ศธ.เปิดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ยกระดับคุณภาพการศึกษาทุกช่วงวัย

นางสาวตรีนุช เทียนทอง
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

กระทรวงศึกษาธิการ เปิดกรมส่งเสริมการเรียนรู้อย่างเป็นทางการ หวังช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของคนทุกช่วงวัย

วันที่ 14 มิถุนายน 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานพิธีเปิดป้าย “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” และงาน Open House “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” โดยมีผู้บริหารระดับสูงและผู้แทนองค์กรหลักเข้าร่วม

นางสาวตรีนุชกล่าวว่า กรมส่งเสริมการเรียนรู้ถือเป็นหน่วยงานที่สำคัญ ในการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาตัวเอง หรือกระทั่งการยกระดับคุณวุฒิให้ประชาชนและการเรียนรู้ทุกช่วงวัย เข้าไปดูแลประชาชนในทุกระดับให้ได้รับการเรียนรู้ ที่วันนี้ไม่ใช่การเรียนรู้เฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น แต่สามารถพัฒนาการเรียนรู้ให้ทันโลกที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

“นับตั้งแต่มีการจัดตั้งกองการศึกษาผู้ใหญ่ เพื่อส่งเสริมการรู้หนังสือของประชาชน หรือที่เรารู้จักกันในนามสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นหน่วยงานที่สำคัญต่อการพัฒนาคนให้มีความรู้ ความสามารถยกระดับการศึกษาของประชาชนให้สูงขึ้น

รัฐบาลและ ศธ.ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และเห็นว่าควรมีการปรับโครงสร้างหน่วยงานภายในเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศ จึงได้มีการผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 และจัดตั้งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ขึ้น

Advertisment

ถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนคนไทยทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส จะสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทุกรูปแบบ ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภายใต้ปรัชญา No One Left Behind หรือการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

นางสาวตรีนุชกล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญในการจัดตั้งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ คือการเชื่อมโยงรูปแบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่ทำอยู่เดิม กับรูปแบบการเรียนรู้ ในบริบทสังคมยุคปัจจุบัน มีการจัดตั้งหน่วยจัดการเรียนรู้ที่จะขยายตัวรองรับทุกพื้นที่ ตอบโจทย์ความต้องการของคนยุคใหม่ ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา ดังนั้น สกร.จึงเป็นหน่วยงานที่ต้องมีการปรับตัว ให้ตอบสนองความต้องการทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง