มท.น้อมนำพระดำริ “เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เพิ่มพูนทักษะ “ช่างตัดเย็บ”

มท.น้อมนำพระดำริ “เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”

มหาดไทยเฟ้นหาคนรุ่นใหม่ น้อมนำพระดำริ “เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” หนุนเสริมศักยภาพ เพิ่มพูนทักษะ “ช่างตัดเย็บ” ต่อยอดการออกแบบตัดเย็บ “ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก” สนองตอบความต้องการตลาด สร้างความมั่นคงเศรษฐกิจฐานรากด้วยผืนผ้าไทยอย่างยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดเผยถึง พระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้พระราชทานพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยทรงอรรถาธิบายว่า ผ้าไทยใส่ให้สนุก คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริมและกระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกันถึงพระอัจฉริยภาพและพระวิริยะอุตสาหะของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการรับพระราชภาระในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชกรณียกิจด้านการส่งเสริมผ้าไทยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

โดยภาพชินตาที่ช่างทอผ้า และผู้ประกอบการ OTOP ทั่วประเทศต่างสำนึกในพระกรุณาธิคุณมิรู้ลืม คือ เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานในงาน OTOP City 2020 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ได้พระราชทาน ผ้าลายพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คนที่ 29 พร้อมทั้งพระราชทานพระดำรัสความว่า “ข้าพเจ้าได้มีโอกาสตามเสด็จสมเด็จย่า สมเด็จพระพันปีหลวง มาตั้งแต่เด็ก ได้เห็นท่านทรงงานและรับรู้ถึงความทุ่มเทของพระองค์ท่านในการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านและสืบสานภูมิปัญญาไทยมาโดยตลอด เห็นการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง ข้าพเจ้ามีความตั้งใจที่จะสืบสานพระราชปณิธาน โดยข้าพเจ้าได้นำประสบการณ์การทำงาน การศึกษาเดินทางไปชมผ้าไทย และงานหัตถกรรมพื้นบ้านตามภาคต่าง ๆ  ทำให้เห็นผลงานที่สามารถนำมาพัฒนาให้ร่วมสมัยและเป็นสากลได้ จากการค้นคว้า เก็บข้อมูล ลงพื้นที่จริง ข้าพเจ้าจึงได้ออกแบบลายผ้ามัดหมี่มอบให้ช่างทอผ้าเป็นของขวัญปีใหม่ โดยออกแบบลายให้มีความหมายถึง การส่งมอบความรัก ความสุข ให้ชาวไทยทุกคน เป็นการจุดประกายความคิดในการพัฒนาลายผ้าออกแบบให้ร่วมสมัย ใช้ได้จริง ในหลายโอกาส”

Advertisment

“ด้วยพระปรีชาชาญที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการต่อยอดลวดลายผ้าไทยให้เป็นที่ต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น พระองค์ได้พระราชทานลายผ้าพระราชทานเพิ่มเติมเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาลวดลายผ้าให้กับช่างทอผ้าและผู้ประกอบการทั่วประเทศ ได้แก่ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 พระองค์ได้พระราชทานลายผ้าบาติก 3 ลาย คือ ผ้าบาติกลายพระราชทาน “ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง” “ท้องทะเลไทย” “ป่าแดนใต้” และเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 พระราชทานลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ในการเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่บ้านนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม และครั้งล่าสุด คือ เมื่อครั้งเสด็จทรงงานที่จังหวัดพัทลุง วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 ได้พระราชทานผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ให้แก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน เพื่อเชิญไปมอบให้กับผู้ประกอบการผ้า ช่างทอผ้า ใช้ในการประยุกต์เข้ากับผลงานผืนผ้าทุกประเภททั่วประเทศ นับเป็นพระกรุณาธิคุณแก่ช่างทอผ้าและผู้ประกอบการผ้าไทยทั่วประเทศ”

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวอีกว่า สายธารพระกรุณาธิคุณที่พระราชทานผ่านกระทรวงมหาดไทยยังผลทำให้การส่งเสริมและต่อยอดทักษะฝีมือของช่างทอผ้าและผู้ประกอบการผ้าไทย ตลอดห้วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เกิดการเพิ่มพูน ทำให้พี่น้องผู้ประกอบการและช่างทอผ้าในทุกถิ่นที่ชนบทห่างไกลทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย สามารถลืมตาอ้าปาก มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง มีเงินมีทองให้ลูกหลานได้ร่ำเรียนหนังสือ ให้ครอบครัวได้มีกินมีใช้ และที่สำคัญ ทุกคนที่ได้น้อมนำพระดำริ “Sustainable Fashion” ต่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะพวกเขารู้จักการพึ่งพาตนเอง มีการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย ปลูกต้นไม้ให้สี ทำให้สามารถผลิตวัตถุดิบได้ด้วยตนเอง และย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้ยกย่องในพระปรีชาชาญว่า พระองค์ทำให้ช่างทอผ้าทั่วประเทศไทยได้ประกอบอาชีพที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

“กระทรวงมหาดไทย และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย น้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานพระดำริอันทรงคุณค่า สร้างคุณประโยชน์นานัปการอย่างอเนกอนันต์ จนทำให้ช่างทอผ้าได้มีการพัฒนาทักษะฝีมือ มีแนวทางการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง เกิดผลงานผ้าไทยแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่มเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก จึงเป็นที่มาของการน้อมนำแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” มาขับเคลื่อนขยายผล

Advertisment

ซึ่งสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ภายใต้การนำของ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย จึงได้น้อมนำพระดำริสู่การขยายผลร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ภายใต้การดำเนินการ “โครงการส่งเสริมการออกแบบตัดเย็บผ้าไทยภายใต้โครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”” โดยการประกวดการออกแบบตัดเย็บ “ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก” จากกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย ตลอดจนนักออกแบบและตัดเย็บชุดผ้าไทยจากทั่วทุกภาคของประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางด้านการตลาดและเพิ่มรายได้ให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย นักออกแบบและตัดเย็บชุดผ้าไทย รวมทั้งเป็นการสร้างการรับรู้การส่งเสริมการใช้และการสวมใส่ผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

ซึ่งมีกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย นักออกแบบและตัดเย็บชุดผ้าไทย และประชาชนทั่วไป สมัครเข้าร่วมประกวด รวมจำนวนทั้งสิ้น 270 ทีม โดยคณะกรรมการตัดสินซึ่งเป็นทีมผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย เจ้าของแบรนด์ THEATRE นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ ISSUE ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รวิเทพ มุสิกะปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอและเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมทางปัญญาและวิจัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกภูมิภาค ภาคละ 5 จังหวัด จะร่วมกันตัดสินคัดเลือก 10 ผลงานโดดเด่นที่มีความเป็นเลิศของแต่ละภาค เข้าสู่การประกวดระดับประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี”

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกวดการออกแบบตัดเย็บ “ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมแห่งการน้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ชาวกระทรวงมหาดไทย และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย น้อมนำมาเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างคุณค่าให้กับผืนผ้าไทย และเป็นการ “พัฒนาคน” สนองพระกรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานแนวทางอันเนื่องมาจากพระดำริ จนทำให้วงการแฟชั่นหันมาให้ความสนใจในการออกแบบชุดที่คนทั่วไปสวมใส่จากผืนผ้าไทยที่เป็นสุดยอดหัตถกรรมชั้นเลิศของคนไทย

เพราะ “ช่างตัดเย็บ” คือ กลไกที่สำคัญของวงจรการผลิตผ้าไทย ที่จะเป็นผู้รังสรรค์ออกแบบตัดเย็บผืนผ้าไทยให้เป็นที่ต้องการของตลาด สอดคล้องกับแฟชั่นสมัยนิยม ที่จะต้องใช้ศักยภาพที่มีมาผนวกกับชิ้นงานผ้าไทยที่มีความหลากหลายทั้งลวดลายหรือสีผ้า จึงต้องหมั่นออกแบบตัดเย็บ หมั่นพัฒนาตนเอง ด้วยการนำผ้าไทยที่มีจำนวนมาก มาทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทำให้คนไทยทุกคน ทุกช่วงวัย สามารถใส่ได้ในทุกโอกาส ทุกที่ เพราะทุกชิ้นงานที่ทุกท่านได้รังสรรค์ขึ้นนั้น ต่างเป็นสุดยอดผลงานที่เกิดจากความตั้งอกตั้งใจ โดยกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย มุ่งมั่นในการน้อมนำพระปณิธาน “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” สู่การขยายผลอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนได้มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง หนุนเสริมให้เศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจของประเทศไทยมีเสถียรภาพและคนไทยทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน