.05 ล้านบาท มีรับเหมาดาวรุ่งกลุ่ม RT-ไร้ท์ทันเน็ลลิ่งเป็นคู่สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการตั้งแต่ปลายปี 2562

เส้นทางที่ 2 ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กิโลเมตร วงเงิน 24,326 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า 2 ช. CKCS ประกอบด้วยผู้รับเหมาบิ๊กเนมกลุ่ม ช.การช่าง และบริษัท ช.ทวีก่อสร้างเป็นคู่สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการตั้งแต่ต้นปี 2562

5 สายทางขยายเวลาสร้าง

ส่วนอีก 5 สายทางอยู่ระหว่างก่อสร้าง แบ่งเป็น เส้นทางที่ 3 รถไฟทางคู่ “สายเหนือ 1” ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ 148 กิโลเมตร วงเงิน 18,699 ล้านบาท เนื้องานแบ่ง 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 งานโยธาช่วงบ้านกลับ-โคกกระเทียม 32 กิโลเมตร วงเงิน 10,050 ล้านบาท มีความก้าวหน้าของงาน 51.83% เร็วกว่าแผน 20.29% สิ้นสุดสัญญา 14 มิถุนายน 2565

สัญญาที่ 2 งานโยธาช่วงท่าแค-ปากน้ำโพ 116 กิโลเมตร วงเงิน 8,649 ล้านบาท ก่อสร้างช้ากว่าแผน 1.9% สิ้นสุดสัญญาวันที่ 31 มกราคม 2564 ได้รับการขยายเวลา 17 เดือนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2565 โดยทั้ง 2 สัญญามีกิจการร่วมค้า UN-SH ประกอบด้วยกลุ่มยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และบริษัทซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ดเป็นผู้รับเหมา

สำหรับงานระบบวงเงิน 2,988.57 ล้านบาท มีผู้รับเหมากิจการร่วมค้า BT-UN ประกอบด้วยรับเหมาต่างสัญชาติ กลุ่มบอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่น ซิกแนล (ประเทศไทย) และกลุ่มยูนิคฯ มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2566

เส้นทางที่ 4 มาบกะเบา-ชุมทางจิระ สัญญา 1 มาบกะเบา-คลองขนานจิตร 58 กิโลเมตร วงเงิน 7,560 ล้านบาท งานก้าวหน้า 87.4% ช้ากว่าแผน 4.15%, สัญญา 2 คลองขนานจิตร-ถนนจิระ 69 กิโลเมตร 7,060.58 ล้านบาท อยู่ระหว่างขออนุมัติ EIA, สัญญา 3 อุโมงค์รถไฟ 5 กิโลเมตร งานก้าวหน้า 73.15% ช้ากว่าแผน 11.33% สิ้นสุดสัญญา 30 ธันวาคม 2564 โดยสัญญา 1, 3 มีกลุ่มอิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนต์ (ITD) กับกลุ่มกิจการร่วมค้า ITD-RT เป็นคู่สัญญา

ทางคู่สายใต้ยืดถึง 2566

อีก 3 สายทางเป็นรถไฟทางคู่สายภาคใต้ ดังนี้ เส้นทางที่ 5 ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กิโลเมตร วงเงิน 15,718 ล้านบาท แบ่ง 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล 93 กิโลเมตร วงเงิน 8,198 ล้านบาท มีความก้าวหน้าของงาน 84.89% เร็วกว่าแผน 1.22% สิ้นสุดสัญญา 31 มกราคม 2564 ขยายเวลา 20 เดือนถึง 30 กันยายน 2565

สัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน 76 กิโลเมตร วงเงิน 7,520 ล้านบาท งานก้าวหน้า 83.81% เร็วกว่าแผน 0.37% สิ้นสุดสัญญา 31 มกราคม 2564 ขยายเวลา 20 เดือนถึง 30 กันยายน 2565 ทั้ง 2 สัญญามีบิ๊กรับเหมากลุ่มซิโน-ไทยฯ กับบริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) เป็นคู่สัญญา

เส้นทางที่ 6 ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 84 กิโลเมตร วงเงิน 5,807 ล้านบาท มีรับเหมาบิ๊กเนมอีกราย กลุ่มอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์เป็นคู่สัญญา ความก้าวหน้าของงาน 85.26% ช้ากว่าแผน 13.59% สิ้นสุดสัญญา 31 กรกฎาคม 2563 ขยายเวลา 11 เดือนถึง 30 มิถุนายน 2564

และ เส้นทางที่ 7 ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 167 กิโลเมตร วงเงิน 12,457 ล้านบาท แบ่งงาน 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย 88 กิโลเมตร วงเงิน 6,465 ล้านบาท งานก้าวหน้า 76.85% เร็วกว่าแผน 0.72% สิ้นสุดสัญญา 31 ตุลาคม 2563 ขยายเวลา 15 เดือนถึง 31 มกราคม 2565

สัญญาที่ 2 ช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร ระยะทาง 79 กม. วงเงิน 5,992 ล้านบาท ความก้าวหน้าของงานอยู่ที่ 69.03% ช้ากว่าแผน 2.04% มีระยะเวลาสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 31 ม.ค. 2564 แต่ได้รับการอนุมัติขยายเวลาออกไปเป็นวันที่ 30 เม.ย. 2565

ขณะที่งานระบบช่วงนครปฐม-ชุมพร วงเงิน 6,250.65 ล้านบาท เป็นอีกช่วงที่มีรับเหมาต่างสัญชาติ บริษัท China Railway Signal & Communication หรือ CRSC จากจีนเป็นคู่สัญญา กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จมกราคม 2566