“ฟาร์มสุขไอศกรีม” ความสุขของผู้ให้และผู้รับ

คอลัมน์ CSR Talk
รณดล นุ่มนนท์

เดือนเมษายนเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ไทยที่มากับอากาศร้อนแบบ “ตับแตก” ทำให้พวกเราต้องร้องถามหา “ไอศกรีม” มาคลายร้อน แต่สำหรับ “คุณชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ” หรือ “บอม” ไอศกรีมไม่ใช่เป็นเพียงของโปรด ที่หลงใหลในความอร่อยมาตั้งแต่เด็ก เคยกินได้คนเดียวขนาดถัง 3 ควอร์ต หรือเท่ากับกะละมังใหญ่สบาย ๆ (1)

แต่ยังทำให้ “บอม” ได้ค้นพบปณิธานชีวิตจาก “ฟาร์มสุขไอศกรีม” กิจการเพื่อสังคม (social enterprise) ที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2554 ชีวิตของ “บอม” ไม่ธรรมดา ฐานะครอบครัวไม่ดีนัก เป็นเด็กขี้เกียจ ไม่ชอบเรียนหนังสือ ทะเลาะกับแม่เป็นประจำ เพราะแม่มักว่ากล่าวด้วยคำพูดที่เสียดแทงใจจนคิดอยู่ในใจว่า “แม่รักเราหรือเปล่า”

เคยหนีออกจากบ้านสมัยเรียนชั้นมัธยม แต่ก็ต้องซมซานกลับมา และเกิดความมุ่งมั่นว่าจะเป็นเด็กดี ตั้งใจเรียนต้องเรียนให้จบเพื่อลบคำสบประมาทของแม่ และ “บอม” ก็สามารถเรียนจนจบมหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะมนุษยศาสตร์ ในปี 2548

พร้อมพยายามค้นหาความชอบของตัวเอง จนพบว่าถนัดการทำสื่อโฆษณา และได้เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ให้กับบริษัทโฆษณาชั้นนำของประเทศ ฝีมือดี เป็นที่ติดอกติดใจของลูกค้า งานเข้าอย่างต่อเนื่อง ทำงานหามรุ่งหามค่ำ อดหลับอดนอน รายได้เดือนละเป็นแสน แต่ไม่มีเวลาใช้เงิน เรียกว่าชีวิตถลำลึกอยู่ในสังคมที่วัดคนด้วยอำนาจเงินตราคือ ต้อง “รวย รวย รวย”

อย่างไรก็ตาม ในวันหนึ่ง ชีวิตอู้ฟู่ต้องสะดุดลง เมื่อถูกปรามาสจากลูกค้าเพราะทำงานไม่ถูกใจ ที่เขาใช้คำว่า “เอาอวัยวะส่วนไหนมาคิด” แถมเมื่อกลับไปที่ทำงานยังถูกเจ้านายตำหนิอีก “บอม” ทั้งโกรธ และเสียใจ ออกไปเดินสงบอารมณ์ในห้างสรรพสินค้า

ตอนแรกตั้งใจจะซื้อไอศกรีมมากินเพื่อเอาความเย็นมาตั้งสติ แต่เปลี่ยนใจเพราะคิดว่าไอศกรีมกะละมังใหญ่คงเอาไม่อยู่ พอเดินไปเห็นร้านขายเครื่องทำไอศกรีมราคาสามหมื่นกว่าบาท จึงตัดสินใจซื้อด้วยเงินสดที่พกติดตัวเพื่อประชดอารมณ์

แม้ในใจลึก ๆ อยากทำไอศกรีมเจลาโต สไตล์อิตาเลียน รสชาติหวานมันน้อยสำหรับกินเอง เมื่อกลับถึงบ้านจิตใจสงบลง รีบบอกแม่ตามสัญชาตญาณนักการตลาดว่า…บอมซื้อมาเพราะจะทำไปแจกจ่ายให้เด็กด้อยโอกาส

ตลอดสัปดาห์หลังเลิกงาน “บอม” มาหัดทำไอศกรีมจากที่เคยดูการทำผ่านยูทูบ และนำไปแจกเด็ก ๆ ที่โรงเรียนอนุบาลหมู่บ้านเด็กสานรัก พุทธมณฑล สาย 4 ใกล้บ้านด้วยตนเอง วินาทีแรกที่เห็นเด็กกินไอศกรีม เขาเกิดความรู้สึกที่ไม่เคยพบประสบมาก่อน แววตาเด็กเปี่ยมไปด้วยความสุข วิ่งเข้ามาถามว่าวิปครีมนี้กินได้ไหม เพราะไม่เคยเห็นบอมถึงกับต้องถามตัวเองว่า…พวกเขาสนุก ดีใจ และมีความสุข ได้ขนาดนี้เลยหรือ

“เราเองมีหน้าที่การงาน มีชื่อเสียงเงินทอง แต่ไม่เคยสุขอย่างนี้เลย” บอมไปเล่าประสบการณ์ความอิ่มใจกับการเป็น “ผู้ให้” ให้เพื่อน ๆ ฟัง และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทุกคนพร้อมใจกันสนับสนุนให้เงินทุนมาทำไอศกรีมไปให้กับเด็ก ๆ ตระเวนไปตามสถานเลี้ยงดูเด็กด้อยโอกาสทุกสุดสัปดาห์ เป็นเวลากว่า 3 ปี

จุดกำเนิดของ “ฟาร์มสุขไอศกรีม” เกิดขึ้นในเวลาต่อมา เมื่อ “บอม” นำไอศกรีมไปเลี้ยงเด็กพิการทางสายตา เด็กคนหนึ่งเดินมาบอกว่า…ถึงผมจะเรียนเก่งแค่ไหน ก็คงเป็นได้แค่คนขายลอตเตอรี่

บอมถึงกับสะอึก และนึกในใจว่า…ทางไปสู่อนาคตของเด็กตาบอดตีบตัน เพียงแค่นี้หรือ ควรจะให้เขาได้มีโอกาสในสังคมที่ดีกว่า

พอดีกับในช่วงเวลาเดียวกันนี้ “บอม” ได้รับโอกาสเข้าอบรมการจัดตั้ง “กิจการเพื่อสังคม” จากสำนักงานสร้างเสริม กิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) ทำให้คิดได้ว่า แทนที่จะแจกจ่ายไอศกรีมให้กับเด็กเพียงอย่างเดียว ควรสอนเด็กที่มีแววและมีใจรัก ให้มีทักษะทำไอศกรีมไปด้วย เพื่อเป็นการปูทางไปสู่อาชีพ

จึงเป็นที่มาของการได้รับทุนสนับสนุนจาก สกส. และโชคเข้าข้าง เมื่อได้ออกรายการโทรทัศน์ในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 มีผู้มีจิตศรัทธากระหน่ำบริจาคเงินมาให้ จนไม่ทราบว่าเป็นเงินของใครบ้าง เพราะบัญชีที่บอกไปเป็นบัญชีส่วนตัว ด้วยความไม่สบายใจจึงตัดสินใจทำโครงการอย่างจริงจัง

“ฟาร์มสุขไอศกรีม” จึงก่อกำเนิดขึ้นด้วยเงินทุนประเดิม 2 แสนบาท (2)

ส่วนชื่อ “ฟาร์มสุขไอศกรีม” ตั้งขึ้นเพื่อสะท้อนถึงความสุขของทั้งผู้ให้ และผู้รับ เป็นกิจการ “สร้างโอกาส” ให้เด็กได้เป็นผู้ผลิตไอศกรีมมีรายได้เลี้ยงตนเอง โดย “บอม” ทำหน้าที่ด้านการตลาด นำไปวางขายตามจุดต่าง ๆ ที่เจ้าของเอื้อเฟื้อสถานที่รับการสั่งซื้อจากผู้มีจิตศรัทธา

อย่างไรก็ดี “บอม” บอกว่า…ฟาร์มสุขไอศกรีมต้องการให้ ผู้ซื้อได้กินไอศกรีมเจลาโต้ รสชาติหวานมัน รวมทั้งคุณภาพเทียบเท่ากับร้านไอศกรีมอิตาเลียนดัง ๆ แต่ต้องไม่ซื้อด้วยความสงสารหรือเห็นใจ เพราะนั่นไม่ตอบโจทย์กิจการเพื่อสังคม ที่ต้องการความยั่งยืนให้ได้ลิ้มรสไอศกรีมที่มีคุณภาพ

นอกจากฟาร์มสุขไอศกรีมที่ “บอม” กลายเป็น “ผู้ให้” แล้ว เมื่อได้รับฟังปัญหาของเด็ก ๆ จากการไปแจกไอศกรีมในสถานที่ต่าง ๆ กว่า 10 ปี ทำให้ได้เรียนรู้ว่า…การรับฟังด้วยความจริงใจ (deep listening) เป็นการนำไปสู่ความเข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น ได้รับความสุข ความเข้าใจจากการมองเห็น สามารถรับมือกับสภาวะอารมณ์ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม (3)

พร้อมกันนั้นก็นำมาสู่ความเข้าใจกัน ระหว่าง “แม่” กับ “บอม”

“ผมตัดสินใจในวันหนึ่งว่าจะมานั่งฟังแม่พูด ให้แม่พูดมากกว่าเรา พูดตั้งแต่กลางวันจนถึงเย็น แม่บอกเราว่า แม่ดีใจที่ได้คุยกับบอมนะ เพียงแค่นี้เราร้องไห้โฮเลย จนวันหนึ่ง แม่เปิดโอกาสให้เราพูด จึงถามแม่ว่า แม่คิดว่าบอมเก่งไหม แม่ตอบว่า ลูกของแม่เก่งที่สุด เท่านั้นแหละ น้ำตาระเบิดเลย ที่ทำมาทั้งหมดในชีวิตเราต้องการแค่นี้ ไม่ต้องการคำชมจากคนอื่น” (1)

“บอม” ยอมรับว่า ปัจจุบันธุรกิจไอศกรีมมีการแข่งขันสูง ขณะที่กระแสกิจการเพื่อสังคมเริ่มเบาบางลง “ฟาร์มสุขไอศกรีม” จึงต้องปรับตัวเช่นกัน ปัจจุบันมีไอศกรีม 7 รส จากเดิมที่มีกว่า 20 รส มีสถานที่ขายเพียง 2 แห่ง คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซอยงามดูพลี และร้าน Organika Cafe and Play แถวบางใหญ่

โดย “บอม” ทำหน้าที่ทั้งการตลาด และจัดส่งเพื่อลดต้นทุน เขาบอกว่าอาจจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของโครงการหรือกิจกรรม ให้เหมือนกับเมื่อสมัยเริ่มแรก

อย่างไรก็ดี อุดมการณ์ “ผู้ให้และผู้รับฟัง” จะเป็นสิ่งที่ติดตัวเขาตลอดไป

ปัจจุบัน “บอม” เป็นอาจารย์สอนวิชาสังคมสงเคราะห์ ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และยังคงเป็น freelance ออกแบบสื่อโฆษณา พร้อมกับทำกิจการ “ฟาร์มสุขไอศกรีม” โดยไม่ยุ่งเกี่ยวเรื่องการเงิน

ขณะเดียวกัน “บอม” มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมอีกหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการ “ธนาคารเวลา” ที่เชื่อมโยงคน 3 รุ่นเข้าด้วยกัน คือ รุ่นเด็ก, รุ่นคนทำงาน และรุ่นคนสูงอายุ ด้วยการสร้างจิตอาสาอย่างมีระบบ ผู้เข้าร่วมสามารถเบิกเวลามาใช้ เพื่อให้จิตอาสารุ่นใหม่มาดูแล และได้ใช้เมื่อตนเองมีอายุมากขึ้น

เมื่อถามถึงความฝันในอนาคตว่า อยากเห็นตัวเองเป็นอย่างไร “บอม” กล่าวว่า…ผมอยากเป็นคนแก่ โคตรน่ารักมีคนรุ่นใหม่นึกถึง เมื่อไม่สบายใจ มีเพื่อนไปมาหาสู่ อยากมองทุกอย่างตามธรรมชาติ เข้าใจชีวิต และมีความสุข

พร้อมกับฝากข้อคิดให้กับพวกเราว่า… อยากให้เชื่อมั่นว่าเรามีศักยภาพในตัวเองมีทักษะ มีความสามารถเพียงพอช่วยเหลือคนอื่น ขอเพียงให้มีใจ เพียงทำอะไรง่าย ๆ เช่น ยิ้มให้ก็ยังดี แต่หากมีเวลาก็ขอให้สละเวลาเล็ก ๆ น้อย ๆ มาเป็นผู้ให้และผู้รับฟัง อย่าไปคิดว่าเราเป็นคนเล็ก ๆ ช่วยเหลือคนอื่นไม่ได้ ลองยื่นมือไปช่วยคนรอบข้าง แล้วเราจะพบว่าทุกอย่างเปลี่ยนไป

วันศุกร์ที่ 9 เมษายนผ่านมา ผมขอมอบ “ฟาร์มสุขไอศกรีม” ให้พวกเราได้สัมผัสกับรสชาติไอศกรีมเจลาโต้ โฮมเมดจากกิจการเพื่อสังคม เพื่อให้เข้าใจความเป็นผู้รับ และผู้ให้ความสุขกับผู้อื่นด้วยใจจริง

แหล่งที่มา : (1) “ฟาร์มสุขไอศกรีม” ไอศกรีมเพื่อสังคม : “บอม-ชัยฤทธิ์” ผู้ทิ้งเงินเดือนหลักแสน สู่งานจิตอาสา. [online] Available at: <https://mgronline.com/onlinesection/detail/9580000093104> [Accessed 3 April 2021].

(2) ความสุขประเทศไทย. 2021. ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ ผู้ส่งมอบ “ฟาร์มสุข” ผ่านไอศกรีม. [online] Available at: <https://www.happinessisthailand.com/2017/12/28/farmsook/> [Accessed 3 April 2021].

(3) https://www.posttoday.com. 2021. ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ “ฟาร์มสุข” กับการฟังอย่างลึกซึ้ง. [online] Available at: <https://www.posttoday.com/ent/celeb/526384> [Accessed 3 April 2021].

(4) คุณบอม ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ เจ้าของโครงการฟาร์มสุข-คิดบวก รายการเปิดโลกสุดสัปดาห์ PPTVHD36 November 14, 2019 Youtube.com. 2021. Before you continue to YouTube. [online] Available at: <https://www.youtube.com/watch?v=i_V887e85jc> [Accessed 3 April 2021].

(5) บอม (ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ) : ไอศกรีมเพื่อสังคม “ฟาร์มสุขไอศกรีม” FFC CHANNEL 15 September 2015 Youtube.com. 2021. Before you continue to YouTube. [online] Available at: <https://www.youtube.com/watch?v=B4RiEWbvFyc> [Accessed 3 April 2021].