คีย์ซักเซส “ไทยเบฟ” สร้าง “คน” ผ่าน Coaching Culture

ดร.เอกพล ณ สงขลา
ดร.เอกพล ณ สงขลา

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ถูกคัดเลือกให้เป็นสุดยอดองค์กรที่น่าร่วมงานมากที่สุดในเอเชีย โดยนิตยสาร HR Asia อีกทั้งยังคว้ารางวัลในด้านอื่น ๆ เช่น การใส่ใจพนักงานยอดเยี่ยม, การเปลี่ยนรูปแบบการทำงานสู่โลกดิจิทัล รวมถึงการสนับสนุนความหลากหลาย ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมของพนักงาน

กล่าวกันว่า ความสำเร็จเหล่านี้ล้วนเกิดจากแนวทางในการบริหารทรัพยากรบุคคลของ “ดร.เอกพล ณ สงขลา” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล และสมรรถนะองค์กร จนทำให้เขามาเปิดเผยเบื้องหลังความสำเร็จให้ฟังว่าไทยเบฟมีวิธีการสร้างคนผ่านการใช้ “Coaching Culture” ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้ในการพัฒนาบุคลากรทุกระดับมาอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้ง “Coaching Culture” ยังส่งผลให้คว้ารางวัลระดับนานาชาติอย่าง Marshall Goldsmith Outstanding Coaching Leader Award 2023 for Thailand ที่มอบให้กับผู้บริหารองค์กรที่มีความเป็นเลิศในการพัฒนาบุคลากรด้วยการ Coaching มาได้เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนผ่านมา ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ที่สำคัญ ไทยเบฟยังเป็นองค์กรแห่งแรกของประเทศไทยที่รับรางวัลนี้ด้วย

“ดร.เอกพล” กล่าวว่า ไทยเบฟมีบุคลากรทั้งหมดมากกว่า 60,000 คน แบ่งเป็น พนักงานในประเทศไทย 43,000 คน และพนักงานในต่างประเทศรวม 15,000 คน ปัจจุบันไทยเบฟมีธุรกิจอยู่ในมาเลเซีย, สิงคโปร์, เมียนมา, กัมพูชา, เวียดนาม ไปจนถึงอังกฤษ ล่าสุดมีประเทศนิวซีแลนด์ และฝรั่งเศสด้วย

องค์กรจึงมีความมุ่งมั่นพัฒนา และเสริมทักษะความสามารถของบุคลากรมาตลอดทุกปี ปัจจุบันเราพยายามปรับมุมมองการทำงานของ HR ให้กลายเป็น HC หรือ Human Capital ซึ่งจะทำให้ทุกคนได้พัฒนาศักยภาพและเติบโตไปพร้อม ๆ กับองค์กร ด้วย Coaching Culture ซึ่งคือหนึ่งในจุดแข็ง และ DNA ของไทยเบฟ ที่ผู้บริหารกว่า 100 คน และพร้อมส่งต่อให้กับพนักงานรุ่นต่อ ๆ ไป โดยหัวใจของ Coaching Culture มีอยู่ 3 สิ่ง ประกอบด้วย

หนึ่ง การสื่อสาร ไทยเบฟเราเปิดกว้างเรื่องความคิด และวัฒนธรรมที่แตกต่างให้ทุกคนได้ตั้งคำถาม แลกเปลี่ยนไอเดียกันอย่างสร้างสรรค์โดยไม่ปิดกั้น พร้อมการสนับสนุนจากระดับผู้บริหารที่ได้รับการรับรอง และอบรมเรื่องการโค้ชชิ่งมาเป็นอย่างดีจนสามารถถ่ายทอดให้กับพนักงานรุ่นใหม่ได้อย่างไม่ติดขัด

สอง ความเข้าใจ ไทยเบฟตั้งใจสร้างบรรยากาศการโค้ชชิ่งให้เปิดกว้าง และสร้างความผูกพันระหว่างพนักงานด้วย One-on-One Communication Culture ส่งเสริมการพูดคุย ให้กำลังใจซึ่งกันและกันตลอดการทำงานไปจนถึงการแก้ปัญหาทั้งเรื่องงาน และเรื่องอื่น ๆ

สาม การส่งต่อ นอกเหนือจากการสร้างความสัมพันธ์ภายในให้แข็งแกร่งด้วยการโค้ชชิ่งที่ทุกคนกล้าที่จะพูดคุย แบ่งปัน เพื่อเติบโตไปด้วยกัน การส่งต่อวัฒนธรรมนี้สู่สังคมอื่น ๆ เช่น น้อง ๆ นิสิต นักศึกษาฝึกงานโครงการ ThaiBev Internship ก็เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของไทยเบฟที่พร้อมจะปลดล็อกศักยภาพของทุกคนด้วยการ Coaching and Mentoring เพื่อสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ และช่วยขับเคลื่อนองค์กรและประเทศชาติต่อไป

“นอกเหนือจากเรื่องของการ Coaching Culture ที่ไทยเบฟขัดเกลาให้กับพนักงานทุกระดับมาโดยตลอด โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ยังมีเรื่องของการให้โอกาสเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด เนื่องจากในองค์กรเรามีคนทำงานหลากหลายกลุ่ม ทั้งเจน X เจน Y เจน Z ไปจนถึงกลุ่ม baby boomer

โดยอายุเฉลี่ยของพนักงานจะประมาณ 35 ปีไปจนถึง 30 ปลาย ๆ แตกต่างจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีพนักงานในช่วงอายุเฉลี่ยที่ 45 ปี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเจน X และ Y โดยที่น่าสังเกตคือปัจจุบันเรามีกลุ่มเจน X ประมาณ 25-30% จากที่ผ่านมาเคยมีอยู่ 50% นั่นหมายความว่าองค์กรของเราเริ่มมีคนรุ่นใหม่มากขึ้น”

“ทั้งนี้ ไทยเบฟยังมีแนวทางส่งเสริมศักยภาพคนรุ่นใหม่ เมื่อก่อนอาจจะคุ้นเคยกับวัฒนธรรมที่ให้คนรุ่นเก่าชี้นำ แต่ปัจจุบันเราให้อำนาจคนรุ่นใหม่มีส่วนในการตัดสินใจมากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่สร้างโปรเจ็กต์เพื่อแสดงฝีมือ ไม่เว้นแม้แต่การเจรจาทางธุรกิจคนรุ่นใหม่ก็มีส่วนมากขึ้น”

“ดร.เอกพล” กล่าวอีกว่า อนาคตเทคโนโลยีจะพลิกโฉมการทำงานอย่างมหาศาล จะพบความท้าทายหลายด้าน โดยความท้าทายภายใน ไทยเบฟมีพนักงาน 60,000 คนทั่วโลก เราต้องวางแผนในการพัฒนาให้พวกเขาประสบความสำเร็จ ด้วยการ upskill reskill เป็นความมุ่งมั่นขององค์กร สร้างโอกาสใหม่ ๆ พัฒนาโอกาสปัจจุบัน เพื่อให้พนักงานทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล

รวมถึงการขยายธุรกิจ สร้างงานใหม่ ๆ จากโลกที่เปลี่ยนแปลง เพราะไทยเบฟพร้อมจะเดินทาง และพัฒนาคนให้เก่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งยังเปิดโอกาสให้ทำงาน และเติบโตไปด้วยกัน

และเมื่อดูข้อมูลปี 2565 เรื่องสถิติการอบรม และพัฒนาคนเพื่อเพิ่มศักยภาพ ไทยเบฟจะให้เวลาถึง 21 ชั่วโมง/ปี/คน ขณะที่ปี 2566 ก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นเป็น 25 ชั่วโมง/คน โดยแพลตฟอร์มพัฒนาคนมี 3 ส่วนหลัก ได้แก่ leadership skills, funtional skills และ general skills และทุกปีผู้บริหารจะลงมาพูดคุยกับผู้บริหาร และทีมงานทรัพยากรบุคคล เพื่อจัดลำดับความสำคัญทิศทางพัฒนาทรัพยากรคน

“ทั้งยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาระดับความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กรให้ถึง 90% ในปี 2573 ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันระดับความผูกพันของพนักงานจะอยู่ที่ 83% ดังนั้น จึงเชื่อแน่ว่าระดับความผูกพันของพนักงานน่าจะบรรลุเป้าหมายก่อนปี 2573”

นอกจากนั้น จากการจัดทำแบบสำรวจพนักงาน Employee Engagement Survey ปี 2566 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน โดยเฉพาะการใส่ใจคนรุ่นใหม่ให้สามารถขยายศักยภาพและประสบความสำเร็จ การพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรที่ใส่ใจการเติบโต ผูกพันของพนักงานก็เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในระยะยาว

“ส่วนความท้าทายจากปัจจัยภายนอก ทั้งสถานการณ์เรื่องค่าแรงงานที่จะมีการปรับขึ้นในอนาคต ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทุกองค์กรต่างต้องเตรียมพร้อมรับมือ โดยบริษัทพร้อมปรับให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ พร้อมกับการบริหารจัดการต้นทุนภายในให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไปจนถึงการขยายกลุ่มเซ็กเมนต์ใหม่ ๆ เช่น กลุ่มพรีเมี่ยม เพื่อเพิ่มคุณค่า และมูลค่าให้แก่สินค้าอีกทางหนึ่ง”

อย่างไรก็ตาม Marshall Goldsmith Outstanding Coaching Leader Award 2023 ถือเป็นอีกบทพิสูจน์ความสำเร็จ ทั้งยังเป็นกำลังใจ และนำความภาคภูมิใจสู่คณะผู้บริหาร และพนักงานทุกคนของกลุ่มไทยเบฟ ทั้งนั้นเพื่อตอกย้ำความเป็นองค์กรในฝันคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นพลังใจเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านการบริหาร และพัฒนาทรัพยากรบุคคล ในฐานะผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารที่มั่นคง และยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน