4 ทุ่มคืนนี้! ปิดจราจร “ถ.ติวานนท์-แจ้งวัฒนะ-รามอินทรา” สร้างโมโนเรลสายสีชมพู แนะใช้15เส้นทางเลี่ยงรถติด

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ช่วยผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เปิดเผยว่า รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี เป็นหนึ่งในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือ M-MAP และเป็นรถไฟฟ้าที่ใช้ระบบโมโนเรลสายแรกของประเทศไทย เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ด้านเหนือของกรุงเทพฯ

โดยแนวเส้นทางเริ่มต้นที่สถานีศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี ซึ่งถือเป็นจุดเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ บริเวณใกล้แยกแคราย ผ่านถนนติวานนท์จนถึงห้าแยกปากเกร็ด แล้วจึงเลี้ยวเข้าถนนแจ้งวัฒนะผ่านเมืองทองธานี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา

และไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่แยกหลักสี่บริเวณริมถนนวิภาวดี-รังสิต และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ บนถนนพหลโยธินบริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เข้าสู่ถนนรามอินทรา สิ้นสุดปลายทางที่สถานีมีนบุรีจะบรรจบกับสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี รวม 30 สถานี ระยะทาง 34.5 กม. มีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง และอาคารจอดแล้วจร 1 แห่งที่บริเวณสถานีมีนบุรี

หลังจากเซ็นสัญญาก่อสร้างแล้วปัจจุบันโครงการอยู่ในช่วงของการเข้าพื้นที่เพื่อเตรียมการก่อสร้าง และเริ่มดำเนินการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค ในวันนี้ (20 พ.ย.2560) จะเริ่มปิดเบี่ยงช่องจราจรถนนติวานนท์ บริเวณคลองบางตลาด ถึงกรมชลประทาน และบริเวณถนนรามอินทรา ตรงข้ามสถานีตำรวจทางหลวง 2 กองบังคับการ 8 เพื่อดำเนินงานเข็มทดสอบ ซึ่งเป็นการทดสอบการรองรับน้ำหนักของเสาเข็มและจะดำเนินงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคในวันที่ 25 พ.ย. 2560

“4 ทุ่มคืนนี้เริ่มปิดจราจรทดสอบเสาเข็มก่อสร้าง คิดว่าไตรมาสแรกปีหน้าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ หลังได้รับการส่งมอบพื่นที่จากกรมทางหลวง และ กทม.เรียบร้อยแล้ว จะใช้เวลาสร้าง 3 ปี สร้างเสร็จเปิดใช้ปี 2564”

Advertisment

นายสุรเชษฐ์กล่าวอีกว่า ส่วนการเวนคืนที่ดินขณะนี้ยังล่าช้าจากแผน แต่คาดว่าหลังจากนี้จะเร็วขึ้นเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีการออกประกาศ พ.ร.ฏ.เวนคืนเร่งด่วน เนื่องจากยังมีการคัดค้านการเวนคืนอยู่บางส่วนบริเวณที่เป็นจุดขึ้นลงสถานี ส่วนต้นไม้บนเกาะกลางถนนจะย้ายไปอยู่ที่อื่น

นายวิฑูรย์ สลิลอำไพ ผู้แทนจาก บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด เปิดเผยว่า สำหรับการปิดเบี่ยงช่องจราจร เพื่อดำเนินงานเข็มทดสอบนั้น จะดำเนินการ 2 จุด ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย. 2560 จนถึง 15 มี.ค. 2561 ได้แก่ จุดแรก ถนนติวานนท์ บริเวณคลองบางตลาดถึงกรมชลประทาน ระยะทางประมาณ 210 เมตร ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย. 2560 ถึงวันที่ 28 ก.พ.2561 จะปิดการจราจรช่องทางขวาสุด (ชิดเกาะกลางถนน) 1 ช่องจราจร ทั้งขาเข้า – ขาออก ตลอด 24 ชั่วโมง และปิดการจราจรเพิ่มอีก 1 ช่องทาง (ขาออก) ในช่วงเวลา 22.00 – 04.00 น.

จุดที่ 2 ถนนรามอินทรา บริเวณฝั่งขาเข้า ตรงข้ามสถานีตำรวจทางหลวง 2 กองบังคับการ 8 (ใกล้ศูนย์การค้าแฟชั่น ไอซ์แลนด์) ระยะทางประมาณ 200 เมตร ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2560 ถึง วันที่ 15 มี.ค. 2561 จะปิดการจราจรช่องทางซ้ายสุด 1 ช่องจราจร บริเวณฝั่งขาเข้า ตั้งแต่เวลา 22.00 – 04.00 น. เฉพาะวันที่มีการขนย้ายเครื่องจักรหนักและวันที่มีงานเทคอนกรีต

Advertisment

ส่วนในวันที่ 25 พ.ย. 2560 เป็นต้นไป โครงการจะเริ่มปิดเบี่ยงจราจรเพื่อดำเนินงานในส่วนรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน จะใช้เวลาดำเนินการ 10 เดือน ถึงเดือน ธ.ค.2561

โดยจะทยอยดำเนินการรื้อย้ายในช่วงสั้นๆ ช่วงละประมาณ 200 เมตร เมื่อรื้อย้ายแล้วเสร็จจะคืนผิวจราจรก่อน จากนั้นจึงจะขยับปิดผิวจราจรช่วงใหม่อีก 200 เมตร ดำเนินการเช่นนี้ ไปจนเสร็จ ยกเว้น 8 จุดสำคัญที่จำเป็นต้องปิดการจราจรเพิ่มเติมอีก 1 ช่องจราจร ในช่วงเวลา 22.00 – 04.00 น.

