HR กับกระท่อมเกี่ยวกันไหม ?

กระท่อม
เอชอาร์ คอร์เนอร์

ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์
https://tamrongsakk.blogspot.com

ก่อนหน้านี้พืชกระท่อมถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายถ้าใครปลูก จำหน่าย หรือเสพก็ต้องรับโทษกันไปตามกฎหมายบ้านเมือง แต่พอมาในยุคนี้พืชกระท่อมก็ถูกประกาศว่าไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายอีกต่อไป เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เลยมีคำถามร่วมสมัยจากคนทำงาน HR มาว่าบริษัทควรจะรับมือในเรื่องนี้ยังไงดี เช่น วันดีคืนดีถ้าพนักงานนำใบกระท่อมเข้ามาแบ่งกันเคี้ยวเล่น ๆ หรือทำน้ำกระท่อมมาแบ่งกันดื่มในบริษัทกันอย่างครื้นเครงล่ะจะทำยังไง ?

ผมก็เลยตอบตามความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างนี้ครับ

1.การจำหน่ายแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า, เบียร์, ไวน์ ฯลฯ ในบ้านเราก็ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย แต่ทุกบริษัทก็ยังมีข้อบังคับการทำงานในหมวดวินัยและการลงโทษเอาไว้ว่า ห้ามพนักงานนำแอลกอฮอล์เข้ามาในบริษัท หรือดื่มแอลกอฮอล์ในเวลางาน ถ้าใครฝ่าฝืนบริษัทจะถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง บริษัทจะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น

2.เรื่องพืชกระท่อมก็เช่นเดียวกันกับแอลกอฮอล์ แม้ปัจจุบันจะถือว่าไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย แต่ทุกบริษัทก็สามารถระบุเอาไว้ในข้อบังคับการทำงานในหมวดของวินัยและการลงโทษเอาไว้ได้ว่า ห้ามพนักงานนำพืชกระท่อม หรือส่วนหนึ่งส่วนใดที่มาจากพืชกระท่อมเข้ามาในบริษัท รวมถึงห้ามเสพ จำหน่าย จ่ายแจกกระท่อม หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพืชกระท่อมในบริษัท หากฝ่าฝืนจะถือเป็นความผิดทางวินัย

3.หากพนักงานฝ่าฝืน บริษัทก็ต้องออกหนังสือตักเตือน และถ้าหากพนักงานยังฝ่าฝืนผิดซ้ำคำเตือนในเรื่องนี้ ก็ถือว่าเป็นความผิดกรณีร้ายแรงตามมาตรา 119 ข้อ 4 บริษัทจะแจ้งเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น

4.การดำเนินการทางวินัยในเรื่องพืชกระท่อมอาจจะแตกต่างจากการห้ามดื่มแอลกอฮอล์ในที่ทำงาน คือ บริษัทมักจะระบุโทษในเรื่องนี้ไว้ว่าเป็นความผิดร้ายแรง ถ้าพนักงานฝ่าฝืนบริษัทจะเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใด ๆ (โดยไม่ต้องตักเตือน)

แต่ในกรณีของพืชกระท่อม ผมก็ไม่ทราบว่าเมื่อเสพเข้าไปแล้วมันจะออกฤทธิ์มึนเมาเหมือนกินเหล้ากินเบียร์มากน้อยแค่ไหน แต่ก็คิดว่ามันคงออกฤทธิ์ออกเดชมาบ้างแหละถึงได้เคยเป็นสิ่งผิดกฎหมายมาก่อน ก็เลยเห็นว่าควรใช้วิธีตักเตือนเสียกันเสียก่อน แล้วถ้าพนักงานยังฝ่าฝืนทำผิดซ้ำคำเตือนอีกค่อยเลิกจ้างจะชัวร์กว่าครับ

ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นเฉพาะตัวผมนะครับ ท่านที่อ่านแล้วจะเห็นด้วยหรือไม่ก็คงเป็นสิทธิของท่าน หรืออาจจะคิดหาวิธีอื่นที่ดีกว่านี้ที่จะนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับแต่ละองค์กรต่อไปก็แล้วกัน

ต้องชม HR บริษัทที่ถามเรื่องนี้มาว่าคำถามทันสมัย ชวนให้คิดและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมดีครับ