“PODIUM” LUXURY FURNITURE เรียนรู้จากวิกฤต พิชิตทุกอุปสรรค

เพราะ ‘บ้าน’ เป็นมากกว่าที่พักอาศัย แล้วจะทำอย่างไรเพื่อตอบโจทย์คนรักบ้าน?

การมองเห็นความสำคัญของ ‘บ้าน’ ว่าเป็นจุดศูนย์รวมแห่งความสุขและการเติบโตของสถาบันครอบครัว คุณจาริต เมาฬีกุลไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โพเดียม โฮลดิ้ง กรุ๊ป จำกัด ก่อเกิดแนวคิดการทำธุรกิจเพื่อตอบโจทย์คนรักบ้าน นำไปสู่การผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้งานฝีมือ รังสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์มากคุณภาพ ที่มีความร่วมสมัย สไตล์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดีทั้งจากต่างประเทศและในเมืองไทย

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme

‘นักวิจัยตลาด’ เห็นโอกาสทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์

คุณจาริต เล่าว่า ก่อนจะเริ่มก่อตั้งบริษัท โพเดียม โฮลดิ้ง กรุ๊ป จำกัด ในปี 2526 ได้ทำงานเป็นพนักงานด้านการวิจัยตลาดให้กับบริษัทต่างๆ ทั้งด้าน อุปโภค บริโภค และอุตสาหกรรม ก่อนจะรู้จักกับ ‘โรงงานเฟอร์นิเจอร์’ ทำให้ทราบว่าการตกแต่งบ้านคือสิ่งที่ผู้คนให้ความสำคัญ ‘บ้าน’ เป็นความสุขของคนในครอบครัวเพียงใด จึงเกิดแนวคิดการทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการนั้น

Advertisment

เฟอร์นิเจอร์ Build in สู่การผลิตสินค้าเพื่อส่งออก

หลังจากอยู่ในวงการเฟอร์นิเจอร์ Build in มา 5 ปี คุณจาริต กล่าวว่า บริษัทได้ร่วมมือกับบริษัท ซันวู้ดอินดัสทรีส์ จำกัด (มหาชน) ผลิตสินค้าส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านทางดีเลอร์ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมกับเป็นบายเออร์ให้กับลูกค้ารายใหญ่ในสหรัฐฯ เช่น เซียร์, อิเกีย, วอลมาร์ท

“สินค้าที่บริษัทส่งออกจะเป็นเฟอร์นิเจอร์เครื่องครัวจากไม้ยางพารา ซึ่งปี 2530 เป็นช่วงที่ประเทศไทยเริ่มทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ด้วยความที่วัตถุดิบราคาถูก ค่าแรงไม่สูง บ้านเราจึงเป็นที่ต้องการของตลาดในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่งออกไปยังต่างประเทศ”

Advertisment

‘สงครามอ่าวเปอร์เซีย’ จุดเปลี่ยนธุรกิจ

ขณะที่ธุรกิจส่งออกเฟอร์นิเจอร์กำลังไปได้ดี – เติบโตต่อเนื่อง คุณจาริต เผยว่า บริษัทได้เจอกับจุดเปลี่ยนสำคัญก็คือ ‘วิกฤตสงครามอ่าวเปอร์เซีย’ ปี 2533 ส่งผลให้ลูกค้าจากสหรัฐฯ ‘ชัตดาวน์ออเดอร์’ ทั้งหมด ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก เนื่องจากผลิตสินค้าไปแล้ว เฟอร์นิเจอร์พร้อมส่ง รวมถึงมีงานระวางการผลิต มีการ Packing Credit (กู้สินเชื่อเพื่อการส่งออก) ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตนเองได้เดินทางไปเจรจากับบริษัทจากสหรัฐฯ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ในวิกฤต ก่อเกิดโอกาสใหม่ทางธุรกิจ

สงครามอ่าวเปอร์เซียทำให้บริษัทเผชิญกับปัญหาครั้งใหญ่ แต่ด้วยการผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ได้มาตรฐานมีคุณภาพ จึงทำให้มีธุรกิจจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์จากประเทศญี่ปุ่นติดต่อเข้ามา เพื่อให้ทางบริษัทผลิตชิ้นส่วนเพื่อนำไปประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์

การเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียส่งผลให้การจำหน่ายสินค้าของบริษัทเปลี่ยนจากเชิงปริมาณเป็นเชิงคุณภาพ การทำธุรกิจกับบริษัทจากญี่ปุ่นทำให้ต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด ตอนผลิตเฟอร์นิเจอร์ให้กับบริษัทจากสหรัฐฯ โพเดียมได้เทคโนโลยี องค์ความรู้ แต่การทำธุรกิจกับบริษัทในญี่ปุ่นมีเคล็ดลับอยู่อย่างเดียวก็คือ ‘คุณภาพ’ ทำให้บริษัทได้ Know How ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์เพิ่มขึ้น ในฐานะเป็น OEM ผลิตเป็นชิ้นส่วนให้กับโรงงานญี่ปุ่น

จากนั้น คุณจาริต ได้ศึกษาเรียนรู้การทำเฟอร์นิเจอร์ของประเทศญี่ปุ่น เพื่อผลิตสินค้าคุณภาพ รวมถึงการนำ ISO 9000 มาพัฒนาการทำงานและการผลิตให้สม่ำเสมอขึ้น ทำให้ขณะนั้นสามารถส่งออกสินค้า 80-90% ไปยังญี่ปุ่น สร้างรายได้ประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี และนอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาจากสินค้าแบบชิ้นส่วนไปเป็นแบบผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (Finished Products) มากขึ้น

‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ กับการปรับตัวของ ‘โพเดียม’

ปี 2538 เพื่อรองรับตลาดในประเทศ ‘โพเดียม’ จึงได้ลงทุนสร้างโชว์รูมขนาดพื้นที่ 7,000 ตารางเมตร ในจังหวัดชลบุรี เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคซึ่งได้รับการตอบรับค่อนข้างดี ก่อนจะมาเจอกับวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ทำให้ยอดขายเฟอร์นิเจอร์หยุดชะงัก แต่บริษัทยังมีการผลิตสินค้าแบบ OEM ช่วยประคองธุรกิจ

วิกฤตต้มยำกุ้งทำให้บริษัทมีการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานในสายการผลิตใหม่ จากรูปแบบโรงงานทั่วไปมาเป็นระบบ JIT (Just-in-Time Production System) หรือระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี เพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัวและรองรับความหลากหลายของลูกค้าได้มากขึ้น

สำหรับระบบการผลิต JIT มีข้อดีคือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการผลิตที่เกินความจำเป็น โดย JIT นั้นจะเป็นการผลิตให้กับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ทีมผลิตใช้ความต้องการของลูกค้าเป็นตัวกำหนดจำนวนการผลิตและวัตถุดิบที่ต้องใช้ในการผลิต ซึ่งวัตถุประสงค์ของการผลิตแบบทันเวลาพอดีคือ

1. ต้องการควบคุมวัสดุคงคลังให้อยู่ในระดับที่น้อยที่สุดหรือเท่ากับศูนย์ (Zero Inventory)

2. ต้องการลดเวลานำหรือระยะเวลารอคอยในกระบวนการผลิตให้น้อยที่สุดหรือเท่ากับศูนย์ (Zero Lead Time)

3. ต้องการขจัดปัญหาของเสียที่เกิดขึ้นจากการผลิตให้เป็นศูนย์ (Zero Failures)

4. ต้องการขจัดความสูญเปล่าในการผลิต เช่น การผลิตมากเกินไป การรอคอย การขนส่งระยะทางที่มากเกินไป กระบวนการผลิตที่ขาดประสิทธิภาพ การมีวัสดุหรือสินค้าคงคลังเก็บไว้มากเกินความจำเป็น การเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็นของผู้ปฏิบัติงาน และผลิตภัณฑ์ไม่มีคุณภาพ

คุณจาริต เผยว่า เคล็ดลับการสร้างแบรนด์ของ ‘โพเดียม’ คือ การทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในสินค้า ซึ่งการจะทำให้บริษัทอยู่ในธุรกิจนี้ได้ ต้องมั่นใจว่าระบบการผลิตดีจริง มีคุณภาพ สามารถตรวจสอบได้ บริษัทจึงมีการนำระบบ ISO 9001: 2015 มาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ แล้วใช้สถาบันที่เป็นที่น่าเชื่อถือได้ทั่วโลกในการตรวจสอบและรับรองสินค้าที่ผลิตจากโรงงาน อาทิ SGS ,TUV RHEINLAND ซึ่งเป็น ‘อินเตอร์เนชั่นแนล เทสต์’ ที่ทั่วโลกให้การยอมรับมาใช้ควบคุมการผลิตของบริษัท

ขยายตลาดด้วยการพัฒนา ‘ดีไซน์’

สำหรับเรื่องนี้ คุณจาริต เล่าว่า ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด 19 กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นเฟอร์นิเจอร์ช็อปในต่างประเทศ โดยจะสั่งซื้อสินค้าแบบ OEM ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผู้ผลิตจากประเทศเวียดนามและจีนเข้ามาแข่งขันมากขึ้น บริษัทจึงพัฒนาดีไซน์ใหม่ๆ โดยใช้ดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลก และหาตลาดใหม่ที่มีความต้องการสินค้าเน้นงานดีไซน์มากขึ้น ขยายตลาด Contract กับโรงแรมในหลายประเทศรวมถึงในเมืองไทย

“การทำเฟอร์นิเจอร์เน้นดีไซน์ ไม่ใช่ว่ามีไอเดียดีไซน์แล้วจะสามารถทำงานได้ทันที เพราะมีขั้นตอน – รายละเอียดต่างๆ ซึ่งต้องใช้ความชำนาญสูง เพื่อให้ได้ตามที่ลูกค้าต้องการ”

‘โควิด’ ส่งผลอย่างไรกับธุรกิจ

คุณจาริต กล่าวว่า โควิดส่งผลให้ยอดขายในประเทศขยายตัวเนื่องจากผู้คนอยู่บ้านมากขึ้น แต่ยอดขายต่างประเทศได้รับผลกระทบพอสมควร เพราะบริษัทส่งออกประมาณ 70% ใน 30 ประเทศทั่วโลก
ธุรกิจออฟไลน์ได้รับผลกระทบแต่ธุรกิจออนไลน์เติบโต อย่างเช่นในสหรัฐฯ และยุโรป เกิดธุรกิจขายเฟอร์นิเจอร์ทางออนไลน์ซึ่งกำลังมาแรง ทำให้ยอดการสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์ของบริษัทจากธุรกิจออนไลน์เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ปัจจุบันลูกค้าในหลายประเทศ เช่น แอฟริกาใต้ เปรู ยูเออี เม็กซิโก เมื่อเห็นเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ของทางบริษัทผ่านเว็บไซต์ PODIUM รู้สึกชอบ-ถูกใจ ก็จะมีการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ แม้ค่าขนส่งจะมีราคาสูงกว่าสินค้าลูกค้าก็ให้ความสนใจจำนวนไม่น้อย

‘ออนไลน์’ โอกาสทางธุรกิจยุคโควิด

ในเรื่องนี้ คุณจาริต เล่าว่า หลังจากที่บริษัทเริ่มทำออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง ตั้งแต่ช่วงโควิด 19 ระบาด ส่งผลให้ยอดขายออนไลน์เติบโตขึ้นพอสมควร ซึ่งโควิด 19 นอกจากจะมีข้อเสียแล้วเราต้องพยายามหาข้อคิด ความรู้เพื่อให้บริษัทสามารถมีภูมิคุ้มกันจากปัญหาโรคระบาด เช่น การกระจายตลาด การผลิต ให้กว้างขวางขึ้นเพื่อที่จะสามารถ Shut Down บางส่วนเมื่อมีผลกระทบ และขยายบางส่วนเมื่อมีโอกาส ทำให้ธุรกิจแข็งแกร่งขึ้น รู้จักปรับตัวเมื่อเผชิญกับวิกฤตต่างๆ

“โควิดทำให้บริษัทต้องเปลี่ยนความเป็นตัวตนใหม่ ทำอะไรใหม่ๆ เพื่อสังคมมากขึ้น รวมถึงการตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคโดยการใช้โซเชียลมีเดีย”

การมองเห็นโอกาสทางธุรกิจของคุณจาริต เมาฬีกุลไพโรจน์ นำมาสู่การตอบโจทย์ความต้องการของคนรักบ้าน ก่อเกิดธุรกิจผลิตเฟอร์นิเจอร์คุณภาพ ที่ส่งผลให้บริษัท โพเดียม โฮลดิ้ง กรุ๊ป จำกัด ประสบความสำเร็จสามารถส่งออกกว่า 30 ประเทศ แต่บริษัทกลับไม่ยอมหยุดนิ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ใช้การผสมผสานเทคโนโลยีและการออกแบบใหม่ๆ ผลิตเฟอร์นิเจอร์คุณภาพออกมาเรื่อยๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อเจาะตลาดเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ทั่วโลก

รู้จัก ‘โพเดียม เฟอร์นิเจอร์’ ได้ที่

https://www.facebook.com/Podiumth/

https://www.podium.co.th/