ซีเอ็ดมอบหนังสือให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ส่งต่อห้องสมุด 923 แห่ง 

ซีเอ็ด-กสร

ซีเอ็ด มอบหนังสือให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ มูลค่า 7.6 ล้านบาท ส่งต่อความรู้ให้แก่ห้องสมุดประชาชน 923 แห่งทั่วประเทศ

วันที่ 22 ธันวาคม 2566 นายรุ่งกาล ไพสิฐพานิชตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ซีเอ็ด กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ซีเอ็ดได้มอบหนังสือและสื่อการเรียนรู้ให้กับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ มูลค่า 7,680,337 บาท เพื่อส่งต่อความรู้ให้แก่ห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 923 แห่ง

โดยซีเอ็ดเราคือผู้ให้บริการหนังสือและสื่อความรู้ทั่วประเทศ ทั้งยังเป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจไปพร้อมๆ กับการตอบแทนสังคม เรามีหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยไม่แสวงหาผลกำไร นั่นคือ “มูลนิธิคนไทยเก่งขึ้น” เรามีความมุ่งหวังที่อยากจะให้อ่านหนังสืออยู่ในทุกไลฟ์สไตล์ของคนไทย เรามุ่งส่งเสริมองค์ความรู้ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ในเชิง HARD SKILL และSOFT SKILL หรือในเชิงของสื่อด้านการบันเทิง ซีเอ็ดพร้อมร่วมสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) เพื่อเป็นการกระจายองค์ความรู้ไปสู่ทั่วทุกภูมิภาค และมีความตั้งใจที่อยากสนับสนุนให้คนไทยในยุคดิจิทัลได้เรียนรู้ เพื่อพัฒนาตนเองจากการอ่านอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ด้านว่าที่ร้อยเอก วิสาร ปัญญชุณห์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่สนับสนุนให้คนไทยรักการอ่าน และส่งเสริมการเรียนรู้ ผลักดันเพื่อให้การอ่านเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย เรามีแผนพัฒนาและปรับปรุงห้องสมุดทั่วประเทศ เพื่อให้คนไทยสนใจรักการอ่านมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจองค์กรของเรา

อย่างไรก็ตาม สำหรับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีการโอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ และภาระผูกพันทั้งปวง มาจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ( กศน.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.)

ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 มีหน้าที่จัด ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ ซึ่งการส่งเสริมการเรียนรู้ ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ มุ่งพัฒนาบุคคลให้มีทักษะการเรียนรู้ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิตที่สอดคล้องและเท่าทันพัฒนาการของโลก มีโอกาสพัฒนาหรือเพิ่มพูนทักษะของตนให้สูงขึ้นหรือปรับเปลี่ยนทักษะของตนตามความถนัดหรือความจำเป็น ผ่านการมีส่วนร่วมของ 3 เสาหลัก ได้แก่ รัฐ เอกชน และท้องถิ่น