“เอสซีจี” องค์กรแห่งโอกาส หนุนปั้นนวัตกรรมกรีน

เอสซีจี หรือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และเป็นองค์กรธุรกิจชั้นนำของอาเซียน ที่มีอายุยาวนานกว่า 111 ปี บริษัทแสดงความมุ่งมั่นทุ่มเทกับการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกับหาโซลูชั่นเพื่อรับมือและแก้วิกฤตโลกร้อน ที่สำคัญเอสซีจีเปิดโอกาสให้ทุกคนร่วมสร้างการเติบโตในสังคมคาร์บอนต่ำ สอดคล้องกับแนวทาง “องค์กรแห่งโอกาส” (Organization of Possibilities)

“ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมกรีนเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาโลกเดือด แน่นอนว่าภาครัฐและภาคธุรกิจจะต้องดำเนินการอย่างชัดเจน รวดเร็ว และรอบด้าน แต่การเปลี่ยนผ่านสู่โลกคาร์บอนต่ำก็ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงพนักงานขององค์กรด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบเศรษฐกิจที่ซับซ้อน

ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม
ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม

ปัจจุบันเอสซีจีมีพนักงานกว่า 55,000 คน ทั้งในและต่างประเทศ ที่ผ่านมา เราสนับสนุนให้พนักงานแสดงความสามารถ ปล่อยแสงแสดงไอเดียที่จะต่อยอดเป็นนวัตกรรมกรีนได้ เพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ คุณภาพชีวิตดี เศรษฐกิจโต สังคมและสิ่งแวดล้อมน่าอยู่ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นอกจากพนักงานแล้ว เรายังสนับสนุนพาร์ตเนอร์และคนทั่วไปทุกคนด้วย ทั้งนี้ในปี 2567 ตั้งงบฯพัฒนากระบวนการผลิตคาร์บอนต่ำและนวัตกรรมกรีน 10,000 ล้านบาท ผ่านแนวคิด “องค์กรแห่งโอกาส” (Organization of Possibilities) ที่ประกอบด้วยหลายระดับ ได้แก่

หนึ่ง โอกาสเปลี่ยนไอเดียเป็นนวัตกรรม ส่งเสริมกลุ่มพนักงานและนักศึกษาในประเทศไทย เช่น ให้พนักงานก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการกับโครงการสตาร์ตอัพภายในองค์กร ZERO TO ONE by SCG โดยติดอาวุธทักษะความรู้ ตั้งแต่เริ่มทำความเข้าใจลูกค้า ค้นหาปัญหา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้า และการขยายฐานลูกค้าเพื่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม อาทิ Design Thinking, Generative AI, Data Analytics

Advertisment

ปัจจุบันมีผู้ร่วมกว่า 800 คน และมีสตาร์ตอัพในโครงการ 100 สตาร์ตอัพ เช่น Wake Up Waste แพลตฟอร์มรถบีบอัดขยะ ช่วยให้ขยะเล็กลง ขนส่งได้ปริมาณมากขึ้น เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ Dezpax แพลตฟอร์มออนไลน์แพ็กเกจจิ้งครบวงจรรายแรกในไทย สำหรับธุรกิจร้านอาหาร ฟู้ดดีลิเวอรี่ และคาเฟ่

ขณะเดียวกันยังเปิดเวที SCG Young Talent Program บ่มเพาะนวัตกรรุ่นใหม่จากมหาวิทยาลัยทุกชั้นปี ทุกสาขาผ่านการทำงานกับเอสซีจี แบบทำจริง เจ็บจริง (Bootcamp) เป็นเวลา 13 สัปดาห์ เพื่อร่วมสร้างนวัตกรรมดิจิทัล ตอบเทรนด์อนาคต มีคนรุ่นใหม่เข้าร่วมแล้วกว่า 850 คน

นอกจากนั้น สนับสนุนให้พนักงานทุกระดับเสนอไอเดียพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ได้เสมอ สร้างวัฒนธรรมเปิดใจ ใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ พัฒนาตัวเอง ไม่ยึดติดจากความสำเร็จเดิม (Open & Challenge)

สอง โอกาสพัฒนานวัตกรรมระดับโลก สนับสนุนการวิจัยภายในองค์กรและร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก เช่น ร่วมกับ Norner AS ศูนย์วิจัยและพัฒนาพลาสติก ประเทศนอร์เวย์ และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน

Advertisment

รวมทั้งร่วมมือกับสตาร์ตอัพจากสหรัฐอเมริกา Rondo Energy เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ที่พลิกโฉมอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ เช่น แบตเตอรี่กักเก็บความร้อนจากพลังงานสะอาด

สาม โอกาสร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งเครือข่ายภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม เพื่อรวมพลังสร้างสังคมคาร์บอนต่ำที่เติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน เช่น ขับเคลื่อนสระบุรีแซนด์บอกซ์ สร้างเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย พาไทยมุ่งสู่ Net Zero ทั้งนี้ ปี 2567 เอสซีจีตั้งงบฯพัฒนากระบวนการผลิตคาร์บอนต่ำและนวัตกรรมกรีนกว่า 10,000 ล้านบาท

“ธรรมศักดิ์” กล่าวด้วยว่า พลังขององค์กรแห่งโอกาสทำให้เอสซีจีสร้างสรรค์หลากหลายนวัตกรรมกรีนโดนใจ ลดคาร์บอนไดออกไซด์ ควบคู่กับเพิ่มฟังก์ชั่นใช้งานที่ตอบโจทย์ลูกค้า สังคม สิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น อาทิ นวัตกรรมงานโครงสร้างและการตกแต่ง

เช่น นวัตกรรมปูนคาร์บอนต่ำและคอนกรีตคาร์บอนต่ำ จาก “เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน” ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แข็งแรง ได้มาตรฐาน ผิวเรียบ อายุยาวนาน สามารถตอบโจทย์โครงการรักษ์โลกต่าง ๆ ได้อย่างดี

นวัตกรรมการลดการใช้พลังงาน จากระบบปรับอากาศในอาคาร ด้วย SCG Air Scrubber นวัตกรรมการสร้างพลังงานสะอาดสำหรับใช้ภายในบ้าน-อาคารตลอด 24 ชั่วโมง ด้วย SCG Solar Hybrid Solutions ตลอดจนโซลูชั่นใหม่อย่าง Microgrid and Energy Storage System ช่วยกักเก็บพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ไว้สำหรับใช้ในช่วงต่าง ๆ ของวัน

นวัตกรรมตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ครบวงจร โดย “เอสซีจี เดคคอร์” ที่เพิ่งเปิดตัว Cotto Clay Decor Collection ดูดซับความร้อนได้ดี ช่วยให้บ้านเย็น ประหยัดพลังงาน

นวัตกรรมจากเอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ที่ช่วยสร้างความยั่งยืนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การพัฒนายูคาลิปตัสเพื่อเป็นวัตถุดิบทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการนำกระดาษรีไซเคิลสู่กระบวนการผลิต พัฒนากระบวนการผลิตให้ลดคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย Machine Learning และปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเพิ่มทางเลือกบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลและใช้ซ้ำได้

นวัตกรรมพลาสติกรักษ์โลก จากเอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) ภายใต้แบรนด์ SCGC GREEN POLYMERTM พร้อมนำเสนอกรีนโซลูชั่นตามแนวทาง Low Waste, Low Carbon โดยได้ขยายกำลังการผลิตพลาสติกรีไซเคิลในยุโรป ได้แก่ “ซีพลาสต์” ประเทศโปรตุเกส เพิ่มขึ้น 9,000 ตันต่อปี เป็น 45,000 ตันต่อปี และ “คราส” ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพิ่มขึ้น 9,000 ตันต่อปี เป็น 18,000 ตันต่อปี

ขณะที่ในภูมิภาค เอสซีจีร่วมกับคู่ธุรกิจมุ่งเปลี่ยนของใกล้ตัวผู้บริโภคให้กรีนยิ่งขึ้น อาทิ ร่วมกับ HomePro พัฒนาเครื่องใช้ไฟฟ้ารักษ์โลกครั้งแรกในไทย โดยรีไซเคิลพลาสติกจากเครื่องใช้ไฟฟ้าใช้แล้วให้กลับมาผลิตใช้ใหม่

นอกจากนั้นร่วมกับ Braskem ผลิตพลาสติกชีวภาพ ที่เปลี่ยนการใช้วัตถุดิบตั้งต้นจากฟอสซิลเป็นวัตถุดิบชีวภาพ มีปริมาณการปล่อยคาร์บอนเป็นลบ ร่วมกับ Denka ผลิต Acetylene Black ซึ่งเป็นสารนำไฟฟ้าสำคัญสำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ EV มุ่งสู่ Green Mobility พร้อมทั้งนวัตกรรมสุดล้ำล่าสุดที่ SCGC พัฒนาร่วมกับ Avantium ในการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นพอลิเมอร์คาร์บอนฟุตพรินต์เป็นลบ

“ธรรมศักดิ์” กล่าวในตอนท้ายว่า เอสซีจีไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และต้องการพาองค์กรอื่น ๆ มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำด้วย จึงให้ “เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่” ช่วยภาคธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ ด้วยแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานสะอาดอัจฉริยะ “Smart Grid” เพื่อเข้าถึงพลังงานแสงอาทิตย์สะดวกยิ่งขึ้น

รวมทั้งนวัตกรรมแห่งอนาคตอย่าง “แบตเตอรี่กักเก็บพลังงานความร้อนจากพลังงานสะอาด” ทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทำความร้อนหรือไอน้ำในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม

ตลอดจน “เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์” พร้อมเป็นตัวกลางเชื่อมต่อสังคมโลว์คาร์บอน ซัพพอร์ตลูกค้าและคู่ธุรกิจ มุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ใน Scope 3 ด้วยบริการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่นำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ กลุ่มธุรกิจคลังสินค้าห้องเย็น มีการใช้เทคโนโลยีจัดเก็บและจ่ายสินค้าอัตโนมัติ

หรือ ASRS พร้อมด้วยระบบโซลาร์รูฟเปลี่ยนสู่การเป็นคลังสินค้าประหยัดพลังงาน ลดการใช้เชื้อเพลิง ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนั้น ยังมีนวัตกรรมด้านกรีนโลจิสติกส์อื่น ๆ เช่น รถขนส่งพลังงานไฟฟ้าระบบคำนวณเส้นทางอัจฉริยะ และหุ่นยนต์ลำเลียงอัตโนมัติ ที่ช่วยสร้างความยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ

“เอสซีจีสามารถเดินหน้านวัตกรรมกรีนมาจนถึงวันนี้ มียอดขายนวัตกรรมรักษ์โลก SCG Green Choice ร้อยละ 53 จากยอดขายทั้งหมด และมุ่งสู่เป้าหมายยอดขายร้อยละ 67 ภายในปี 2573 ก็เพราะพลังของทุกคน เราจึงพร้อมเดินหน้าสนับสนุนและชวนทุกคนปล่อยแสงเต็มที่ เพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำที่ผู้คนมีคุณภาพชีวิตดี เศรษฐกิจเติบโต สังคม สิ่งแวดล้อมน่าอยู่ เปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ตามแนวทาง Inclusive Green Growth”

เอสซีจีนับเป็น “องค์กรแห่งโอกาส” หนุนพลังคนปล่อยแสงร่วมมือทุกภาคส่วน เปลี่ยนไอเดียให้เป็นนวัตกรรมระดับโลก เพื่อสังคมคาร์บอนต่ำ