อแมนด้า: มุมมองทางการเมือง ก่อนถูกปลด “ทูตด้านสุขภาพจิต”

รวมความเห็นทางการเมืองของอแมนด้า

รวบรวมความเห็นทางสังคม-การเมืองของ “อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม” มิสยูนิเวอร์สไทยแลนด์ 2020 ที่ล่าสุดถูกปลดจากตำแหน่งทูตด้านสุขภาพจิตของกรมสุขภาพจิต 

วันที่ 2 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีกรมสุขภาพจิต ออกแถลงการณ์ “ยุติ” การเป็นทูตด้านสุขภาพจิต ของ อแมนด้า – ชาลิสา ออบดัม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 หลังจากที่เพิ่งแต่งตั้งเธอ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่ากรมสุขภาพจิตไม่สามารถดำเนินภารกิจที่อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งและสร้างความไม่สบายใจแก่ประชาชนในสังคมได้ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมความเห็นฟาด ๆ ปัง ๆ ในโลกโซเชียล ที่ “อแมนด้า” มีต่อประเด็นทางสังคมและการเมือง ดังนี้…

โพสต์ไอจีสตอรีหนุนประชาธิปไตย

หลังคว้าตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ไปครองได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2563 คล้อยหลังได้ไม่ถึง 1 สัปดาห์ นางงามลูกครึ่งไทย-แคนาดา ก็ออกตัวสนับสนุนประชาธิปไตย ด้วยการโพสต์ข้อความในไอจีสตอรี่ช่วงกลางดึก ว่า ขอโทษที่ช้า แต่มาแล้วนะ พร้อมอธิบายว่า วันนี้ตนมีงานค่อนข้างหลายงาน ออกงานตามสื่อทั้งวัน อยากจะเข้าใจสถานการณ์ทั้งหมดจริง ๆ ก่อนจะโพสอะไรออกไป

“อแมนด้า” ยังได้ระบุสิ่งที่ตนสนับสนุน ได้แก่ 1.ประชาธิปไตย 2.หลักการสิทธิมนุษยชนคือหัวใจหลักในการปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ 3.ต่อต้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ 4.เสรีภาพในการพูดบนพื้นฐานความจริง 5.ความเท่าเทียมกันของทุกคน Be safe everyone

โดยในวันที่ 14-15 ตุลาคม 2563 คณะราษฎร ได้มีการชุมนุมต่อเนื่อง โดยมีมวลชนปักหลักอยู่ที่บริเวณด้านหน้าทำเนียบรัฐบาลถึงเช้ามืดวันที่ 15 ตุลาคม ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะกระชับพื้นที่และยึดพื้นที่ทั้งหมดคืน ต่อมาจึงมีการควบคุมตัวแกนนำ

#ทรงผมบังเพื่อน

วันที่ 25 พฤศจิกายน  2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อแมนด้า ออบดัม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ได้ทวีตข้อความพร้อมแฮชแท็ก #ทรงผมบังเพื่อน ว่า ผมยาวเป็นศอก และได้เกียรตินิยมจากแคนาดา”

    

 

ประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้น ภายหลังจาก นายวีระ แข็งกสิการ ร่วมดีเบตถึงประเด็นต่าง ๆ กับตัวแทนจากกลุ่มนักเรียนเลว ในรายการ ถามตรง ๆ กับจอมขวัญ ทางไทยรัฐทีวี เมื่อ 23 พ.ย. ว่า ประเด็นที่อยากให้ดูคือในรัฐธรรมนูญน่าจะไม่ได้กำหนดเรื่องสิทธิอย่างเดียว แต่ได้พูดถึงหน้าที่ด้วย รัฐธรรมนูญเองก็เหมือนศีลที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันในสังคม เพื่อให้อยู่ได้อย่างปกติสุข ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หลายเรื่องที่ทำแล้วทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ประเด็นที่เกี่ยวข้องด้วย ขอยกตัวอย่างเรื่องทรงผม

“สมมุติว่าถ้าน้องจะทำผมยาวสักศอกหนึ่ง คนที่เดือดร้อนคือพ่อแม่ ต้องซื้อยาสระผมมาสระให้นักเรียน เวลาเรามานั่งในห้องเรียนผมเราที่ยาวเป็นศอกก็บังเพื่อนอยู่ด้านหลัง นี่คือความรู้สึกของคนอื่น แต่ความรู้สึกของเรา กำหนดแค่สิทธิของเรา แต่ไม่รู้ว่าหน้าที่ที่เราต้องอยู่ในสังคม” นายวีระกล่าว

ทันทีที่ประโยคดังกล่าวเผยแพร่ออกไป โลกออนไลน์ โดยเฉพาะทวิตเตอร์ได้เกิดแฮชแท็ก #ทรงผมบังเพื่อน ทันที

อแมนด้า ซัดปม “หมอชนะ”

วันที่ 7 มกราคม 2564 “อแมนด้า” ได้รีทวีตข้อข้อความ ศูนย์ข้อมูล Covid-19 ถึงกรณีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถำนการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 17)

มีการยกระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค ให้ประชาชนในพื้นที่ติดตั้งแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” ควบคู่การใช้แอปพลิเคชั่นไทยชนะ หากพบว่าติดเชื้อโควิด-19 แล้วไม่มีแอปพลิเคชั่นดังกล่าวในโทรศัพท์มือถือ มีความผิดตามกฎหมาย

มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ระบุว่า “อยากเห็นความจริงจังในการจัดการผู้กระทำผิดและเป็นต้นเหตุในการระบาดของเชื้อ เช่น ผู้เปิดให้มีการลักลอบขนแรงงานต่างด้าว ผู้ที่ปล่อยให้มีการลักลอบเล่นการพนัน เหมือนกับที่จริงจังในการบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบแบบนี้อย่างเท่าเทียม”

วันแห่งความรัก

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งตรงกับวันแห่งความรักหรือวันวาเลนไทน์ เจ้าตัวโพสต์ข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า How can we talk about love when there’s still violence on the street? (เราจะพูดถึงวันแห่งความรักได้ยังไง เมื่อยังมีประชาชนถูกทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ มีการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนเคลื่อนมาบริเวณหน้าศาลฎีกา ใกล้ท้องสนามหลวง เมื่อมีการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่เป็นระยะ แกนนำจึงประกาศยุติการชุมนุม

ตำรวจประกาศขีดเส้นตายให้ผู้ชุมนุมทั้งหมดออกจากพื้นที่ภายใน 30 นาที หากไม่ปฏิบัติตามและยังคงก่อความวุ่นวายหลังเวลา 21.30 น. ตำรวจจำเป็นต้องใช้มาตรการขั้นต่อไป รวมถึงการเข้าจับกุม ซึ่งต่อมาปรากฏคลิปทีมแพทย์อาสาถูกทำร้ายร่างกาย

ความเห็นที่มีต่อสังคมและการเมืองเหล่านี้ กลายเป็นต้นทุนที่ “อแมนด้า” ต้องจ่าย ในยามที่สังคมถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว