สุดวิจิตร…พระจิตกาธาน ในหลวง ร.9 ดั่งวิมานส่งเสด็จสู่สรวงสวรรค์

หนึ่งในหัวใจสำคัญประกอบพระเมรุมาศ คือ “พระจิตกาธาน” ใช้สำหรับประดิษฐานหีบพระบรมศพจันทน์และพระบรมโกศ บริเวณโถงกลางพระเมรุมาศบุษบกประธาน ออกแบบโดย “นายก่อเกียรติ ทองผุด” นายช่างศิลปกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ

พระจิตกาธาน คือ เชิงตะกอน เป็นคำที่ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ ประกอบด้วยแท่นฐานสำหรับเผาทรงสี่เหลี่ยม ภายในใส่ดินเสมอปากฐานสำหรับวางฟืน ไม้จันทน์ พระจิตกาธาน มักประดับตกแต่งด้วยกระดาษสี และเครื่องสด เช่น ดอกไม้ ใบไม้ ใบตอง หยวกกล้วย และผลไม้บางชนิด เป็นต้น สำหรับเป็นเครื่องกันไฟ

ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระจิตกาธานตั้งอยู่บนฐานชาลาชั้นบนสุดภายในบุษบกองค์ประธาน

ซึ่งนายก่อเกียรติ อธิบายว่า การออกแบบพระจิตกาธานครั้งนี้ มีการศึกษารูปแบบตามโบราณราชประเพณี

ยึดจัดสร้างตามรูปแบบพระจิตกาธาน ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงบุษบกเรือนยอด 9 ชั้น แตกต่างตรงที่ขนาด

โดยพระจิตกาธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีความสูง 10.825 เมตร กว้าง 4.02 เมตร ยาว 5.52 เมตร ตามขนาดของพระเมรุมาศของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ใหญ่กว่าที่ผ่านมา ดังนั้น พระจิตกาธานจึงต้องมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย

โครงสร้างพระจิตกาธานทำด้วยไม้สักแกะลายปิดทองล้วงสี ซึ่งเป็นเทคนิคโบราณ ที่เรียกว่าการปิดทองหน้าลาย ข้างลายใช้สีครีมงาช้าง ให้กลมกลืนกับสีหีบพระบรมศพจันทน์และพระโกศจันทน์

ชั้นบนสุดประดับ “ยอดพรหมพักตร์” แกะจากไม้จันทน์ มีความหมายถึงพรหมวิหาร 4

ลายฐานสิงห์ แสดงถึงฐานานุศักดิ์ ลายบัวเชิงบาตร แกะลายให้เป็นลักษณะกลีบดอกบัว

ส่วนฐานจะมีการย่อไม้ ย่อมุม มีความโค้งให้ความรู้สึกนิ่มนวล สะท้อนพระจริยวัตรอันงดงามของในหลวง ร.9

การประดับพระจิตกาธานจะประดับด้วยเครื่องสด จัดทำโดยกองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง โดยมี “นายบุญชัย ทองเจริญบัวงาม” นักจัดการงานในพระองค์ชำนาญการ สำนักพระราชวัง เป็นผู้ดูแล

 

ข้อมูลจาก มติชนสุดสัปดาห์ และหนังสือธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดงานพระบรมศพ