การรับมือและรักษา ภาวะปัสสาวะบ่อยเกิน

สุขภาพดีกับรามาฯ ศ.นพ.วชิร คชการ

ภาวะปัสสาวะบ่อยเกินไป แม้จะไม่อันตรายแต่เป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หลายคนอาจจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังเผชิญความผิดปกตินี้อยู่

วิธีสังเกตว่าตัวเองเข้าข่ายหรือไม่ให้เปรียบเทียบความถี่ในการปวดปัสสาวะ หรือความถี่ในการเข้าห้องน้ำของตัวเองกับคนรอบข้าง อาจเป็นเพื่อนที่ทำงานหรือญาติพี่น้องในวัยเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน และสังเกตความสามารถในการควบคุมปัสสาวะว่าสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน หากไม่สามารถควบคุมได้ พบปัญหาปัสสาวะราดบ่อย ๆ หรือตอนกลางคืนลุกเข้าห้องน้ำจนไม่ได้นอน แบบนี้ก็เข้าข่ายผิดปกติที่ควรพบแพทย์

ผลกระทบจากภาวะนี้ คือ ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียโอกาสบางอย่างในชีวิต เช่น การเดินทางไปในบางที่ก็อาจไม่กล้าไปเพราะกลัวจะปวดปัสสาวะระหว่างเดินทาง ไปได้เฉพาะสถานที่เดิม ๆ ที่รู้ว่าห้องน้ำอยู่ไหน และอาจต้องวางแผนเตรียมการล่วงหน้าว่าเมื่อปวดจะสามารถวิ่งไปทิศไหนเพื่อเข้าห้องน้ำได้เร็วที่สุด โอกาสเดินทางไปต่างประเทศแทบไม่มีเลย อาจทำให้เก็บเนื้อเก็บตัว ไม่อยากเข้าสังคม กลายเป็นปัญหาระยะยาวและส่งผลต่อการเกิดโรคซึมเศร้าได้

หากในผู้สูงอายุมีภาวะดังกล่าวแล้วลูกหลานไม่เข้าใจ อาจถูกทิ้งไว้ที่บ้าน หรือจะไปไหนสักครั้งก็ต้องสำรองเสื้อผ้าไว้เยอะ ๆ เพื่อรองรับการสับเปลี่ยนเมื่อปัสสาวะราด ส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างเห็นได้ชัด ส่วนร่างกายอาจมีผื่นหรือกลิ่นไม่พึงประสงค์ เป็นต้น

ภาวะปัสสาวะบ่อยเกินไปไม่อันตรายถึงชีวิต เพียงแต่จะรบกวนการใช้ชีวิตของผู้ป่วย ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตของแต่ละท่านด้วยจึงจะประเมินได้ว่ากระทบมากน้อยแค่ไหน หากรู้สึกว่าเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตมาก ๆ ก็ควรเข้ารับการรักษา ซึ่งในการรักษาแพทย์จะตรวจดูก่อนเพื่อแยกเอาโรคอื่นออกไป โดยเฉพาะโรคที่อาการคล้าย ๆ กัน เช่น โรคเบาหวาน เนื้องอกในสมอง เป็นต้น หากพบเจอโรคเหล่านี้ก็จะรักษาโรคดังกล่าวแล้วภาวะปัสสาวะบ่อยเกินไปก็จะหายไปเอง

แต่ถ้าหากตรวจไม่พบโรคอะไรเลย จึงจะรักษาอาการบีบตัวไวเกินไปของกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งอาจเกิดจากพฤติกรรมของผู้ป่วย เช่น การรับประทานอาหารที่มีคุณสมบัติในการกระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ หากพบว่าคนไข้มีพฤติกรรมดังกล่าวก็ต้องให้คนไข้งดอาหารเหล่านั้น หรือการดื่มน้ำบ่อยในคนไข้บางราย หากพบว่ามีพฤติกรรมเหล่านี้ต้องให้คนไข้ปรับการดื่มน้ำ จากที่ดื่มตลอดทั้งวันก็ต้องเปลี่ยนไปดื่มเป็นช่วง ๆ ในผู้หญิงอาจต้องฝึกฝนการขมิบ ช่วยบรรเทากระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไปได้เช่นกัน

นอกจากนี้ การรับประทานยาเพื่อรักษาก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในกรณีที่ปรับพฤติกรรมแล้วไม่สำเร็จก็ต้องใช้ยา แต่ถ้าหากผู้ป่วยไม่สามารถทานยาได้จากภาวะบางอย่าง แพทย์ก็จะใช้วิธีการฉีดยาบางอย่างเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ เพื่อปรับสมดุลเส้นประสาท หากไม่ได้ผลอาจต้องใช้การผ่าตัด การใช้ไฟฟ้ากระตุ้น หรือกรรมวิธีที่มากขึ้นตามลำดับ

โรคดังกล่าวเป็นโรคที่ยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร จึงตอบไม่ได้ว่าสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ แต่ที่ผ่านมาพบว่าหลายรายหายจากอาการเพราะไม่มีสิ่งกระตุ้น อาจเกิดจากการปรับพฤติกรรมหรือจากปัจจัยอื่น บางรายก็หายเองตามธรรมชาติโดยที่แพทย์ไม่ต้องทำอะไร หรือบางรายก็เป็น ๆ หาย ๆ โรคดังกล่าวผู้ป่วยจำนวนมากสามารถดูแลตัวเองได้ ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตประจำวันและระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้น อย่างในคนที่ต้องขับรถตลอด ภาวะดังกล่าวอาจรบกวนมากกว่าคนทั่วไป เป็นต้น

บางคนก็มีวิธีที่แตกต่างในการจัดการกับตนเอง เช่น การใส่ผ้าอ้อม การใช้อุปกรณ์อื่นเสริม ที่สามารถช่วยได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา

หมายเหตุ : ศ.นพ.วชิร คชการ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล