วิธีสรรหาคนที่ “ใช่” SCG-CBM ตอบโจทย์โลกเปลี่ยน

wedo young talent hell day

ในยุคดิสรัปชั่น (disruption) ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ภายใต้ความปกติใหม่ (new normal)

ดังนั้น ธุรกิจทั้งขนาดเล็กและใหญ่ต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง ทั้งยังต้อง “คิดใหม่ ทำใหม่” อยู่ตลอดเวลา หรือเรียกว่า ทำธุรกิจแนว “zero to one” ที่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ พร้อมกับตั้งคำถามใหม่ว่า ลูกค้าต้องการอะไร ? และบริษัทควรเปลี่ยนไปทำสินค้าหรือบริการอะไรที่จะตอบโจทย์ลูกค้าดีที่สุด ?

อภิรัตน์ หวานชะเอม
อภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด (SCG-CBM)

“อภิรัตน์ หวานชะเอม” Chief Digital Officer บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด (SCG-CBM) กล่าวว่า บริษัทได้ก่อตั้ง WEDO องค์กรด้านนวัตกรรมผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาธุรกิจใหม่ของ SCG-CBM และเรียกคนในองค์กรว่า DODER (ดูเดอร์) และเป็นคนที่มีคุณสมบัติ DODEE ที่ประกอบด้วย 3 mindset คือ

1) humble (ถ่อมตัว) ทำความเข้าใจลูกค้า ตลอดจนทีมงานที่ร่วมงานกัน ยอมรับฟังคำวิจารณ์ และนำมาปรับปรุงแก้ไข

2) passionate (แรงผลักดัน) มุ่งมั่นเพื่อสร้างประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ ที่สำคัญคือ รู้เหตุผล (why) ของตัวเองว่าเราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร

Advertisment

3) fearless (กล้า) ใช้ความกลัวให้เป็นประโยชน์ ให้กล้าออกจากพื้นที่ปลอดภัย (comfort zone) กล้าลองของใหม่ กล้าทดสอบไอเดียที่คนอื่นบอกว่าเป็นไปไม่ได้ หรือไอเดียที่เป็น moonshot (ยิ่งใหญ่)

“เรามีความเชื่อว่าคนทุกเจเนอเรชั่นควรได้รับโอกาสในการค้นหา passion และศักยภาพของตนเอง เราจึงทำภารกิจ talent acquisition และมองหาคนที่สามารถเป็น digital citizen ให้กับองค์กรที่ใช้นวัตกรรมเป็นฐาน (innovation based)”

ทั้งนี้ ปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจยุค zero to one คือ “บุคลากรรูปแบบใหม่” ที่มีความสามารถ (talent) อันเหมาะสม โดยไม่เพียงแค่เก่ง แต่ต้องเป็นคนที่มีแรงผลักดัน (passion) และมีกรอบความคิด (mindset) ที่สอดคล้องกับการทำงานที่ไม่มีโจทย์หรือขั้นตอนตายตัว

ด้วยเหตุนี้ WEDO จึง “หาคนทำงานที่ใช่” คนที่มีทักษะแบบ T-shaped ซึ่งหมายถึงคนที่มีความรู้รอบด้าน ไม่กลัวการทำสิ่งใหม่ ๆ และมีความรู้สึกเป็นเจ้าของในสิ่งที่ทำ (entrepreneurial mindset) โดยคนที่มีทักษะแบบนี้จะเหมาะสมกับงานด้านออกแบบ, ธุรกิจ และเทคโนโลยี

Advertisment

“คำถามที่สำคัญสำหรับทุกองค์กร รวมทั้ง WEDO คือ เราจะหา talent เหล่านี้ได้จากที่ไหน และจะทดสอบทักษะ T-shaped ดังกล่าวได้อย่างไร ในเมื่อทรานสคริปต์ที่จบจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไม่แสดงการวัดผลทักษะเหล่านั้นได้ เพราะที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเน้นสร้างคนที่มีทักษะ I-shaped คือผู้ที่รู้ลึกรู้จริงในงานแขนงเดียว เพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญป้อนระบบอุตสาหกรรม ด้วยเหตุนี้ WEDO จึงจัดโครงการ WEDO Young Talent Program ขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วยกิจกรรมสำคัญที่เรียกว่า Hell Day 2021 เป็นการค้นหา talent ในกลุ่มนิสิตนักศึกษาด้วยโจทย์สุดหินเพื่อเข้าร่วมโครงการ”

“อภิรัตน์” อธิบายว่า WEDO Young Talent Program คือการตีความหมายใหม่ให้กับคำว่า “เด็กฝึกงาน” โดยเริ่มจากการไม่มองนักศึกษาว่าเป็น “เด็ก” แต่คือ “talent ยุคใหม่” ที่มีศักยภาพในการเรียนรู้ และทำงานด้านนวัตกรรมได้เป็นอย่างดี

“เราให้น้อง ๆ มีโอกาสพบกับความท้าทายจากโจทย์ทำงานจริง ที่ไม่ได้ถูกสมมุติขึ้นมาเพื่อการฝึกงาน เพื่อให้เขาได้ลองของจริง พลาดจริง โดยเราเชื่อว่าการเรียนรู้จากการลงมือทำ (learning by doing) คือวิธีการที่ดีสุดในการสร้าง talent ยุคใหม่”

“จากที่เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการไปเมื่อเดือนเมษายน 2564 มีผู้สมัครเขาร่วมกว่า 700 คนจากทั่วประเทศ โดยเราคัดเลือกให้เหลือเพียง 50 คนที่มีความมุ่งมั่นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ สามารถฟันฝ่าความท้าทายและความกดดันของการทำงานด้านนวัตกรรมได้โดยไม่ยอมแพ้ไปเสียก่อน ทั้งยังกล้าลองตีโจทย์แบบ moonshot ที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นไปไม่ได้ โดยโฟกัสที่โอกาสมากกว่าความล้มเหลว”

“กิจกรรม Hell Day เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อทดสอบสิ่งต่าง ๆ ที่เรามองหาในตัวน้อง ๆ โดยเป็นการคัดเลือกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้มข้นตลอด 24 ชั่วโมงแบบไม่หยุด (nonstop) ประกอบด้วยบททดสอบทั้งเชิงเดี่ยวและเชิงกลุ่มในรูปแบบ hackathons และกิจกรรมคู่ขนานอื่น ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความกดดัน ความลังเล และความสับสนให้กับน้อง ๆ เพื่อทดสอบหาขีดจำกัดทางด้านอารมณ์ ร่างกาย ไหวพริบ และความสามารถของน้อง ๆ ซึ่งมีน้อง ๆ เกือบ 1 ใน 3 ที่ไม่สามารถรับความท้าทายนี้ได้ กระทั่งถอนตัวไปในที่สุด”

ทั้งนี้ WEDO Young Talent Program มีระยะเวลา 10 สัปดาห์ที่เข้มข้นด้วยโปรแกรมการทำงานที่เรียกว่า WEDO Young Talent Innoprise

ซึ่งน้อง ๆ จะได้สัมผัสประสบการณ์การทำโจทย์ทางธุรกิจแบบ zero to one ในลักษณะการทำงานแบบธุรกิจขนาดเล็ก (microenterprise) แบ่งเป็นกลุ่มและทำโจทย์จริงด้วยตัวเอง โดยมีพนักงานในทีม WEDO มาโค้ช และพัฒนาน้อง ๆ เริ่มตั้งแต่การหาข้อมูลเชิงลึก (insights) ไปจนกระทั่งถึงจุดที่มีผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อผู้ใช้อยู่ในตลาด (market fits) ภายใต้การวัดผลแบบ OKRs และเงื่อนเวลาที่ชัดเจน

Hell Day ในปีนี้จบด้วยการนำเสนอรอบสุดท้าย (final pitching) ที่น้อง ๆ จะต้องเอาชนะความเหนื่อย ความง่วง ความล้า และสามารถนำเสนอผลงานการออกแบบเกมกระดาน (board games) แบบ new normal ที่ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาสร้างความสนุก และโมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆ มาประยุกต์ให้เกิดเป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดเพื่อให้ออกมาดีที่สุด

“อภิรัตน์” กล่าวต่อว่า WEDO ให้ความสำคัญกับ EQ มากกว่า IQ และไม่ต้องการคนที่เป็นน้ำเต็มแก้วแบบ expert mindset หรือคนที่เก่งคนเดียวแบบ one man show แต่เราต้องการมองหาคนที่มีสมดุลที่ดี (well balanced) ที่มีทั้งความคิดเชิงสร้างสรรค์ (creative thinking) และความคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking)

“คนที่องค์กรยุคใหม่ต้องการคนที่สามารถทำงานกับคนอื่นได้ดีทั้งในบทบาทของผู้นำ (leader) และผู้เล่น (team player) คนที่ทั้งนักเล่าเรื่อง (storyteller) และที่ที่เป็นผู้ฟังที่ดี (empathizer) ที่นอกจากจะเปิดใจรับฟังแล้ว เขายังพยายามทำความเข้าใจต้นตอของปัญหาต่าง ๆ ได้ นอกจากนั้น ยังต้องเป็นคนที่สามารถทำงานได้ดี ภายใต้อุปสรรคและความกดดัน ทั้งยังเป็นคนที่มีการจัดการความรู้สึกแบบผู้ใหญ่ (emotional maturity) ด้วย”

