“SE” ในบริบท “บ้านปู” เรียนรู้-พัฒนา-เพื่อสังคมยั่งยืน

ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้ทำธุรกิจด้านพลังงานในเอเชียที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมไปพร้อม ๆ กับการประกอบธุรกิจ ได้สนับสนุนกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise-SE) มาแล้วกว่า 72 กิจการ ด้วยการให้โอกาสคนรุ่นใหม่ทั่วประเทศไทยนำเสนอ และลงมือทำ SE ใหม่ ๆ ที่ก่อประโยชน์ต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change)

เหมือนดังไม่นานผ่านมา บริษัทได้ประกาศผล 5 กิจการดีเด่นประจำปี 2017 โดยร่วมกับสถาบัน Change Fusion องค์กรไม่แสวงผลกำไรภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

“อุดมลักษณ์ โอฬาร” ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการซีเอสอาร์ของ บมจ.บ้านปู ในประเทศไทยเน้นเรื่องการพัฒนาชุมชน, อาชีพ, การศึกษา, เยาวชน และสิ่งแวดล้อม โดยใช้การเรียนรู้ในการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ซึ่ง Banpu Champions for Change เป็นหนึ่งในกิจกรรมซีเอสอาร์ระดับองค์กรของบริษัท ที่ดำเนินการมาแล้วเป็นปีที่ 7

“โดยต่อยอดมาจากโครงการส่งเสริมการสร้างผู้ประกอบการทางสังคมรุ่นใหม่ (Young Social Entrepreneur) ที่บริษัทให้การสนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2549 ภายใต้แนวคิดพลังความรู้ คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา เพราะเราเชื่อมั่นว่าการเรียนรู้จะนำไปสู่การพัฒนา และการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับชุมชน และสังคมในระยะยาว”

“Banpu Champions for Change” มุ่งเน้นความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยใช้การบริหารจัดการเชิงธุรกิจ ตลอดจนคุณธรรมในการทำ SE ทั้งยังมีจุดมุ่งหมายให้ผู้ประกอบกิจการสามารถดำเนินงานต่อเนื่องด้วยตนเอง รวมถึงการให้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง โดยปีที่ 7 บริษัทเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่อายุระหว่าง 20-35 ปีส่งแผน SE ที่มีจุดมุ่งหมายแก้ปัญหา หรือพัฒนาสังคม ชุมชน แต่ที่สำคัญจะต้องเป็นกิจการที่ใช้ความถนัด และความสนใจของตนเอง โดยมีความตั้งใจที่จะนำผลลัพธ์ทางการเงินที่ได้แบ่งปันสู่สังคม

Advertisment

โดยกิจการที่ผ่านการคัดเลือก 11 โครงการจะได้รับทุนสนับสนุนระยะแรกเป็นจำนวนเงินรวม 800,000 บาท เพื่อดำเนินกิจการ 3 เดือน หลังจากนั้นคณะกรรมการจะคัดเลือกกิจการที่มีผลดำเนินงานชัดเจน และตอบโจทย์ความยั่งยืนจำนวน 5 กิจการ เพื่อรับทุนสนับสนุนรวมกว่า 1.25 ล้านบาท ในการสานต่อกิจการต่อไป

“อุดมลักษณ์” กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นเรายังต่อยอดโครงการด้วยการจัดงานแฟร์กิจการเพื่อสังคม Impact Day : เพราะการเปลี่ยนแปลงเริ่มได้จากตัวเรา เพื่อขยายความรู้ให้นักศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้าใจในแนวคิดของกิจการเพื่อสังคม ทั้งยังมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ประกอบการ 5 กิจการเพื่อสังคมที่ชนะเลิศ ได้แก่ ผัก Done-ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากการจัดการขยะอินทรีย์ มุ่งแก้ปัญหาทางด้านการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม, FarmTO-ช่องทางการจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกรออนไลน์ โดยมีการจับจองแปลงผลผลิตล่วงหน้า มุ่งแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ สร้างช่องทางการขายและส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น

“ภูคราม-ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายย้อมครามโดยชุมชนในจังหวัดสกลนคร มุ่งสร้างอาชีพและปรับเปลี่ยนทัศนคติให้แก่คนในชุมชน, Art for Cancer-ช่องทางในการสร้างอาชีพเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง มุ่งสร้างกำลังใจ ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคที่ถูกต้อง และสร้างรายได้ให้แก่ผู้ป่วยมะเร็ง และ Heartist-แบรนด์กระเป๋าที่ผลิตจากเนื้อผ้าถักทอโดยผู้พิการทางสมอง มุ่งบำบัดพัฒนาการทางด้านอารมณ์ให้แก่ผู้พิการทางสมอง เพื่อสร้างอาชีพ และรายได้ให้แก่ครอบครัวของผู้พิการทางสมอง”

นอกจากนั้นยังมีอีก 5 ทีมรองชนะเลิศและผู้ประกอบการ SE นอกโครงการฯอีก 30 ราย มาร่วมออกบูทเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือสังคมต่อไป

Advertisment

“สุนิตย์ เชรษฐา” ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion กล่าวเสริมว่า นอกจากการให้เงินทุนในการดำเนินกิจการ ทางโครงการยังจัดเวิร์กช็อปเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการบริหารธุรกิจ การจัดการกระบวนการสร้างผลลัพธ์ทางสังคม และเชิญกูรูในแวดวงที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้และชี้แนะแนวทางเพิ่มเติม เพื่อเสริมรากฐานไปสู่การดำเนินกิจการที่สามารถสร้างรายได้ และประโยชน์เพื่อสังคมอย่างยั่งยืน

“จุดแข็งของโครงการฯ คือการที่ผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการแต่ละปี ยังคงพบปะเพื่อปรึกษากัน และทำธุรกิจร่วมกันหลังจบโครงการฯ เหมือนเป็นเครือข่ายที่ช่วยกันขยายความรู้ความเข้าใจเรื่อง SE เพื่อช่วยกันต่อยอดความคิดใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจ และช่วยเหลือสังคมไปพร้อม ๆ กัน”

หลังจากการดำเนินโครงการในทุก ๆ ปี บริษัทมีการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม (Social Impact Assessment) ของกิจการเพื่อสังคมที่ร่วมโครงการ พบว่ากว่าครึ่งหนึ่ง ดำเนินกิจการอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังมีผลการดำเนินงานที่ดี และนับจากเริ่มโครงการในปี 2554 กิจการเพื่อสังคมที่เข้าร่วมโครงการก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกแก่ชุมชนกว่า 50 แห่ง มีผู้คนกว่า 200,000 คนมีสุขภาพ และความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถเข้าถึงผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตกว่า 600,000 คน อีกทั้งยังช่วยลดของเสียไปได้กว่า 3,000 กิโลกรัม สำคัญไปกว่านั้น ยังสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้แก่ชุมชนหลายสิบแห่งอีกด้วย

“ไอรีล ไตรสารศรี” ผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคม อาร์ตฟอร์แคนเซอร์ ฝากถึงคนที่สนใจเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมว่า จุดเริ่มต้นต้องมาจากใจที่อยากร่วมแก้ปัญหาสังคมก่อน เพราะเมื่อเรามีใจจะทำให้เกิดความตั้งใจ และความสามารถขึ้นมาเอง และเชื่อว่าเมื่อเราไปบอกเล่า หรือไปขอความร่วมมือกับองค์กรใด ๆ เขาจะสัมผัสได้ และอยากจะสนับสนุนเราไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง

“ส่วนตัวมองว่าการทำ SE ยากกว่าธุรกิจที่แสวงหากำไรอย่างเดียว แต่เมื่อเราทำได้จะรู้สึกภูมิใจมากกว่า ที่ชีวิตของเราในทุกวันสามารถยังประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้ โดยอนาคตตั้งเป้าว่า Art for Cancer จะเป็นองค์กรที่เป็นตัวกลางของคนในสังคม ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทย โดยจะสนับสนุนผู้ป่วยมะเร็งที่ยากไร้ในโรงพยาบาลภาครัฐ และหาช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับผู้ป่วยในระยะยาวพร้อม ๆ กับการเสริมสร้างกำลังใจ และแรงบันดาลใจให้ผู้ป่วย เพื่อให้พวกเขาเรียนรู้ และก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก จนสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขต่อไป”

จึงนับว่า Banpu Champions for Change เป็นอีกหนึ่งบานประตูสำคัญที่จะเปิดไปสู่องค์ความรู้ คำปรึกษา และความช่วยเหลือ ที่ช่วยพัฒนาระบบนิเวศกิจการเพื่อสังคมไทยให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น