Care the Wild ปลูกป้องผืนป่าบ้านชัฎหนองยาว

ปลูกป่า

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยดำเนินการขับเคลื่อนพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องในทุกมิติของสังคม ตามวิสัยทัศน์ To Make the Capital Market “Work” for Everyone ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงการเติบโตทางสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

โดยในมิติของสิ่งแวดล้อมดำเนินโครงการ Care the Wild ปลูกป้อง “Plant & Protect” ที่สอดคล้องกับกรอบของสหประชาชาติเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน (UNSDG Goal) ในข้อ 13 Climate Action และขับเคลื่อนด้วยการทำงานด้วย ข้อ 17 Partnership for the Goal

หนึ่งในพื้นที่ปลูกป่าของโครงการนี้ คือป่าชุมชนบ้านชัฎหนองยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี นับเป็นแปลงปลูกแรกของโครงการ ซึ่งเริ่มปลูกเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2562 บนพื้นที่ 10 ไร่ ต้นไม้ 2,000 ต้น โดยร่วมกับทีมงานกรมป่าไม้และชุมชน ด้วยการสนับสนุนจากองค์กรภาคตลาดทุน ประกอบด้วยศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ สำนักหักบัญชี ชมรมคัสโตเดียน ชมรมปฏิบัติการหลักทรัพย์ และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ภายใต้งบประมาณรวม 400,000 บาท นับเป็น success case ของโครงการ

“ยุภาวรรณ ศิริชัยนฤมิตร” ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานปฏิบัติการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายของประเทศไทย ที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวในการประชุม COP 26 โดยมีการกล่าวถึงการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงอยากชวนทุกคนมาช่วยขับเคลื่อน

โครงการ Care the Wild ปลูกป้อง“Plant & Protect” เป็นแพลตฟอร์มระดมทุนเพื่อสร้างป่า ด้วยการปลูกป่าใหม่ ปลูกป่าเสริม และส่งเสริมการดูแลป่าโดยเน้นการมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม และมุ่งสร้างระบบนิเวศให้สมดุลตั้งแต่ต้นทาง

Advertisment

“การสร้างป่าจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายประการ และระยะเวลา ดังนั้น พื้นที่เป้าหมายที่เราเลือกจะเป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างป่าได้จริง มีผู้ดูแลต้นไม้ มีการจัดการเรื่องแหล่งน้ำที่ดี เหตุผลที่เราเลือกป่าชุมชนบ้านชัฎหนองยาว เนื่องจากสภาพป่าในอดีตเป็นเขาหัวโล้น ขาดความอุดมสมบูรณ์ แต่ชุมชนมีจุดเด่นที่ความเข้มแข็ง และต้องการทุ่มเทเพื่อพัฒนาผืนป่า สร้างระบบนิเวศป่าไม้ พัฒนาเขตชุมชนให้เป็นพื้นที่สีเขียว”

ภายใต้โครงการ Care the Wild ซึ่งเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับพันธมิตรรวม 81 องค์กรเพิ่มผืนป่าไปแล้ว 11 ป่าชุมชน ใน 9 จังหวัดทั่วประเทศ รวมพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 312.5 ไร่ รวมต้นไม้กว่า 65,000 ต้น ซึ่งต้นไม้ที่ปลูกจะช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ 585,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

“ประเสริฐ ม่วงอยู่” ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวเสริมว่า ป่าชุมชนบ้านชัฎหนองยาวในอดีตมีปัญหาเรื่องการไหลของหน้าดินและแห้งแล้ง ชาวบ้านทำการเกษตรแล้วไม่ประสบความสำเร็จ

“สำหรับพันธุ์ไม้ที่เลือกปลูก เป็นพันธ์ไม้ที่จำเป็นสำหรับพื้นที่ เช่น กระบก ขี้เหล็กบ้าน น้อยหน่า มะขามป้อม สะเดา พะยอม พะยูง สัก มะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น ซึ่งการเติบโตของต้นไม้ที่ดำเนินการปลูกไปเมื่อปี 2562 ปัจจุบันพบว่าต้นไม้มีอัตรารอดตายกว่า 95% เติบโตแข็งแรง มีความสูงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 150 เซนติเมตร และวงรอบเติบโตประมาณ 15 เซนติเมตร อันเป็นผลมาจากการติดตั้งระบบน้ำหยดที่ทำให้ต้นไม้สามารถเติบโตได้ดีในช่วงฤดูแล้ง”

Advertisment

“สุชาติ ศิลปหัสดี” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยขมิ้น กล่าวว่า การเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชนบ้านชัฎหนองยาว ประสบความสำเร็จมาจากความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ สนับสนุนการระดมทุนจากองค์กรภาคตลาดทุน ทั้งยังให้อุปกรณ์จัดการการให้น้ำแก่ต้นไม้, กรมป่าไม้จัดการเรื่องการเตรียมต้นไม้พันธุ์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่, อบต.ดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำ และชาวบ้านช่วยออกแรงปลูกต้นไม้

“การร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านที่ช่วยกันดูแลอย่างเต็มกำลัง โดยตลอด 3 ปีไม่เคยเกิดไฟป่า ทั้งนี้ ชุมชนจะดูแลต่อเนื่องตลอด 6 ปี ตามเป้าหมายของโครงการที่มุ่งปลูกต้นไม้ให้ได้ป่าอย่างแท้จริง”

“สวอง บุตรทะวงษ์” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 บ้านชัฎหนองยาว กล่าวว่า เมื่อก่อนชุมชนบ้านชัฎหนองยาวมีพื้นที่ปลูกแห้งแล้งมาก เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เงาฝน ประกอบกับดินคุณภาพไม่ดีจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมานาน ก่อนทวงคืนเป็นป่าชุมชน ในอดีตชุมชนพยายามปลูกต้นไม้หลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ จากรูปแบบของโครงการ Care the Wild ทำให้ชุมชนมีงบประมาณดูแลจัดการ รวมถึงการวางระบบน้ำแบบน้ำหยด ต้นไม้จึงรอดตายและเติบโตดี เป็นต้นแบบการดูแลที่มีประสิทธิภาพ

“ผมต้องขอขอบคุณตลาดหลักทรัพย์ฯ และทุกหน่วยงานที่มาร่วมกันให้สิ่งดี ๆ กับหมู่บ้าน ทำให้ป่าที่เคยแห้งแล้งกลับมาเขียวขจีอีกครั้ง และชาวบ้านยังได้ใช้ประโยชน์จากผืนป่านี้ด้วย”