อินทรี อีโคไซเคิล ชูโมเดลรื้อร่อนขยะ ผลิตเป็นเชื้อเพลิง

ขยะรีไซเคิล

ปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยยังคงเป็นความท้าทายและทวีความรุนแรงขึ้นโดยจากรายงานของกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ในปี 2565 ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้น 25.70 ล้านตัน หรือ 70,411 ตัน/วัน กระจายตัวตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งนี้ อัตราการเกิดขยะมูลฝอยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร ปี 2565 ของกรมการปกครอง เฉลี่ยเท่ากับ 1.07 กิโลกรัม/คน/วัน

ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในปี 2565 มีปริมาณมากกว่าปีก่อนหน้าร้อยละ 3 โดยปี 2564 มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้น 24.98 ล้านตัน ทั้งนี้ ภาพรวมการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศไทย มีขยะถูกนำไปกำจัดอย่างไม่ถูกต้องประมาณ 5.40 ล้านตัน หรือร้อยละ 21 ของปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น 25.70 ล้านตัน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้จัดทำ roadmap การจัดการขยะพลาสติก ปี 2561-2573 โดยเป้าหมายสูงสุดคือ การนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570

ด้วยเหตุนี้ เทคโนโลยีและบริการต่าง ๆ ที่ช่วยในการบริหารจัดการของเสียของ บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด บริษัทในกลุ่มบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) จึงมีบทบาทสำคัญต่อการแก้ปัญหาขยะที่ยั่งยืน พร้อมกับการสร้างความร่วมมือที่แท้จริงตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน

“สุจินตนา วีระรัตน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด กล่าวว่า ขยะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพส่งผลกระทบต่อความยั่งยืน (circular economy)

สุจินตนา วีระรัตน์
สุจินตนา วีระรัตน์

การจัดการขยะที่ไม่ดีพอทำให้เกิดมลพิษในวงกว้าง ซึ่งอาจปนเปื้อนในอากาศที่เราหายใจ น้ำที่เราดื่ม และสถานที่ที่เราเรียกว่าบ้าน เป็นต้นเหตุทำให้สภาพความเป็นอยู่และสุขภาพของมนุษย์เสื่อมลง ดังนั้น หากต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ มนุษย์ต้องคิดใหม่ว่าจะมองขยะอย่างไร แทนที่จะมองว่าขยะเป็นปัญหา อินทรี อีโคไซเคิลจึงมองว่า ขยะคือ “ทรัพยากร” ที่ต้องบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทาง เพื่อใช้ทรัพยากรทุกประเภทอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนนำส่งไปกำจัดที่ปลายทาง ซึ่งเป็นทางออกที่ยั่งยืนได้จริง ๆ

“บริษัทเป็นผู้ให้บริการด้านการจัดการกากของเสีย และการบริการภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ที่ได้ดำเนินการมากว่า 22 ปี ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา เวียดนาม และศรีลังกา ครอบคลุมตั้งแต่การให้บริการเป็นที่ปรึกษา วิเคราะห์ของเสียในห้องปฏิบัติการ ไปจนถึงการขนส่งและกำจัดของเสียด้วยกระบวนการเผาร่วมในเตาปูนซีเมนต์ (co-processing of waste materials in cement kiln) ซึ่งการเผาร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์เป็นทางเลือกที่สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เราเล็งเห็นถึงปัญหาการจัดการขยะ โดยเฉพาะขยะที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ เช่น พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หลอดพลาสติก ถุงพลาสติกบางประเภท บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งขยะประเภทนี้มักจะถูกส่งไปยังบ่อขยะชุมชน และหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม หรือรั่วไหลสู่แหล่งน้ำ อย่างไรก็ตาม ขยะเหล่านี้ยังมีประโยชน์ หากมีการนำมากำจัดอย่างถูกต้อง

อินทรี อีโคไซเคิล จึงนำของเสียทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและขยะมูลฝอยชุมชน มาเป็นวัตถุดิบทดแทนหรือเชื้อเพลิงทดแทนเชื้อเพลิงหลัก เช่น การรื้อร่อนขยะที่เผาไหม้ได้จากบ่อขยะชุมชนมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF) ทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล จึงช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 ที่เกิดขึ้นจากการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล นับว่าสนับสนุนการปิดวงจร (close the loop) ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดมลพิษ ลดความต้องการพื้นที่ฝังกลบ และลดก๊าซเรือนกระจก”

นอกจากนี้ อินทรี อีโคไซเคิล ยังได้ขยายขีดความสามารถในส่วนการบริการภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะงานบริการทำความสะอาด งานบริการเกี่ยวกับท่อส่งและแท็งก์ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะสำหรับกลุ่มธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเคมี และโรงไฟฟ้า

ให้บริการครอบคลุมตั้งแต่ทำความสะอาด ตลอดจนจัดการของเสียที่เกิดขึ้นจากการทำความสะอาดได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพราะมีโซลูชั่นเฉพาะทางในการทำความสะอาดขยะด้วยสารเคมี การฉีดน้ำแรงดันสูงพิเศษ การขจัดสารปรอท การทำความสะอาดถัง การจัดการตัวเร่งปฏิกิริยา และบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

“สุจินตนา” กล่าวด้วยว่า อินทรี อีโคไซเคิล มุ่งมั่นขับเคลื่อนภายใต้วิสัยทัศน์ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี 2573” (INSEE Sustainability Ambition 2030) ของกลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง บริษัทมีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมเป็น “พันธมิตรสู่ความยั่งยืน” (partnership in sustainability) เพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าของเราบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนและมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

“การขับเคลื่อน circular economy ต้องทำไปพร้อมกับการจัดการขยะที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่ในปัจจุบันทั่วโลกมีปัญหามลพิษที่เกิดจากขยะและการบริหารจัดการขยะเพื่อนำกลับมาสู่วงจรรีไซเคิล หรือกลับมาใช้ใหม่ได้น้อยมากเมื่อเทียบกับการบริโภค ซึ่งขยะที่เหลือมีทั้งที่ทิ้งแบบถูกต้องและไม่ถูกต้อง”

ทั้งนี้ อินทรี อีโคไซเคิล ได้ริเริ่มและดำเนินโครงการร่วมกับพันธมิตรเพื่อนำหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility : EPR) มาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษของขยะพลาสติกอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้วที่มีมูลค่าต่ำหรือไม่นำไปรีไซเคิล โดยเฉพาะพลาสติกหลายชั้น พลาสติกยืดหยุ่น ถุงพลาสติก ภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว นำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ ลดการรั่วไหลไปสู่สิ่งแวดล้อมและท้องทะเล

โครงการจัดการพลาสติกในมหาสมุทรให้กลายเป็นโอกาสในเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ The Ocean Plastic Turned into an Opportunity in Circular Economy (OPTOCE) ที่ร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งนอร์เวย์ (SINTEF) เพื่อทำการวิจัยเกี่ยวกับศักยภาพของกระบวนการเผาร่วมพลาสติกคุณภาพต่ำในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ของประเทศไทย

รวมทั้งทำกิจกรรมเก็บขยะตามชายหาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับไมโครพลาสติกและการคัดแยกขยะที่เก็บได้เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงขยะ

ตลอดระยะเวลากว่า 22 ปีที่ผ่านมาอินทรี อีโคไซเคิล มุ่งมั่นเพื่อให้บริการด้านการจัดการของเสีย และบริการภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และเพิ่มคุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้า ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางโดยรวมของกลุ่มบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) และอินทรี อีโคไซเคิล ยังคงปรับตัวและเสริมสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจ เพื่อสนับสนุนลูกค้าและพันธมิตรให้บรรลุเป้าหมายในการมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน