ถอดบทเรียน 4 ผู้นำ เรียนรู้วิกฤตไวรัสสร้างบริษัทยั่งยืน

การระบาดของโควิด-19 เป็นวิกฤตครั้งใหญ่ระดับโลกที่ยังไม่มีใครตอบได้ว่า โรคนี้จะสงบลงเมื่อใด จึงทำให้ผู้ประกอบการหลายคนกำลังพยายามบริหารจัดการเรื่องการทำงานของพนักงานทุกคน เพื่อช่วยพยุงธุรกิจผ่านพ้นในแต่ละวัน

“ประชาชาติธุรกิจ” จึงรวบรวมเทคนิคสำคัญที่ผู้บริหารจาก 4 องค์กรชั้นนำ ที่ร่วมเสวนาแบบถ่ายทอดสดออนไลน์ทางเฟซบุ๊ก ในโครงการ “รวมพลัง ผู้นำเข้มแข็ง” ที่จัดโดยบริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จํากัด ทั้งนั้นเพื่อแชร์วิธีการทำงาน และการบริหารจัดการพนักงานให้บริษัทอื่น ๆ ก้าวข้ามผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

ปตท.ตั้งศูนย์พลังใจช่วยพนักงาน

วรพงษ์ นาคฉัตรีย์

“วรพงษ์ นาคฉัตรีย์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืน และผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและเฝ้าระวัง กรณีโรคอุบัติใหม่ โควิด-19 : ศูนย์พลังใจ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ทำธุรกิจเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บริษัทจึงพุ่งเป้าไปที่การหาแนวทางว่าทำอย่างไรจึงจะส่งต่อพลังงานไปให้ประชาชนได้ตลอดและทั่วถึง โดยได้คำตอบว่า เราต้องดูแลพนักงานของเราอย่างดี ให้ปลอดภัยจากโควิด เพราะพวกเขาคือกำลังสำคัญ

“เราจึงจัดตั้งศูนย์พลังใจ เป็นศูนย์ติดตาม และเฝ้าระวัง กรณีโรคอุบัติใหม่โควิด-19 โดยมีเจ้าหน้าที่ในศูนย์ 20 คน คอยให้ข้อมูลแก่พนักงานในการดูแลตัวเอง และให้กำลังใจ โดยพนักงานสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ตลอดเวลา นอกจากนั้น เรายังมีมาตรการดูแลพื้นที่ การคัดกรอง และมีแพทย์ในพื้นที่ต่าง ๆ ของเราด้วย ดังนั้น หลังจากเราออกมาตรการความปลอดภัยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ด้วยการเริ่มต้นระงับการเดินทางไปในพื้นที่ต่าง ๆ ให้น้อยลง ทั้งยังมีข้อกำหนดในการดูแลตัวเอง และคอยเฝ้าติดตามข่าวสารทุกวัน เพื่อมาปรับปรุงงานของเรา ตรงนี้เป็นข้อดีที่เรามีโครงการ Work at Home มาเป็นปีแล้ว”

“เพราะเราเล็งเห็นความสำคัญของ work life balance จึงให้พนักงานทำงานที่บ้านเดือนละ 3 ครั้ง เป็นโครงการที่ถูกใจคนรุ่นใหม่ เป็นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการทำงาน และการสื่อสาร ทั้งยังทำให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข พอมาในช่วงนี้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 พนักงานจึงมีความพร้อมทำงานที่บ้านอย่างเต็มรูปแบบ ลดการมาทำงานที่ออฟฟิศให้น้อยลง 92%”

“นอกจากนี้ วัฒนธรรมองค์กร 3P ยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ช่วงเวลานี้ไปได้ด้วยดี เพราะหนึ่งในนั้น คือ P ที่มาจาก people ทั้งนั้นเพราะบริษัทเชื่อมั่นในการทำธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลคนในองค์กร และสังคม โดยเราให้อุปกรณ์ที่จำเป็นกับพวกเขาในการดูแลป้องกันตัวเองจากไวรัส

