สธ.ยันออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ สร้างภูมิคุ้มกันคนทำงาน ครอบคลุมแพทย์-จิตอาสา

กระทรวงสาธารณสุข แจงเหตุ ร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุข เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้คนทำงานป้องกันการถูกฟ้องร้อง ครอบคลุมแพทย์ จิตอาสา หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจัดหาวัสดุทางการแพทย์ ยา วัคซีน

วันที่ 9 สิงหาคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนับรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ชี้แจงถึงการยกร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยระบุว่า โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย และเป็นภัยพิบัติต่อสาธารณะ ขณะที่แนวทางการรักษา ยา และวิธีการรักษา ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด โดยเฉพาะเมื่อพบการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของไวรัส ท่ามกลางข้อจำกัดทางสาธารณสุข ซึ่งอาจทำให้ดูแลได้ไม่ทั่วถึง จำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกันให้กับบุคลากรสาธารณสุขจากการถูกฟ้องร้อง

ที่ผ่านมา มีข้อเสนอจากองค์กรวิชาชีพ และสมาคมโรงพยาบาลเอกชนให้มีกฎหมายลักษณะนี้ขึ้น ทำให้ สธ.ตั้งคณะกรรมการยกร่างโดยมีกรมสนุบสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งนักกฎหมาย เพื่อให้มีกลไกคุ้มครองผู้ทำงานในช่วงระบาดให้ทำงานอย่างเต็มที่

โดยร่างกฎหมายนี้ บุคลากรที่จะได้รับการคุ้มครอง ได้แก่ บุคลากรสาธารณสุข ทั้งผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบโรคศิลปะแขนงต่าง ๆ อาสาสมัครสาธารณสุขที่มาช่วยงานหรือคณะบุคคลต่าง ๆ ที่มีส่วนในการจัดหาวัสดุทางการแพทย์ วัคซีน ฯลฯ

ทั้งนี้กฎหมายจะให้ความคุ้มครองบุคลากรในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมถึง รพ.สนาม ที่ทำงานภายใต้ภาวะฉุกเฉิน หรือแม้แต่รถฉุกเฉินที่ต้องออกไปรับผู้ป่วยยามวิกาล หรือพื้นที่เฉพาะ

Advertisment

โดยบุคลากรที่กล่าวอ้างถึงต้องทำในสถานพยาบาล หรือนอกสถานพยาบาลที่เรากำหนด และการดูแลรักษาต้องเพื่อประโยชน์สาธารณะ และทำภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน แต่อย่างไรก็ดีการดูแล คุ้มครองไม่ใช่ทุกกรณี ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้กรอบ โดยการกระทำนั้นต้องทำโดยสุจริต ไม่ใช่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

นพ.ธเรศ ยกตัวอย่าง บุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสนาม เนื่องจากเป็นสิ่งแวดล้อมที่เราจัดขึ้น เพื่อรองรับคนไข้ที่มีจำนวนมาก แน่นอนว่าสถานที่ไม่ได้เหมือนโรงพยาบาลร้อยเปอร์เซ็นต์ เครื่องมือมีจำกัด หรือแม้แต่แนวทางการรักษาซึ่งเป็นเรื่องใหม่ รวมถึงยาที่ใช้รักษา หรือกรณีวัคซีน จะพบว่าองค์ความรู้เปลี่ยนไป เดิมฉีด 2 เข็ม ต่อมาเป็นการไขว้ชนิดวัคซีน การออกกฎหมายเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความมั่นใจในการปฏิบัติงานในทุกสภาวะ และเพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นยกร่างกฎหมาย ซึ่งพร้อมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อปรับปรุงให้ดีที่สุด

ด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวเสริมว่า สถานการณ์ปัจจุบันเทียบเท่าภาวะสงคราม บุคลากรต้องปฏิบัติงานภายใต้ข้อจำกัด ตัองให้บริการในสถานที่สร้างใหม่ ซึ่งไม่ใช่สถานพยาบาล รวมถึงการลงพื้นที่ให้บริการถึงบ้าน การมีกฎหมายคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานทุกคน จะทำให้การทำงานสะดวกขึ้นไม่ติดขัด และเป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน

โดยไม่ได้ลดมาตรฐานในการปฏิบัติงาน ซึ่งทุกวิชาชีพเห็นด้วยกับเรื่องนี้ และการรักษาพยาบาลโรคนี้ทุกอย่างเป็นความรู้ใหม่ ก็ต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน หลายอย่างมีการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันข้อจำกัดของบุคคล ของสถานที่ รวมทั้งบุคลากรก็มี และแตกต่างกัน แต่แม้ร่างกฎหมายจะบอกว่า ไม่ต้องรับผิด แต่ความเป็นจริงบุคลากรทุกคนรับผิดชอบทุกคน

Advertisment