SCG Man รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส คิดรอบด้าน ลงทุนรอบทิศ ขานรับผู้บริโภคยุคโควิด

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส
สัมภาษณ์

คิดรอบด้าน คว้าโอกาสเติบโตจากวิกฤต

เป็นเพราะยุคโควิด เอสซีจีค้นพบว่าทำธุรกิจในฝั่งอยู่รอดและเติบโตได้ดี

ทำให้มีการปรับเป้าโดยเพิ่มงบประมาณลงทุนปี 2564 ใหม่ จากตอนต้นปี “รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคยจั่วหัวตัวเลขลงทุนใหม่ไว้ที่ 75,000 ล้านบาท

ล่าสุดอัพเดตวงเงินเป็น 80,000-90,000 ล้านบาท เพื่อขยับขยายการลงทุนทั้งในกลุ่มธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง เคมิคอล โดยภาพใหญ่มองว่าเป็นโอกาสที่เอสซีจีจะทรานส์ฟอร์ม business portfolio ให้เข้มแข็งขึ้น

Q : Q2/64 กำไรโต 15%

ณ ไตรมาส 2/64 มีรายได้จากการขาย 133,555 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% จากไตรมาส 2/63 จากราคาขายสินค้าเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้นตามการปรับตัวของราคาน้ำมันโลก และเพิ่มขึ้น 9% จากไตรมาส 1/64 นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของทุกกลุ่มธุรกิจมีกำไร 17,136 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83% จากไตรมาส 2/63

และผลประกอบการครึ่งปีแรก 2564 SCG มีรายได้การขาย 255,621 ล้านบาท มีกำไร 32,050 ล้านบาท หลัก ๆ มาจากการขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม หรือ HVA-High Value Added Products & Services 86,861 ล้านบาท

สัดส่วน 34% ของรายได้รวม มีการพัฒนาสินค้าใหม่ และ service solution เช่น พลังงานแสงอาทิตย์สัดส่วน 15% บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ 5%

ธุรกิจส่งออกก็ทำได้ดี ครึ่งปีแรกมียอดขาย 112,272 ล้านบาท สัดส่วนถึง 44% ของยอดขายรวม มีสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 มูลค่า 812,051 ล้านบาท โดยจำนวน 39% เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน

Q : กลยุทธ์สู้โควิดยกระดับไข่แดง-ไข่ขาว

สถานการณ์โควิดทั่วโลกมีความไม่แน่นอนสูงมาก โดยเฉพาะเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า เอสซีจีจึงได้ยกระดับความเข้มข้นจากมาตรการ “ไข่แดง-ไข่ขาว” ที่แยกพนักงานในสายการผลิตไม่ให้สัมผัสกับกลุ่มพนักงานทั่วไป

โดยพนักงานสายการผลิตให้ใช้ชีวิตอยู่ที่โรงงานและโรงแรมที่บริษัทจัดให้ เพราะพนักงานเหล่านี้ทำหน้าที่ควบคุมระบบ หากใครป่วยก็จะมีผลกระทบต่อกระบวนการผลิต ซึ่งอาจทำให้ส่งงานได้ไม่ตรงตามแผนที่วางไว้ได้

และการทำ “bubble and seal” ในโรงงานทั้งในและต่างประเทศด้วยการตรวจเชิงรุกอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมพื้นที่ที่มีความเสี่ยง จัดที่พักให้ภายในโรงงาน แนะนำให้พนักงานที่มีอาการป่วยกักตัวที่บ้านตามคำแนะนำของแพทย์ (home isolation)

เพื่อลดการแพร่กระจายโรคระบาด จัดเตรียมหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (hospitel) สำหรับพนักงานที่ป่วยเพื่อให้เข้าถึงการรักษาที่ปลอดภัยอย่างรวดเร็วที่สุด จึงทำให้ SCG สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

Q : เศรษฐกิจหมุนเวียน ธุรกิจโลกใหม่

เอสซีจีปรับแผนธุรกิจเน้นเจาะตลาดที่ได้รับผลกระทบน้อยทั้งในและต่างประเทศ เน้นขายผ่านช่องทางออนไลน์ ขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ สร้างความร่วมมือใช้นวัตกรรมเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง หรือ PCR เปลี่ยนขวดบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนหมุนเวียนกลับมาผลิตเป็นขวดบรรจุภัณฑ์ใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย นับเป็นการเร่งธุรกิจเข้าสู่เทรนด์เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ที่เติบโตสูง

พร้อมรุกเข้าสู่ธุรกิจระบบอัตโนมัติเพื่อนำเสนอโซลูชั่นด้านออโตเมชั่นแก่ลูกค้า ช่วยพัฒนาขีดความสามารถและยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่โรงงานอัจฉริยะ ทำให้เอสซีจียังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว

เราพัฒนานวัตกรรมป้องกันโควิดอย่างต่อเนื่อง ช่วงนี้มีการแพร่ระบาดมากขึ้น เกิดวิกฤตขาดแคลนเตียงสนามและห้องไอซียูสำหรับผู้ป่วยหนัก เอสซีจีได้มอบเตียงสนามกระดาษ 60,000 เตียงทั้งในไทยและต่างประเทศ และมอบห้องไอซียูโมดูลาร์ 60 เตียง รวมทั้งห้องผู้ป่วยฉุกเฉินโมดูลาร์ขนาด 10 เตียง เพื่อปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ บรรเทาความเดือดร้อนของผู้ป่วย

นอกจากนี้ ยังช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยเอสเอ็มอี และชุมชน 300 รายให้สร้างรายได้ พัฒนาอาชีพ แปรรูปสินค้า และเพิ่มช่องทางการขาย ผมขอเชิญชวนทุกท่านช่วยกันสนับสนุนสินค้า SMEs หากพวกเราช่วยเหลือกันก็จะนำพาประเทศรอดพ้นวิกฤตครั้งนี้ได้

Q : การตั้งรับผลกระทบในครึ่งปีหลัง

ที่ผ่านมามาตรการล็อกดาวน์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง อันแรกคือการหยุดไซต์ก่อสร้างใน กทม.-ปริมณฑลซึ่งมีผลค่อนข้างมาก เรื่องอื่น ๆ จะเป็นในแง่ของความต้องการสินค้า เช่น สินค้าวัสดุก่อสร้างที่มีการชะลอการตัดสินใจการซื้อวันนี้

สินค้าบรรจุภัณฑ์ถึงแม้ว่าด้านหนึ่งมีความต้องการมากขึ้น แต่ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ส่วนเคมิคอลเป็นธุรกิจที่เป็น global ผลกระทบอาจจะไม่มากนัก ยังพอไปได้อยู่

คิดว่าผลกระทบที่มีต่อเอสซีจีนั้น โควิดรอบใหม่นี้รู้สึกว่าอาเซียนจะโดนค่อนข้างหนัก ผลกระทบคงมีกับ operation ของเราทั้งในและต่างประเทศด้วย หลัก ๆ ตอนนี้ก็คือทำยังไงให้พนักงานเอสซีจีและคู่ค้าสำคัญปลอดภัย

เรามีความเชื่อว่าตลาดยังพอไปได้ในหลายประเทศ อยู่ที่ว่าเราจะสามารถให้มีการเดินกำลังผลิตโรงงานอย่างต่อเนื่องได้ขนาดไหนอย่างไร

ถ้ามองช่วง 3-4 เดือนข้างหน้าคิดว่าสถานการณ์ค่อนข้างหนัก หลาย ๆ ประเทศรวมทั้งเมืองไทยอัตราการติดเชื้อก็เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ระบบสาธารณสุขได้รับผลกระทบอย่างมาก อัตราครองเตียงของผู้ป่วยตอนนี้ก็เรียกว่าเต็มจนล้นแล้ว

ต้องมีการเพิ่มเตียง ต้องมีการเพิ่มไอซียู เป็นผลกระทบที่ส่งไปถึงเรื่องสาธารณสุข การอุปโภคบริโภค ภาคอุตสาหกรรมในประเทศและการส่งออก

ผมคิดว่าเราก็ต้องเตรียมตัวว่าอย่างน้อยคงไปถึงไตรมาส 4 แน่นอน มาตรการของเราต้องสามารถที่จะยืนอยู่ได้ไปถึงตรงนั้น เรื่องแรก bubble and seal เป็นอันหนึ่งซึ่งผมคิดว่าอยู่ได้ อันที่ 2 เรื่องของการตรวจสอบโรคอย่างต่อเนื่อง

ท้ายที่สุด home isolation, company isolation มีการเตรียมความพร้อมทำให้สามารถอยู่ได้ไปอีกหลายเดือน ช่วงนี้เราคิดว่าเราทำในสิ่งที่เราสามารถที่จะป้องกันได้

Q : คาดการณ์ว่าทำได้ตามเป้าหรือไม่

ต้องบอกว่าเดาไม่ออกจริง ๆ ที่เห็นแน่ ๆ เลยคือ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด เช่น มาตรการปิดแคมป์ก่อสร้างทำให้ธุรกิจซีเมนต์-วัสดุก่อสร้างได้รับผลกระทบต่อเนื่อง

เพราะไซต์ก่อสร้างคงต้องใช้เวลา บางไซต์เปิดได้แต่พอเจอการติดโควิดอีกก็ต้องปิดหรือต้องพักชั่วคราว คิดว่าความไม่แน่นอนตรงนี้มีค่อนข้างสูง

ส่วนอื่น ๆ คิดว่า demand ไม่ว่าจะเป็นเคมีภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ยังไปได้ เพราะการอุปโภคบริโภคภายในแต่ละพื้นที่ยังมีอยู่ ยังมีการขนส่งโลจิสติกส์ ฉะนั้น ผลกระทบไม่น่าจะมาก

เพียงแต่ต้องยอมรับว่าในแง่เศรษฐกิจและเรื่องของสุขภาพ ถ้าเกิดกรณีที่มีการติดเชื้อไม่ว่าจะเป็น operation ของเราเอง หรือการติดเชื้อของลูกค้า หรือคนที่ supply ของให้เรา ก็มีผลกระทบในเรื่องการใช้กำลังการผลิตซึ่งต้องลดลง

เพราะฉะนั้น ตอนนี้นึกไม่ออกจริง ๆ ครับ ต้องคอยดูสถานการณ์ว่ากันเป็นเดือนต่อเดือนเลย

Q : ในอนาคตสินค้า HVA เป็นตัวหลัก

เราตั้งใจจะเพิ่มสัดส่วนรายได้สินค้ามูลค่าเพิ่มสูง หรือ HVA ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ 34% ตีซะว่า 1 ใน 3 ในช่วง 3-5 ปีหน้าเราสามารถเพิ่มปริมาณตรงนี้ไปได้

ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าจะมีทิศทางยังไงบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรีน สินค้าตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ตรงนี้เรารู้ทิศทางที่จะต้องไปอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับการลงทุนในเรื่อง R&D ไปในทิศทางที่ทำให้เกิดผลต่อสินค้าตรงนี้ขนาดไหน ปัจจุบันมีรายได้ 1 ใน 3 แล้ว ภายใน 5 ปีข้างหน้าอยากเพิ่มเป็น 50%

Q : เป้ารายได้ต่างประเทศเกิน 50%

ตอนนี้รายได้ส่งออกอยู่ที่ 44% มาจาก operation ในอาเซียนกับส่วนหนึ่งส่งออกจากไทย คิดว่าเป้ารายได้เกินครึ่งภายใน 3-4 ปีน่าจะได้ หลัก ๆ คืออีก 2 ปีปิโตรเคมีที่เวียดนามก็จะเกิดขึ้นได้ กับการขยายธุรกิจแพ็กเกจจิ้งในภูมิภาคเริ่มมียอดขายเข้ามา

ธุรกิจที่คิดว่าต้องใช้เวลาคือ ซีเมนต์กับวัสดุก่อสร้าง เรามองว่าตลาดใครตลาดมันแต่มีการส่งออกข้ามไปหากันได้ ในช่วงหลังโควิดหรือช่วงปลายโควิดตลาดตรงนี้น่าจะเริ่มฟื้นตัวโดยเฉพาะสินค้าออนไลน์ ถ้าออนไลน์ในต่างประเทศทำได้ จะทำให้อัตราส่วนรายได้ต่างประเทศสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

Q : ยุคโควิดมีนโยบายช่วยเหลือสังคมอย่างไร

ย้อนกลับมาในสิ่งที่เราจะทำได้ดีและสามารถช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที เช่น เตียงกระดาษ ใช้ในโรงพยาบาลสนาม เรื่องของโมดูลาร์ยูนิตไม่ว่าจะเป็น ICU ห้องน้ำ หรือห้องสำหรับผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้เร็วด้วยระบบการก่อสร้างโมดูลาร์

อีกด้านหนึ่งคือเรื่องการค้า ธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางได้รับผลกระทบอย่างมาก ต้องถือว่าเราอยู่ใน supply chain แบบเดียวกัน อะไรที่เราช่วยเหลือได้ เช่น การให้เครดิตเทอม การจ่ายเงินให้เร็วในกรณีที่เป็น supplier เป็นคู่ค้าของเรา

นอกจากนี้ เอสซีจีทำศูนย์ฉีดวัคซีนร่วมกับ กทม. (กรุงเทพมหานคร) ร่วมกับสำนักงานประกันสังคมเป็นสิ่งที่เราสามารถตอบแทนสังคมในลักษณะการให้ใช้พื้นที่ การลงทุนเพื่อสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไปให้ได้

Q : รัฐบาลหารือ 40 CEO เอสซีจีเสนออะไรบ้าง

การประชุม 40 CEO เอกชนให้ความเห็น 3 เรื่อง 1.ทำยังไงถึงจะบริหารจัดการโรคระบาดได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจโรค การแยกผู้ป่วยและผู้มีความเสี่ยง การรักษาพยาบาล การฉีดวัคซีน

2.มาตรการเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบ 3.มองไปในระยะยาวพ้นจากยุคโควิดไปแล้วจะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจในด้านไหนอย่างไรบ้าง เอกชนจะเข้ามามีบทบาทอย่างไรบ้าง

เอสซีจีมีการพูดในเรื่องทำยังไงให้มีการเทสต์ (ตรวจโรค) อย่างกว้างขวาง และเข้าถึงประชากรให้ได้ทั้งหมด เรื่องของการรักษาก็สำคัญในการที่เราจะจัดการเพื่อทำให้ผลกระทบโควิดมีความรุนแรงน้อยลง ทำยังไงให้ยาสามารถทำให้คนเข้าถึงได้ก่อนที่จะป่วยหนักมาก ๆ

สามารถป้องกันหรือลดความรุนแรงของอาการป่วย เรื่องของ home isolation, community isolation และ company isolation ภาคธุรกิจเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือตรงนี้ได้ยังไง

Q : นอกจากโควิด มีวิกฤตภาวะโลกร้อนด้วย

ผมมองว่ามี 2 ด้าน 1.ผลกระทบโดยรวมของประเทศในกรณีถ้าภาวะโลกร้อนส่งผลในเรื่องอุณหภูมิมีความเปลี่ยนแปลงมาก อัตราการตกของฝนระหว่างจุดต่ำสุดกับจุดสูงสุดมีความรุนแรง ทำให้เกิดภาวะฝนแล้งรุนแรง-น้ำท่วมรุนแรง อันนี้เป็นสิ่งที่น่าคิด

คนก็พูดอยู่เสมอว่าถ้าอุณหภูมิโลกสูงขึ้นไปถึงบวก 2% จะเรียกว่ารุนแรงมาก ตอนนี้ก็ลดลงมาไม่ต้องถึง 2% หรอก แค่ 1.5% ก็รุนแรงแล้ว จะเป็นผลกระทบที่รุนแรงมากกับคนไทยและประเทศรอบบ้านเรา

เอสซีจีเราต้องทำธุรกิจก็ต้องทำ ต้องมีแผนในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ แต่เราทำคนเดียวไม่ได้แน่ ภาครัฐ ภาคเอกชนต้องร่วมกันและประสานออกไปยังต่างประเทศด้วย เป็นโจทย์ของทั้งโลก

ในภาคอุตสาหกรรมสามารถทำได้ ตัวอย่างง่าย ๆ คือ เรื่องฝุ่น ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันหรือลดจำนวนฝุ่น หรือทำให้คนแยกออกมาจากปัญหาฝุ่นได้ เรามีเทคโนโลยีการระบายอากาศ ทำให้อากาศมีการหมุนเวียนภายในบ้าน ภายในอาคาร

นอกจากนี้ เซ็กเตอร์การเกษตรปัจจัยหลักสำคัญคือ น้ำ, ดิน, ภาวะแล้งเป็นอย่างไร ภาคอุตสาหกรรมมีการนำสมาร์ทฟาร์มมิ่งเข้ามาช่วย ลดการใช้แรงงานลง ทำให้เร็วขึ้น ดูแลสภาพดิน ส่วนเรื่องน้ำไม่ง่ายแต่เราก็สามารถช่วยดูแลตรงนี้ได้ว่าสวนกับนามีการให้น้ำในปริมาณที่เหมาะสมหรือน้อยลงได้

โดยสรุปผมแยกเป็น 2 ส่วน 1.โจทย์ระดับประเทศ ระดับโลก เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทุกคนต้องร่วมกัน กับ 2.โจทย์ในระดับพื้นที่ ระดับอุตสาหกรรม เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้

Q : ปัจจัยเสี่ยงกระทบต่อธุรกิจ

ที่เห็นได้ชัดเจนคือสถานการณ์โควิด อย่าลืมว่าครั้งนี้โควิดไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพอย่างเดียว มีผลกระทบเศรษฐกิจด้วย คิดว่าในแง่ของโควิดเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่ชัดเจนคือดิจิทัล เป็นเทรนด์ที่ต้องมีการนำดิจิทัลเข้ามาใช้ในการทำธุรกิจจริง ๆ นำมาปรับใช้ supply chain ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

หรือแม้กระทั่งเรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภค ปัจจุบันใช้เวลาอยู่ในโลกดิจิทัลมากมาย ทำอย่างไรที่เราจะให้สินค้า การบริการของเราอยู่ในใจของเขาได้ตลอด เทรนด์ที่ผมเรียกว่าลักษณะของ new normal ก็จะเป็น next normal

ท้ายที่สุดผมคิดว่าทุกประเทศทั่วโลกในปี 2563 อย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป ประเทศตะวันตกใช้ทรัพยากรไปอย่างมากในการสู้โควิด แต่ไม่ใช่เป็นการสู้อย่างเดียว มันเป็นลักษณะที่ต้อง support คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นกัน เรากำลังพูดเรื่องของนโยบายการเยียวยา

ฉะนั้น น่าคิดเหมือนกันว่าปี 2564 เป็นปีของอาเซียนที่สู้กับโควิดอย่างรุนแรง เพราะฉะนั้น พรุ่งนี้ผมก็มองว่ารัฐบาลในกลุ่มประเทศอาเซียนใช้ทรัพยากรไปอย่างมากในการทั้งสู้ทั้งเยียวยาสถานการณ์โควิด ทำให้ระบบการเงินการคลังของทุกรัฐบาลตึงตัวไปหมด

ก็น่าคิดว่าสุดท้ายตรงนี้จะเป็นทางออกยังไง เพราะรัฐบาลของทุก ๆ ประเทศเป็นส่วนที่สำคัญทีเดียวในแง่การพยุงเศรษฐกิจประเทศ

ผมคิดว่าในวิกฤตมีโอกาส เราเห็นเรื่องความต้องการสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การใช้ชีวิต ที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ ก็ต้องถามว่าธุรกิจเห็นโอกาสตรงนี้แล้วสามารถที่จะเข้าไปจับโอกาสตรงนี้ได้อย่างไร