กทม. เก็บกระทง 6.39 แสนใบ เพิ่มจากปีก่อน 6.7 หมื่นใบ กระทงโฟมลดลง

ลอยกระทง 2566 กทม เก็บกระทง

กทม. เผยยอดกระทงที่เก็บได้ในปี 2566 ทั่วกรุง 6.39 ใบ เพิ่มจากปีก่อน 6.7 หมื่นใบ สัดส่วนกระทงธรรมชาติเพิ่มขึ้น กระทงโฟมลดลง กระทงดิจิทัลมากกว่า 3 พันใบ

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขต 50 เขต ได้จัดเก็บกระทงที่ประชาชนนำมาลอย เนื่องในเทศกาลลอยกระทงกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566

โดยสำนักสิ่งแวดล้อม จัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา สำนักการระบายน้ำ จัดเก็บในคลองและบึงรับน้ำที่รับผิดชอบ ส่วนสำนักงานเขต 50 เขต จัดเก็บในสวนสาธารณะที่เปิดให้ประชาชนลอยกระทง และบริเวณพื้นที่จัดงานภายในเขต ตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 แล้วเสร็จก่อนเวลา 05.00 น. ของวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566

โดยจัดเก็บกระทงได้จำนวนทั้งสิ้น 639,828 ใบ เพิ่มขึ้น 67,226 ใบ จากปี 2565 ที่จัดเก็บได้จำนวน 572,602 ใบ หรือคิดเป็นร้อยละ 11.74

แบ่งเป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่ายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น หยวกกล้วย ใบตอง มันสำปะหลัง ชานอ้อย ขนมปัง จำนวน 618,951 ใบ คิดเป็นร้อยละ 96.74 ส่วนกระทงที่ทำจากโฟมมีจำนวน 20,877 ใบ คิดเป็นร้อยละ 3.26 ของกระทงทั้งหมด

ทั้งนี้ กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 95.70 เป็น ร้อยละ 96.74 ส่วนกระทงโฟม ลดลงจากร้อยละ 4.30 เป็นร้อยละ 3.26

ในส่วนของการลอยกระทงดิจิทัลผ่าน Projection Mapping ซึ่งเป็นการลอยกระทงมิติใหม่ที่กรุงเทพมหานครจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเทศกาลลอยกระทงประจำปีนี้ ณ คลองโอ่งอ่าง บริเวณสะพานบพิตรพิมุข มีประชาชนให้ความสนใจร่วมลอยกระทง จำนวน 3,744 ใบ

คลองสามวากระทงมากสุด

สำหรับพื้นที่เขตที่มีปริมาณกระทงมากที่สุด คือ เขตคลองสามวา จำนวน 31,575 ใบ และเขตที่มีปริมาณกระทงน้อยที่สุด คือ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จำนวน 160 ใบ

เขตที่มีปริมาณกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติมากที่สุด คือ เขตคลองสามวา เช่นกัน จำนวน 31,560 ใบ และเขตที่ปริมาณกระทงโฟมมากที่สุด คือ เขตบึงกุ่ม จำนวน 1,579 ใบ

ทั้งนี้ สวนสาธารณะที่เปิดให้บริการ 34 แห่ง มีประชาชนมาใช้บริการรวมทั้งสิ้น 290,886 คน รวมปริมาณกระทงที่จัดเก็บได้ จำนวน 88,011 ใบ คิดเป็นสัดส่วนประชาชนต่อจำนวนกระทง 3 คน ต่อ 1 ใบ โดยสวนสาธารณะที่มีประชาชนมาใช้บริการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อุทยานเบญจสิริ สวนลุมพินี และสวนเบญจกิติ

สำหรับกระทงที่จัดเก็บได้ กรุงเทพมหานครจะนำไปคัดแยกและส่งไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอย 3 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม และศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เพื่อนำไปทำลายอย่างถูกวิธี โดยกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้ จะนำเข้าสู่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์หนองแขม ส่วนกระทงโฟมจะนำเข้าสู่กระบวนการฝังกลบต่อไป