ส่อง 3 นวัตกรรมลดฝุ่นเชียงใหม่ แก้วิกฤตสูด PM 2.5 เข้าปอด

ฝุ่น PM 2.5 เชียงใหม่

หลายจังหวัดทางภาคเหนือได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นพิเศษในช่วงต้นปี โดยเฉพาะเชียงใหม่ที่นับว่าเป็นจังหวัดมีเสน่ห์เป็นลำดับต้น ๆ ของไทย เป็น high-season ที่กระตุ้นให้เศรษฐกิจคึกคักเป็นอย่างมาก

ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยวจะได้รับประโยชน์ แต่ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องในพื้นที่ต่างก็ได้รับเม็ดเงินจากบรรดานักท่องเที่ยว แต่ว่า เชียงใหม่กำลังอยู่ในวิกฤต เมื่อความชุกของฝนลดลง กลับเป็นฤดูกาลที่คนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือต้องต่อสู้กับฝุ่นควัน PM 2.5 เป็นพิเศษ เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาล้อม เมื่อมวลความกดอากาศสูงแผ่ลงมาปกคลุม ส่งผลให้ลมสงบ ฝุ่นละอองถ่ายเทได้ยาก จึงเกิดการสะสมของฝุ่นละอองและฝุ่น PM 2.5

ซึ่งองค์การอนามัยโลกจัดให้ฝุ่น PM 2.5 อยู่กลุ่มสารก่อมะเร็งที่มีโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งปอด โรคที่ส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของร่างกายและเพิ่มโอกาสให้ป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และโรคหลอดเลือดในสมองได้

ดังนั้น ปัญหาค่าฝุ่น PM 2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือมากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็น “วาระแห่งชาติ” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562

ที่ผ่านมาจะเห็นการแก้ปัญหาของหลายภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และเครือข่ายประชาสังคมผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น “สวนเจริญประเทศ” ป่ากลางเมืองเชียงใหม่ ขนาด 9 ไร่ ที่เกิดจากการยืนหยัดของชุมชน, “สวนผักคนเมือง” เปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นสวนผักกลางเมืองเชียงใหม่, “สวนสาธารณะริมน้ำปิงแห่งใหม่” พื้นที่เพื่อการเชื่อมวิถีชีวิตคนเชียงใหม่กับแม่น้ำให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง, “การพัฒนารถไฟฟ้าสำหรับนักเรียน” ซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงการ และ “การจัดการมลพิษอากาศในเมือง” เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 อย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น

เชียงใหม่

โอกาสไทย แก้ปัญหาฝุ่น

ส่อง 3 นวัตกรรมลดปัญหาฝุ่นระดับโลก โอกาสในการพัฒนาโซลูชั่นด้านอากาศของไทย

หนึ่ง Smog Free Tower: หอคอยปลอดควัน เครื่องฟอกอากาศกลางแจ้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีขนาดสูง 7 เมตร เทียบเท่าตึกสูงสี่ชั้น แถมยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะใช้กำลังไฟเพียง 1,400 วัตต์ ซึ่งจากการทดสอบพบว่าตัวเครื่องสามารถจับฝุ่นละออง PM 10 ได้มากถึงร้อยละ 70 และ PM 2.5 ได้ถึงร้อยละ 25 มีระบบการทำงานคล้ายกับเครื่องฟอกอากาศในโรงพยาบาล สามารถฟอกอากาศได้ถึง 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ปัจจุบันมีการติดตั้งที่เมืองรอตเทอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์

สอง Air-Purifying Billboard: เครื่องฟอกอากาศบนป้ายโฆษณาขนาดยักษ์ ตัวป้ายสามารถฟอกอากาศได้มากถึง 3.5 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือเทียบเท่ากับต้นไม้จำนวนกว่า 1,200 ต้น ผลงานจากมหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี เมืองลิมา ประเทศเปรู

สาม Photosynthesis Bike: จักรยานลดฝุ่นด้วยการเลียนแบบการสังเคราะห์แสงของพืช โดยการกรองคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านอุปกรณ์ระหว่างช่องแฮนด์จักรยาน และมีแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ฝังอยู่ในเฟรมจักรยานเป็นตัวช่วยสร้างออกซิเจน แม้ว่าผลงานนี้ยังเป็นแค่ไอเดียแต่คาดว่าจะสามารถนำมาใช้จริงได้ในอนาคต

ใช้กฎหมายบังคับคนไทยช่วยลดฝุ่น

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ปัจจุบันนวัตกรรมด้านการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทยยังมีไม่มากนัก และยังต้องใช้เงินทุนจำนวนหนึ่ง ดังนั้น การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและต้นทุนต่ำอย่างหนึ่งก็คือ การส่งเสริมให้คนในเขตเมืองเลือกใช้รถสาธารณะ และการเดินแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้น หรือช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กตั้งแต่ระเบียงหรือเขตพื้นที่บ้าน

ขณะที่ภาครัฐต้องจริงจังในการบังคับใช้กฎหมายกับยานพาหนะที่ปล่อยควันดำ เพิ่มมาตรการควบคุมการปล่อยควันจากโรงงานอุตสาหกรรม เพิ่มทางเท้า เพิ่มพื้นที่สาธารณะ รวมถึงศึกษานวัตกรรมและวิธีแก้ปัญหาจากประเทศที่สามารถแก้ไขปัญหาได้แล้ว เพื่อนำมาปรับใช้ เพราะปัญหาฝุ่นควันเป็นปัญหาที่เมืองใหญ่ทั่วโลกต่างก็พบเจอเช่นกัน

“ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยกระดับความรุนแรงขึ้น อาจทำให้โลกต้องเผชิญกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่ ดังนั้น NIA จึงให้ความสำคัญและพร้อมสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 หรือแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน ด้านนวัตกรรมสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นต้นแบบการขยายผลให้เข้าถึงปัญหาตามบริบทของพื้นที่และก่อให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมที่สามารถแก้ไขปัญหา ส่งเสริม สนับสนุน และยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างยั่งยืน”

ฝุ่น PM 2.5

NIA ปั้นนวัตกร สร้างสังคมสีเขียว

ตัวอย่างนวัตกรรมที่ NIA ส่งเสริมผ่านคนในพื้นที่ของจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ มีดังนี้

จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ที่มีการปลูกข้าวโพดจำนวนมาก NIA จึงผลักดันให้เกิดเป็นนวัตกรรมกระดาษจากเปลือกข้าวโพด บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นต้นแบบการจัดการวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ด้วยการรับซื้อเปลือกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้วนำมาเพิ่มมูลค่าเป็นกระดาษคุณภาพ โดยใช้กระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน และออกแบบพัฒนาเป็นปลอกสวมแก้วจากกระดาษและที่รองแก้ว

นอกจากนี้ ยังนำแนวคิดเกี่ยวกับการตลาดดิจิทัลมาใช้สำหรับการวางแผนการตลาด สร้างรายได้แก่เกษตรกร สร้างแบรนด์ให้กับบรรจุภัณฑ์ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการลดมลพิษจากการเผาทำลายเปลือกข้าวโพดด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสม

อีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจคือ นวัตกรรมการจัดการระบบนิเวศป่าเปียกชุมชน จากวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านห้วยต้นนุ่น อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้วยการพัฒนาระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ให้ป่าชุ่มชื้นขึ้น ลดการเกิดไฟป่า

อีกทั้งยังมีการพัฒนาระบบการจัดการด้านการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนผ่านเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานและยกระดับการแปรรูปของป่าให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ในการยังชีพ การสร้างรายได้ และดูแลทรัพยากรธรรมชาติในป่าชุมชนพร้อมๆ กันได้อย่างยั่งยืน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเมืองที่ไร้ฝุ่นควัน เพื่อทำให้หน้าหนาวในฝันของชาวเมืองเหนือกลับมาสดใสได้อีกครั้ง

ตลาดนัด