มองมุมคิด “FPT” ความหลากหลายคือความยั่งยืน

ธนพล ศิริธนชัย
ธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country CEO) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

หลังจากเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ “FPT” เปิดเกมรุกเดินหน้าธุรกิจด้วยการสร้าง one platform ผสานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 3 กลุ่ม ครอบคลุมทั้งอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย (residential) ภายใต้แบรนด์โกลเด้น, อสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรม (commercial) ประกอบด้วย อาคารสำนักงานให้เช่า รีเทล โรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ รวมถึงโครงการมิกซ์ยูส ตั้งอยู่บริเวณใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ และอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม (industrial) เข้ามาไว้ในแพลตฟอร์มเดียวกัน

ภายใต้แบรนด์เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ จนขึ้นแท่นกลายเป็นผู้นำอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรรายแรกในประเทศไทย

“ธนพล ศิริธนชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country CEO) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การรวมกันของ 3 ธุรกิจ นำมาซึ่งความท้าทายหลายด้าน ทั้งในด้านการบริหารธุรกิจ และการรวมพนักงานจาก 3 กลุ่มเป็นหนึ่งเดียวกัน ตอนนี้พนักงานของเฟรเซอร์สมีทั้งหมด 1,500 คน แบ่งเป็น head office ฝ่ายบริหาร ฝ่ายบัญชี ประมาณ 600 คน ที่เหลือกระจายอยู่ตามโครงการกว่า 70 โครงการ และโรงงานอีก 10 กว่าแห่ง

“โดยพนักงานทั้งหมดมีพื้นฐาน และแบ็กกราวนด์การทำงานที่ไม่เหมือนกัน แม้จะอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ฉะนั้น การรวมคนจากหลากหลายเข้ามาอยู่ด้วยกัน จึงเป็นความท้าทายว่าเราจะสื่อสารอย่างไรให้พวกเขาเข้าใจหลักการทำงานขององค์กร เป้าหมายขององค์กร รวมถึงวัฒนธรรมองค์กร”

“ผมมองว่าข้อดีของการรวมกันอันดับแรก คือ synergy เพราะทำให้เกิดการแบ่งปัน เชื่อมโยง และต่อยอดความรู้ ความชำนาญ เทคโนโลยี ทรัพยากร เงินทุน และฐานลูกค้า จาก 3 ธุรกิจ เพื่อสร้าง ecosystem ทางธุรกิจ หมายถึง พอรวมกันก็จะเอาความถนัด ความชำนาญการของแต่ละธุรกิจมาสนับสนุนกัน มีฐานลูกค้าจากธุรกิจหนึ่งมาซื้อธุรกิจหนึ่ง”

“ยกตัวอย่าง ลูกค้าบ้าน อาจมาเช่าออฟฟิศ ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมอาจจะมาซื้อบ้าน หรือในมุมของฟังก์ชั่นงานบางอย่างเราควบคุมตรงกลางได้มากขึ้น โดยใช้ระบบเดียวกัน ไม่ต้องแยก ก็จะช่วยสร้างศักยภาพการแข่งขัน ช่วยเสริมความแข็งแกร่ง ความทนทาน (resilience) เตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนต่าง ๆ เพราะธุรกิจต่างมีวงจรของตัวเอง อย่างช่วงนี้เกิดภาวะวิกฤตโควิด คนอยู่บ้านมากขึ้น ถามว่าธุรกิจแวร์เฮาส์ดีไหม ต้องบอกว่าดี เพราะว่าคนต้องการที่เก็บของมากขึ้น อีคอมเมิร์ซก็โตขึ้น”

“ส่วนความต้องการในเรื่องของธุรกิจโรงงาน สำนักงานให้เช่าก็ยังเติบโตได้ดี ส่วนเรื่องบ้านแนวราบก็กลายเป็นว่าขายดีมาก ปีที่แล้วเกือบ sold out เพราะโควิดมา คนก็อยากจะไปอยู่แบบ open air มากขึ้น แต่ในส่วนของธุรกิจออฟฟิศ สำนักงานให้เช่า ภาวะการแข่งขันราคาอาจจะสู้กัน แต่พอเรามี 3 ส่วนมาอยู่ด้วยกันก็จะช่วยเหลือกันได้บางองค์กรมีธุรกิจเดียว ไม่มีทางอื่นรองรับการเปลี่ยนแปลงก็อาจจะแย่ของเราโชคดีที่โอกาสแย่พร้อมกันจะน้อย”

“ธนพล” กล่าวต่อว่า ส่วนพนักงานในองค์กร พอมารวมอยู่ด้วยกันก็ทำให้เกิดความหลากหลาย (diversity) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเพศสภาพ หรือเจเนอเรชั่น ตรงนี้เป็นประเด็นที่เฟรเซอร์สฯให้ความสำคัญมาตั้งแต่ระดับกรุ๊ป เพราะเฟรเซอร์สฯเป็นองค์กรระดับอินเตอร์เนชั่นแนล มีประวัติความเป็นมากว่า 100 ปี เพราะบริษัทแม่เราจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่สิงคโปร์

“ที่สำคัญ เราทำธุรกิจอสังหาฯมากมาย เริ่มจากรีเทลศูนย์การค้าออฟฟิศ บ้าน คอนโดฯ บริหารกว่า 70 แห่งทั่วโลก มีคนมากมายหลายหมื่นคน ก็เลยเป็นองค์กรที่มีความหลากหลาย แต่ความหลากหลายในระดับอินเตอร์กับไทยแตกต่างกัน เพราะต่างประเทศมีคนหลากหลายเชื้อชาติ สีผิว แต่ของไทยคือเรื่องเพศสภาพไม่ว่าจะผู้หญิง หรือชาย เฟรเซอร์สฯเปิดโอกาสให้แสดงศักยภาพเต็มที่ เรามีสัดส่วนพนักงานหญิงมากถึง 51% และในจำนวนนี้เป็นระดับผู้จัดการ ผู้บริหารกว่า 44% อาจจะด้วยธรรมชาติของผู้หญิงค่อนข้างมีความอดทน ทำงานเก่ง ทุ่มเทกับงานมาก”

“เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ถือว่าประเทศไทยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงแสดงศักยภาพตนเองมากที่สุด จะเห็นว่าไทยมีสัดส่วนผู้หญิงก้าวขึ้นมาสู่ระดับผู้บริหารมากกว่าประเทศอื่นด้วยซ้ำ ฉะนั้น เฟรเซอร์สฯก็ไม่ได้ปิดกั้น หากมีความสามารถก็เปิดโอกาส มีการโปรโมตทุกปี ขึ้นอยู่กับผลงาน เพราะผมมองว่าในการทำงานไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไร ไม่เกี่ยวว่าจะต้องเป็นผู้หญิงหรือชาย ทุกธุรกิจ ทุกองค์กร ให้ความสำคัญกับตรงนี้มากขึ้น เวลารับคนเข้ามา เขาไม่มองเรื่องเพศ แต่มองเรื่องทักษะความสามารถมากกว่าว่าจะเข้ามาขับเคลื่อนองค์กรของเขาได้มากน้อยแค่ไหน”

“อีกกลุ่มคือ LGBT ต่าง ๆ ก็มีสัดส่วนอยู่บ้าง ถือเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความกล้าในการแสดงออก เราก็ต้องสนับสนุนเขาให้ถูกทาง ที่สำคัญ ในองค์กรเรามีคนหลากหลายเจเนอเรชั่น ตั้งแต่ เจน X, Y, Z แต่เจน X ค่อนข้างมากกว่า ฉะนั้น เจน Y ก็มีบ้าง และเจน Z ก็กำลังจะเข้าสู่โลกการทำงาน เราต้องมีวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการทำงานของคนทุกเจเนอเรชั่น ปรับวิธีการทำงานให้มีความยืดหยุ่นได้มากขึ้น เพื่อคนรุ่นต่อไปเข้ามาจะสามารถอยู่กับเราได้ เช่น สามารถเข้าออกออฟฟิศได้ไม่จำกัดเวลา สามารถทำงานจากที่บ้านได้ บริษัทก็ต้องปรับตัวตามสภาพตลอดเวลา”

ที่สำคัญ “FPT” มี “ค่านิยมองค์กร” แก่พนักงานหลายด้าน เพื่อให้พนักงานกว่า 1,000 คน ทำงานร่วมกันได้ และยอมรับความแตกต่าง ได้แก่

หนึ่ง การผสานพลัง สร้างทีม (collaborate) ด้วยการสร้างความสัมพันธ์บนพื้นฐานการเปิดรับ และให้ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยมีวัตถุประสงค์เดียวกัน และมีเป้าหมายร่วมกัน รวมทั้งมีความเข้าใจในบทบาท หน้าที่ความรับผิดชอบกิจกรรม และแนวทางที่ทำให้เกิดความร่วมมือในการทำงานอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

สอง ความเป็นเจ้าของงาน (sense of ownership) หมายถึงให้ความสำคัญและคำนึงถึงผลประโยชน์ขององค์กรมีความเข้าใจถึงเป้าหมายขององค์กรในภาพรวม รวมทั้งหาแนวทางพัฒนาการทำงานและธุรกิจให้เติบโต รู้จักการวางแผน และบริหารจัดการงบประมาณ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีกลับคืนสู่องค์กร และพร้อมที่จะทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างเต็มที่ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายที่วางไว้

สาม ใส่ใจลูกค้า และผู้รับบริการ (customer centric) ต้องมีความกระตือรือร้นในการรับฟังข้อมูล และร่วมกำหนดแนวทางในการออกแบบผลิตภัณฑ์ และบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันทั้งภายในและภายนอก และคาดการณ์ความต้องการที่เป็นไปได้ในอนาคตได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งวางแผนเชิงรุกในการตอบสนองและจัดการกับความต้องการนั้น ๆ

สี่ เชื่อมั่นในความเชี่ยวชาญของแต่ละคน (believe in each other’s expertise) ยอมรับในความเชี่ยวชาญในแต่ละสายอาชีพ และประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของผู้อื่น ร่วมกันแก้ข้อขัดแย้ง และความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์

ห้า มุ่งสู่ความสำเร็จ (drive result) กำหนดแนวทาง วิธีการทำงาน พร้อมทั้งผลักดันให้บรรลุเป้าหมายตามที่คาดหวังไว้ และหากมีสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีข้อมูล หรือแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน อาจมีการเริ่มลองหาแนวทางการทำงานด้วยวิธีอื่น ๆ ที่แตกต่างจากเดิม เพื่อช่วยให้บรรลุผลสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยไม่ยึดติดกับวิธีการเดิม ๆ รวมทั้งมีการเตรียมแผนสำรองฉุกเฉินไว้รองรับ ถ้ามีเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดหมายเกิดขึ้น

หก สรรค์สร้างสิ่งใหม่ ๆ (foster new initiative) ด้วยการนำแนวคิด เทคโนโลยี และวิธีการทำงานใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อสนับสนุนกระบวนการทำงาน และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างผลประโยชน์สูงสุดให้แก่องค์กร รวมทั้งแสดงออกถึงความเข้าใจและยอมรับการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งผลกระทบที่จะตามมา

เจ็ด มีความมุ่งมั่น (commitment) รักษามาตรฐานคุณภาพ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้า และบริการที่ส่งมอบให้ลูกค้า จะต้องได้มาตรฐานชั้นนำ เพื่อสร้างความประทับใจ ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจให้แก่ลูกค้าและผู้รับบริการอย่างยั่งยืน

แปด เปิดรับความแตกต่าง และหลากหลาย (adapt to individual difference) เข้าใจในเอกลักษณ์และความแตกต่างของบุคคล วัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และวิธีการทำงานเพื่อให้สอดคล้อง และอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน

“ทั้งนี้ ผมมองว่าสุดท้ายแล้ว พนักงานต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง ซื่อสัตย์ ส่วนในฐานะผู้นำก็ต้องมีการพูดคุยกับพนักงานเสมอ ผู้บริหารถ้าสั่งอย่างเดียวไม่เคยเจอหน้าพนักงานเลยไม่ได้แล้ว สมมติเฟรเซอร์สฯมีเปิดตัวโครงการใหม่ อยู่ที่ไหนก็ต้องลงไปดู ไปทำงานร่วมกับพนักงานเลย ต้อง engage กับพนักงาน เพราะเดี๋ยวนี้พนักงานส่วนใหญ่เขาต้องการจะเข้าถึงผู้บริหาร สิ่งนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องปรับเปลี่ยนด้วยในแง่การเข้าถึงพนักงานมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม “ธนพล” กล่าวสรุปว่า เรื่องความหลากหลายในองค์กรเป็นประเด็นสำคัญ ไม่ต่างจากเรื่องความยั่งยืน (sustainable) ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกที่น่าสนใจ ที่สำคัญบริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่สุดท้ายต้องย้อนกลับมาที่ตัวพนักงานว่า เราจะกระตุ้นให้เขามีทัศนคติต่อคนรอบข้างอย่างไรบ้าง