ได้แก่ 1.บริเวณ เชิงสะพานพระราม 4 (PK 6 – PK 7) 2.บริเวณคลองประปา – เชื่อมสู่ถนนวิภาวดีรังสิต (PK 11 – PK 13) 3.บริเวณ วงเวียนบางเขน (PK 16 – PK 17) 4.บริเวณสนามกอล์ฟทหารบก (PK 17 – PK 18) 5.บริเวณแยกลาดปลาเค้า (PK 18 – PK 23) 6.บริเวณแยกคู้บอน – ถนนรามอินทรา 87 (PK 23 – PK 24) 7.บริเวณคลองบางชัน (PK 26) และ 8.บริเวณแยกเมืองมีน (PK 28 – PK 29)

ด้าน พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ด้านจราจร) กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางโครงการได้มีการประชุมและชี้แจงเรื่องแนวทาง การปิดเบี่ยงจราจรอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้มีการจัดประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่อง การจัดการจราจรและจัดสรรกำลังเจ้าหน้าที่สำหรับเร่งระบายรถในชั่วโมงเร่งด่วน

โดยการปิดเบี่ยงจราจรในบริเวณ ถนนติวานนท์นั้น คาดว่าไม่ส่งผลกระทบมากนัก เนื่องจากบริเวณที่ปิดการจราจรมีปริมาณรถไม่หนาแน่น ยกเว้น ช่วงเช้าและช่วงเย็น แต่สำหรับการปิดการจราจรบริเวณถนนรามอินทรานั้น อาจมีรถติดสะสมได้ จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงเส้นทาง โดยสามารถใช้ถนนปัญญาอินทรา ถนนเสรีไทย หรือขึ้นทางด่วนอาจณรงค์ – รามอินทรา หน้าศูนย์การค้าแฟชั่น ไอซ์แลนด์ ทดแทนได้

ส่วนกรณีการปิดเบี่ยงจราจรเพื่อรื้อย้ายสาธารณูปโภคนั้น เบื้องต้นคาดว่าจะไม่มีการปิดจุดกลับรถ ในพื้นที่ และเน้นการปิดกั้นเพียง 1 ช่องจราจรเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังได้จัดเส้นทางสำหรับหลีกเลี่ยงการจราจรไว้ หลายเส้นทาง เช่น ถนนติวานนท์ สามารถเลี่ยงเข้าสู่ถนนสามัคคี เพื่อไปยังถนนประชาชื่นหรือถนนเลี่ยงเมืองปากเกร็ดได้

ส่วน ถนนแจ้งวัฒนะ สามารถเลี่ยงเข้าซอยแจ้งวัฒนะ 14 เพื่อออกสู่ถนนกำแพงเพชร 6

ด้าน ถนนพหลโยธิน สามารถเลี่ยงเข้าซอยพหลโยธิน 48 เพื่อออกสู่ถนนรามอินทรา และจาก ถนนรามอินทรา สามารถเลี้ยวเข้าซอยมัยลาภ เพื่อออกสู่ถนนเกษตร-นวมินทร์ หรือเข้าซอยรามอินทรา 39 เพื่อออกสู่ถนนวัชรพลและถนนสุขาภิบาล 5 ได้ และยังสามารถเลี้ยวเข้าถนนปัญญาอินทรา หรือถนนพระยาสุเรนทร์ เพื่อมุ่งหน้าสู่ถนนหทัยราษฎร์ เป็นต้น

ซึ่งแผนการจัดจราจรดังกล่าว น่าจะช่วยระบายรถออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในอนาคตอาจมีการปรับแผน การจัดจราจรเพิ่มเติม เมื่อมีการปิดถนนจริง เพื่อให้ประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนได้รับความสะดวกมากที่สุด

“การสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูกินพื้นที่กรุงเทพฯและนนทบุรี จะมีการกระทบต่อการจราจรเพราะสร้างอยู่บนเกาะกลางถนนสายหลักทั้งติวานนท์ แจ้งวัฒนะและรามอินทรา ซึ่งแต่ละเส้นทางก็มีปริมาณการจราจรค่อนข้างมากอยู่แล้ว เราก็พยามหาเส้นทางเลี่ยงเพื่อช่วยบรรเทาการจราจร และให้เปิดการจราจหลังตี 4 ทุกไซต์งาน” พล.ต.ต.จิรพัฒน์กล่าว