โควิด-19 ส่วน P ต่อมา คือ planet คือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันเป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ส่วน P ตัวสุดท้าย คือ prosperity อันหมายถึงฐานความมั่นคงแก่ภาคเศรษฐกิจ และสังคม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี”

“TU” ใช้วิกฤตอัพสกิลพนักงาน

ธีรพงศ์ จันศิริ

ธุรกิจที่มีพนักงานกว่า 45,000 คนทั่วโลก อย่างบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)-TU มีฐานการผลิตอยู่ทั่วโลกทั้งในประเทศไทย, เวียดนาม และหลายประเทศในยุโรป, ทวีปแอฟริกา และทวีปอเมริกา สำหรับเรื่องการบริหารจัดการคนในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาดนั้น

“ธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บอกว่า เรื่องแรกที่บริษัทให้ความสำคัญ คือ หนึ่ง ความปลอดภัยของพนักงาน ทำอย่างไรถึงจะให้พนักงานเชื่อมั่นว่ามาทำงานแล้วปลอดภัย เราจึงมีมาตรการคอยดูแลสุขภาพของพนักงานอย่างเคร่งครัด สอง ความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยทำให้เกิดความมั่นใจว่าสินค้าของเราปลอดภัยจากเชื้อโรค และสาม การดำเนินธุรกิจให้ต่อเนื่อง

“TU ดำเนินธุรกิจมาเป็นปีที่ 43 มี 3 กลุ่มสินค้าหลัก คือ อาหารทะเลกระป๋อง, อาหารทะเลแช่แข็ง และอาหารสัตว์เลี้ยง วิกฤตครั้งนี้ส่งผลกับการขายอาหารทะเลแช่อย่างมาก เพราะช่องทางการขายของสินค้ากลุ่มนี้คือ ภัตตาคาร และร้านอาหารหลายแห่งที่ปิดทำการในสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่เรามาได้อาหารทะเลกระป๋อง และอาหารสัตว์เลี้ยงช่วยพยุงธุรกิจไว้”

“สิ่งสำคัญที่เราต้องดูแลเป็นพิเศษ คือ เรื่องของกระแสเงินสด ทำอย่างไรถึงจะให้มีเงินหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา เพราะกระแสเงินสดของเราลดลงจากบัญชีลูกหนี้ที่ประสบปัญหาช่วงวิกฤต มีการขอเลื่อนการชำระเงิน ซึ่งเป็นส่วนที่เราต้องคอยดูแล เราจึงให้ทีม crisis management ดูแลสถานการณ์การเงินในช่วงนี้ มีการประชุมออนไลน์กันวันเว้นวันทั่วโลก เพื่อให้กระแสเงินสดมีสภาพคล่อง และถึงแม้จะเป็นช่วงวิกฤต เรายังมีโอกาสในบางช่องทาง เช่น การตลาดดิจิทัลที่มีการสั่งซื้ออาหารกระป๋องเพิ่มมากขึ้น อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน สินค้าปลาทูน่ากระป๋องในประเทศไทยช่วงสองเดือนนี้มีการขายมากขึ้น 3 เท่า และเป็นโอกาสที่ทำให้เราขยายฐานผู้บริโภคทางตลาดดิจิทัลได้มากกว่าตอนสถานการณ์ปกติ ทางทีมการตลาดของเราก็สามารถออกแบบเมนูต่าง ๆ จากทูน่ากระป๋อง ด้วยการเชื้อเชิญผู้บริโภคให้ลองทำทานเองอย่างสร้างสรรค์”

นอกจากนั้น “ธีรพงศ์” ยังมองว่า ช่วงนี้ยังเป็นโอกาสให้พนักงานทุกคนได้เรียนรู้เพิ่มทักษะต่าง ๆ เพราะการทำงานที่บ้านมีเวลามากขึ้น 3 ชั่วโมง พวกเขาไม่ต้องเสียเวลากับการเดินทาง ผมจึงออกนโยบายให้มี e-Training ช่วยพัฒนาทักษะพนักงานทางออนไลน์ มีตารางเวลาให้เข้าเรียน และมีการสอนสดออนไลน์ ซึ่งมีสมาชิกในการเรียนรู้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน

“ส่วนการทำงานที่บ้านมี 60% เพราะบางส่วนยังจำเป็นต้องมาทำงานที่สำนักงาน เช่น กลุ่มงานวิจัยที่ต้องใช้อุปกรณ์แล็บ และฝ่ายเอกสารส่งออก สิ่งที่เราเป็นห่วง คือ เรื่องของสุขภาพจิตและสุขภาพกายของพนักงานเราทั่วโลก เพราะพนักงานส่วนใหญ่อาจมีที่พักอาศัยไม่ได้กว้างขวาง และพักอยู่รวมกันหลายคน เป็นระยะเวลานาน”

“เราเริ่มเห็นสุขภาพจิตของพนักงานหลายคนมีปัญหาจากความเครียด บริษัทจึงจัดกิจกรรมที่เชื่อมต่อสื่อสารพนักงานที่ทำงานที่บ้าน เรียกว่า coffee talk ที่ไม่คุยเรื่องงาน แต่เป็นการคุยเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ เพื่อสร้างความรู้สึกว่าบริษัทยังดูแลติดตามพวกเขา ไทยยูเนี่ยนเน้นการเปิดโอกาสในการสื่อสารให้กับพนักงาน และผมเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนสามารถส่งข้อความหาผมตลอดเวลา ผมมองว่าประเทศไทยจะอยู่ในสถานการณ์อย่างนี้จนถึงสิ้นปี”

“ดังนั้น ผู้บริหารต้องเริ่มคิดวางแผนเหตุการณ์หลังโควิด-19 ตั้งแต่วันนี้ เพราะเศรษฐกิจทั้งโลกกำลังจะถดถอย กำลังซื้อลดลง พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไป ส่วนหลายองค์กรอาจต้องทบทวนเรื่องการบริหารจัดการจำนวนคนให้เหมาะสมกับอนาคตที่จะเกิดขึ้นภายใน 2-3 ปีข้างหน้า เพื่อเร่งพนักงานมีทักษะการใช้เทคโนโลยีให้เก่งขึ้น”

“ธ.กรุงเทพ” ถอดบทเรียนจากจีน

ทวีลาภ ฤทธาภิมย์

สถาบันการเงินถือเป็นองค์กรที่อยู่ตรงกลางของระบบเศรษฐกิจ ทั้งยังเป็นตัวผ่านการลงทุนในด้านต่าง ๆ และที่ผ่านมาสถาบันการเงินหลายแห่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กันหลายแห่ง จนทำให้ระบบเศรษฐกิจชะงักงัน “ทวีลาภ ฤทธาภิมย์” กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า บริษัทเริ่มเห็นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ถดถอยมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จากการลดลงของนักท่องเที่ยวจีนอย่างฮวบฮาบ ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเริ่มมีผลกระทบ กระทั่งเมื่อเกิดวิกฤตจากไวรัสโควิด-19 ในตอนนี้ ซึ่งทั้ง 2 วิกฤตต่างส่งผลกระทบกับลูกค้า SMEs ของธนาคาร ทำให้เราต้องทำงานหนัก และต้องคิดหากลยุทธ์มาช่วยลูกค้ามากขึ้น

“สำหรับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ธนาคารกรุงเทพผ่านวิกฤตอย่างราบรื่นกับสาขาธนาคารในประเทศจีน เราจึงถอดบทเรียนจากประเทศจีนมาประยุกต์ใช้ในไทย โดยจีนมีการเว้นระยะทางสังคม เข้มงวดเรื่องการคัดกรอง ที่สำคัญ ทุกหน่วยงานต้องรายงานไปที่รัฐบาลจีน ว่ามีคนป่วยหรือไม่มี หรือแม้กระทั่งงดการเปิดแอร์ที่ทำงาน แต่จะหันมาเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศหมุนเวียน”

“ความท้าทายการทำงานที่บ้าน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผมมองว่าการทำงานที่บ้านจะเป็นแนวทางในการทำงานในอนาคต และเชื่อว่าน่าจะมี productivity มากกว่า ถ้าเราบริหารจัดการดี ๆ อาจจะได้เห็นไอเดียใหม่ ๆ ของพนักงาน เพราะพวกเขาได้ทำงานในที่ที่มีความเป็นส่วนตัว มีความสบายใจ และช่วงนี้เป็นโอกาสที่ผู้บริหารจะได้ทบทวนว่าการทำงานที่บ้านมีความจำเป็นแค่ไหนในอนาคต”

“ไทยสมุทร” เน้นข้อมูลปลอดภัย

นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์

“นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บอกว่า ธุรกิจของบริษัทแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ การขายประกันชีวิตและประกันสุขภาพ, การลงทุน และการบริการวางแผนทางการเงิน เนื่องจากบริษัทมีพอร์ตการลงทุนเกือบแสนล้านบาท โดยการลงทุนในส่วนใหญ่อยู่ในพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ หุ้นกู้เอกชน หุ้น และสินเชื่อ

“ดังนั้นในสถานการณ์ช่วงนี้ หุ้นแต่ละตัวมีโอกาสได้รับผลกระทบ ตราสารหนี้มีโอกาสที่จะด้อยค่า ที่สำคัญ บริษัทได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องมาก่อนหน้านี้แล้ว เพราะ GDP ของประเทศไทยไม่เติบโต จึงมีผลโดยตรงกับการขายประกันชีวิต เนื่องจากคนไม่มีเงินมาออมในประกันชีวิต บวกกับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก บริษัทจึงต้องปรับอัตราดอกเบี้ยให้น้อยลง นอกจากนั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อยอดขาย เพราะตัวแทนขายประกันกับลูกค้ากลัวที่จะพบเจอกัน”

“แต่ถึงอย่างไร เรายังไม่มีนโยบายในการลดพนักงาน หรือหยุดงานโดยไม่ได้ค่าจ้าง โดยตอนนี้เรามีพนักงานรวม 2,000 คน แบ่งเป็นพนักงานที่สำนักงานใหญ่ 800 คน ตอนนี้ทำงานอยู่ที่บ้าน 90% เพราะธุรกิจประกัน ข้อมูลของลูกค้าสำคัญที่สุด เราจึงต้องมีระบบความมั่นคงที่ปลอดภัย ถึงจะปล่อยให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ แต่สำหรับพนักงานสาขาต่างจังหวัด พวกนี้ยังต้องมาทำงาน เพราะลูกค้าต้องการเข้ามาพบเพื่อทำธุรกรรมต่าง ๆ แต่กระนั้น เราเองก็มีวิธีบริหารจัดการความปลอดภัยให้กับพนักงาน และลูกค้า”

“ดิฉันมองว่าตอนนี้บริษัทต่าง ๆ ต้องมาทบทวนว่าจะให้พนักงานทำงานในออฟฟิศอยู่หรือไม่ เพราะการทำงานที่บ้าน นอกจากจะช่วยประหยัดพื้นที่ในออฟฟิศ ยังประหยัดค่าน้ำและค่าไฟ แต่กระนั้น จะต้องเพิ่มทักษะการทำงาน และจัดลำดับความสำคัญของการทำงานในแต่ละโปรเจ็กต์ให้ดี นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ เพื่องานจะได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

อันเป็นคำตอบของ 4 ผู้นำองค์กรที่กำลังต่อสู้กับวิกฤตไวรัสร้ายครั้งนี้