“จุดเริ่มต้นของดิฉันมาจากการเป็นนักเขียนที่มีแรงบันดาลใจจากการพบเห็นกรณีล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง หรือผู้ชายก็ตาม จนทำให้แรงบันดาลใจดังกล่าวนำพาให้ตัวเองเข้าสู่อาชีพนักเขียนนิยายเต็มตัว โดยเฉพาะเรื่องบังเอิญรัก ที่ถ่ายทอดถึงการล่วงละเมิดทางเพศ จนฝังลึกในใจของเหยื่อไปตลอดชีวิต”
“เรื่องนี้ถือเป็นนิยายสายวาย หรือความรักระหว่างชาย-ชาย ที่ไม่ใช่เรื่องแปลกบนโลกใบนี้อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากแรงบันดาลใจเหล่านั้นยังถูกเล่าต่อผ่านซีรีส์วาย ธาร-ไทป์ เดอะซีรีส์ ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งยังเป็นผลงานที่ดิฉันคิดว่าเป็นตัวตนมากที่สุด”
คำพูดดังกล่าวเป็นบทเริ่มต้นสนทนาระหว่าง “อรวรรณ วิชญวรรณกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท มี มายด์ วาย จำกัด กับ “ผู้สื่อข่าว” ประชาชาติธุรกิจถึงอาชีพนักเขียน และผู้อำนวยการสร้างซีรีส์อันโด่งดัง
เบื้องต้น “อรวรรณ” เล่าว่า ดิฉันเห็นโอกาสในการพัฒนาจากสิ่งที่ตัวเองชอบ จนมาสู่การทำเป็นอาชีพได้จึงจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท มี มายด์ วาย จำกัด โดยร่วมกับเพื่อนอีก 6 คน ที่พวกเราตั้งชื่อทีมว่า 6 ประจัญบาน เพราะทุกคนมีความเห็น และทิศทางการทำงานไปในทางเดียวกัน
“จำได้ว่าวันนั้น (3 มกราคม 2562) เรามีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท ในการทำธุรกิจผลิตซีรีส์ ละครโทรทัศน์ บทละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ บทภาพยนตร์ และการโฆษณา หลังจากนั้นโปรเจ็กต์แรกของมี มายด์ วาย ก็เริ่มขึ้น”
กระทั่งปัจจุบันบริษัทมีพนักงานรวมทั้งสิ้น 10 คน
ฉะนั้น เมื่อถามวิธีการคัดสรรคนมาร่วมงานอย่างไร ?
“อรวรรณ” จึงบอกว่า อย่างแรกเลยต้องเป็นคน “แปลก” มีรสนิยม ความชอบ และมีแรงบันดาลใจที่คล้าย ๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีจินตนาการในแบบที่เราเรียกว่า “จิ้นตนาการ”
“เพราะทันทีที่ก่อตั้งบริษัทเสร็จแล้ว และอยู่ในระหว่างถ่ายทำซีรีส์เรื่องใหม่ ก็เกิดวิกฤตโควิด-19 จนทำให้เศรษฐกิจพังจนส่งผลกระทบในแง่ของการถ่ายทำแต่ด้วยความที่เป็นองค์กรขนาดเล็ก ทำให้สามารถปรับตัวสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ทั้งยังทำให้คล่องตัวในการบริหารจัดการ”
“ที่สำคัญ บริษัทเน้นการทำงานที่ค่อนข้างยืดหยุ่น เมื่อมีความเสี่ยงจากหลาย ๆปัจจัย เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ สถานที่ที่ต้องการจะขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่เพื่อการถ่ายทำได้หรือไม่”
“และในยุคโควิด-19 จะมีเรื่อง lock down อันเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เข้ามาเพิ่มอีก จึงต้องมีการประชุมหารือกับทีมงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนสำรองเอาไว้ด้วย เช่นในบางซีนอาจต้องถ่ายที่สตูดิโอ แทนการถ่ายทำนอกสถานที่ที่เตรียมไว้ เพราะธุรกิจกองถ่ายในแต่ละวันมีต้นทุนค่อนข้างสูง และมีหลายฝ่ายเกี่ยวข้อง”
“ที่บอกว่าต้องเป็นคนแปลกเหมือน ๆ กัน คือจะชอบอะไรที่ไม่เหมือนกับคนอื่นอยู่แล้ว ไม่มีกรอบในการคิดสร้างสรรค์ การทำงานกับคนที่มีมุมมองแปลก และแตกต่างออกไป จะต้องตั้งโจทย์ และหาคำตอบว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ และไม่ยอมแพ้กับอะไรง่าย ๆ สิ่งเหล่านี้คือคุณสมบัติที่ มี มายด์ วาย ต้องการ”
นอกจากนั้น “อรวรรณ” ยังเล่าย้อนในช่วงปี 2563 ที่มีการระบาดของโควิด-19 หนัก ๆ ว่า ตอนนั้นเราต้องหยุดถ่ายทำซีรีส์ 2-3 เดือน ทีมงานได้เรียนรู้ตลอดว่านอกจากจะต้องพิจารณาความพร้อมของกองถ่าย และเวลาของนักแสดงแล้ว เรายังต้องมีแผนสำรองอย่างน้อย 2-3 แผน
“แต่หลังจากนั้นสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เราจึงเริ่มถ่ายทำต่อ เพราะวันที่กำหนดจะออนแอร์ก็ท้าทายไล่หลังทีมงานตลอด วิธีแก้ไขคือ การออกกองถ่ายทำไซซ์เล็ก เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจและดูแลทีมงาน จะได้ไม่มีความเสี่ยงจากโควิด-19”
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ล่าสุด (7 กรกฎาคม 2564) รายงานผลประกอบการของบริษัท มี มายด์ วาย ว่ามีรายได้อยู่ที่ 45 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2.2 ล้านบาท โดยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 18.6 ล้านบาท
ดังนั้น เมื่อดูจำนวนธุรกิจในประเภทเดียวกันกว่า 500 บริษัท ซึ่งถือว่ามีการแข่งขันค่อนข้างสูงมาก ที่สำคัญ รายงานดังกล่าวยังวิเคราะห์ต่ออีกว่า เมื่อดูแนวโน้มในปี 2562 ธุรกิจดังกล่าวถือเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูงกว่า GDP ทั้งยังขยายตัวได้อีกเรื่อย ๆ
ผลตรงนี้ “อรวรรณ” จึงฉายภาพอนาคตของบริษัท มี มายด์ วาย ให้ฟังเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ตลาดสายวายขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซีรีส์ที่มีทั้งเก่าและใหม่มีผู้สนใจเข้ามาขอซื้อลิขสิทธิ์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากปัจจุบันการรับชมข่าวสาร ความบันเทิงสามารถหาดูได้หลากหลายช่องทาง จนกลายเป็นช่องทางที่ส่งผลให้ มี มายด์ วาย เติบโตได้อีกมาก
“เหมือนอย่างตอนนี้เรากำลังเจรจาร่วมทุนกับนักลงทุนตางชาติเพื่อผลิตซีรีส์ เพื่อถ่ายทอดผ่าน platform ต่าง ๆ อย่างเช่น แอปพลิเคชั่นไลน์ (Linetv) เป็นต้น อีกทั้งยังเตรียมที่จะสร้าง content ใหม่ ๆ เพิ่มเติม เพราะเราเชื่อว่าการทำซีรีส์สายวายสุดโรแมนติกเป็นงานที่เราถนัด แต่ถ้าจะเลือกงานที่ท้าทายความสามารถของตัวเอง และทีมงาน ก็คงเป็นซีรีส์ย้อนยุคข้ามเวลา ซึ่งน่าจะสนุก และโรแมนติกมาก ๆ เพียงแต่ตอนนี้เรายังสนุกกับซีรีส์สายวาย และเตรียมที่จะเปิดโมเดลลิ่งในการจัดหานักแสดงเพื่อป้อนให้กับมี มายด์ วาย และผู้สนใจ รวมถึงนักแสดงในสังกัดอีกด้วย”
“เหตุที่สนใจธุรกิจโมเดลลิ่ง เพราะก่อนหน้านี้ ซีรีส์ธาร-ไทป์ เราคัดเลือกนักแสดงเอง จากประสบการณ์ที่มีคิดว่าน่าจะพัฒนาต่อยอดได้ และขณะนี้เริ่มรับเด็กรุ่นใหม่เข้ามาในสังกัดบ้างแล้ว โดยบางส่วนเราเริ่มป้อนงานให้กับบริษัทคือ ซีรีส์ใหม่เรื่อง Don’t Say No เมื่อหัวใจใกล้กัน ซึ่งเป็นเรื่องของผู้ชาย 2 คนที่เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็กอยู่ด้วยกัน เรียนด้วยกัน แต่สุดท้าย ความรู้สึกของทั้งคู่ก็ดูเหมือนจะเปลี่ยนไปจริง ๆ แล้วก่อนหน้านี้นักแสดงกลุ่มนี้ลองเล่นซีรีส์ธาร-ไทป์มาก่อน จนส่งผลให้มีทั้งแฟนคลับ และคนสนใจพวกเขามากขึ้นด้วย”
ทั้งนี้ เมื่อถามถึงการคัดเลือกตัวละครในแบบฉบับของ มี มายด์ วาย จะต้องมีคุณสมบัติเด่นอย่างไร ?
“อรวรรณ” บอกว่า ดิฉันมีเกณฑ์เดียว คือ “เคมี” ของนักแสดงหลักต้องเข้ากันอย่างลงตัว ส่วนเรื่องความสามารถในการแสดงเป็นขั้นตอนที่ มี มายด์ วายจะฝึกฝน บ่มเพาะให้เอง จนกว่าจะมั่นใจว่านักแสดงของเราพร้อมที่จะเข้าวงการเต็มตัว
“คำว่าเคมีเข้ากัน จะต้องใช้ความรู้สึกของคนที่ทำหน้าที่สรรหา แต่ไม่มีอะไรซับซ้อน แค่ลองให้ยืนคู่กันโดยที่ไม่ต้องพูดจาอะไรเลย จะรู้สึกได้เลยว่า เฮ้ย ! มันเข้ากัน และเมื่อรวมกับความสามารถทางการแสดงด้วยแล้ว ยิ่งทำให้คนดูอิน และเข้าใจความรู้สึกของตัวละคร ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า คู่จิ้นอินจิกหมอน เป็นต้น”
ในช่วงสุดท้ายของการให้สัมภาษณ์ “อรวรรณ” ฉายภาพจินตนาการบริษัท มี มายด์ วาย ในอีก 5 ปีข้างหน้าว่า ดิฉันอยากเห็นการเติบโตของบริษัท ที่คนจะรู้จักมี มายด์ วาย มากขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งยังต้องมีผลประกอบการที่มั่นคง
“นักแสดงรุ่นใหม่ที่เรามีอยู่ในมือ ผ่านการโคชชิ้งในแต่ละด้านอย่างต่อเนื่อง ชิ้นนี้พวกเรายังคงอยากสร้างปรากฏการณ์ให้กับละครไทย จากเดิมที่เราอาจจะเลือกดูซีรีส์จากต่างประเทศมากกว่า ให้แฟนละครไทยหันมาดูซีรีส์ในแบบฉบับฝีมือของคนไทย ที่วันนี้บอกได้ว่าทุกขั้นตอนทีมงานคัดสรรนักแสดง บ่มเพาะ วิเคราะห์ ประชุมกันอย่างเต็มที่เพื่อให้ทุกผลงานได้รับการยอมรับทั้งผู้ชมในไทยและในต่างประเทศ”
“ที่สำคัญ คือ มี มายด์ วาย อาจเป็นสถานที่รวมตัวของคนแปลก ๆ เพื่อมาสร้างสรรค์ผลงานในแบบที่ไม่เหมือนใคร”