“เพราะธุรกิจปัจจุบันไม่สามารถแข่งขันด้วยจำนวนและแรงงานได้อีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว วันที่จำนวนประชากรลดลงเรื่อย ๆ และมีระบบเศรษฐกิจใหม่อย่าง creative economy และ digital economy เป็นอนาคตของประเทศไทย เราจึงต้องเปลี่ยนไปแข่งด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น”

“นอกจาก SCG-CBM จะทำโครงการสร้าง talent ที่เหมาะกับระบบเศรษฐกิจใหม่ ด้วยโครงการ WEDO Young Talent Program เรายังทำโครงการ WEDO Apprentice Program คือการ upskill และ reskill บุคลากรปัจจุบันไปสู่ธุรกิจยุคใหม่ และโครงการ WEDO Senior Talent Program การติดปีกพี่ ๆ ที่เกษียณอายุแล้ว ซึ่งเป็นผู้สั่งสมภูมิปัญญามาทั้งชีวิต ให้กลับมาทำงาน โดยเราจะเพิ่มทักษะทางธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้พวกเขากลายเป็น talent ยุคใหม่ผู้มากด้วยประสบการณ์”

อีกทั้งยังมีโครงการ Work from Where you are (WFW) และการทำงานแบบ result only work environment (ROWE) ที่เปิดโอกาสให้ talent จากทั่วประเทศสามารถทำงานกับ WEDO ได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ซึ่งเป็นความทัดเทียมในการจ้างงาน การกระจายรายได้และโอกาส เพื่อช่วยลดปัญหาสังคมและสภาพแวดล้อมอีกด้วย เพราะการสร้าง talent ยุคใหม่ไม่ได้เป็นเรื่องขององค์กรเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญถึงระดับสังคมและประเทศชาติ

“อภิรัตน์” กล่าวด้วยว่า การที่บริษัทต่าง ๆ จะทำธุรกิจให้ฝ่าอุปสรรคที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ ทุกคนต้องมี growth mindset และมองหาโอกาสในวิกฤตครั้งนี้ให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นแล้วว่าโควิด-19 ได้ส่งสัญญาณบวกบางอย่างด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งทำให้ความเชื่อเดิม ๆ หลายอย่างถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่เรื่องจริง เช่น คนทำงานจากบ้านได้ และคนปรับเข้าหาการใช้ดิจิทัลมากขึ้น ทั้งยังจะเป็นเช่นนี้ต่อไปถึงแม้ไม่มีการระบาดของโควิด-19 แล้วก็ตาม

“ดังนั้น คนทำธุรกิจตอนนี้ต้องพยายามทำใจให้เป็นบวก และมองว่าอะไรจะเป็น new normal ในปีหน้า และธุรกิจของเราสามารถสร้างความได้เปรียบและเปิดโอกาสใหม่ได้อย่างไร เช่น เรื่องของ cloud location (พื้นที่ร้านค้าบนคลาวด์) เพราะอาจไม่มีใครมาเช่าพื้นที่หรู ๆ เปิดร้านต่าง ๆ เหมือนเมื่อก่อน ดังนั้น เราต้องมองว่าสามารถสร้างดีมานด์อะไรใหม่ ๆ ได้บ้าง ถ้าคนทำธุรกิจมองแค่ที่เดิมก็จะเห็นอุปสรรค แต่ถ้าเราตีกรอบตัวเองใหม่ก็จะเห็นว่าเรารัดเข็มขัดได้”

“ผมจึงอยากให้พวกเขาใช้โอกาสที่ตลาดกำลังสโลว์ดาวน์มาพัฒนาตนเองและพัฒนาบุคลากร ที่สำคัญควรเก็บพนักงานทุกคนไว้ แต่อาจใช้วิธีปรับลดเงินเดือนไปก่อน แต่ทุกคนยังอยู่ด้วยกัน และมีงานทำ เป็นต้น ฉะนั้น เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น องค์กรจะได้กลับมาและประสบความสำเร็จมากขึ้น”

นับว่ารูปแบบการหาคนที่ใช่ของ SCG-CBM จะทำให้ได้มาซึ่งบุคคลที่มีฝีมือและเหมาะสมกับงาน โดยมีการกำหนดกลยุทธ์ นโยบาย และวิธีการพัฒนาทรัพยากรบุคคลมาใช้ในระยะยาว
ขณะเดียวกัน คนทำงานก็มีโอกาสทำงานที่ตรงใจด้วย