“อแมนด้า” ถูกทวงคืนตำแหน่ง “ทูตสุขภาพจิต” ของกรมสุขภาพจิต

ริบตำแหน่งทูตสุขภาพจิตจากอะแมนด้า
ภาพจากอินสตาแกรม amanda.obdam

กรมสุขภาพจิต ขอคืนตำแหน่ง “ทูตสุขภาพจิต” จาก “อแมนด้า” ชาลิสา ออบดัม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 หลังแต่งตั้ง 5 วัน

วันที่ 2 มีนาคม 2564 มติชน รายงานว่า กรมสุขภาพจิต ที่เพิ่งแต่งตั้ง อแมนด้า – ชาลิสา ออบดัม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 เป็น “ทูตสุขภาพจิต” เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เนื่องจากเจ้าตัวมีโครงการ “Have You Listened” ช่วยเหลือผู้ป่วยซึมเศร้า ได้ออกแถลงการณ์ “ยุติ” การเป็นทูตสุขภาพจิตของเธอ

ในประกาศมีใจความว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม กรมสุขภาพจิต ยุติการมอบหมาย นางสาวอแมนด้า ชาลิสา ออบดัม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 เป็นทูตด้านสุขภาพจิต ตามที่กรมสุขภาพจิตและกองประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ได้เคยมีการตกลงความร่วมมือด้านการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์งานด้านสุขภาพจิตของกระทรวงสาธารณสุขนั้น รวมไปถึงสนับสนุนการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตของกองประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์

ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกรมสุขภาพจิตมีข้อตกลงกับกองประกวดในการมอบหมายให้เจ้าของตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ดำเนินภารกิจเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของกรมสุขภาพจิตหรือทูตด้านสุขภาพจิต เพื่อปฏิบัติหน้าที่ช่วยสร้างความตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพจิตในประเทศไทย

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ทางกรมสุขภาพจิตได้รับทราบถึงข้อกังวลของประชาชนต่อการมอบหมายภารกิจด้านสุขภาพจิตแก่ นางสาวอะแมนด้า ชาลิสา ออบดัม เจ้าของตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งการมอบหมายภารกิจทูตด้านสุขภาพจิตที่ได้นั้นไม่ได้เป็นการมอบหมายอภิสิทธิพิเศษแต่อย่างใด เป็นเพียงหน้าที่และภารกิจการช่วยเหลืองานด้านสุขภาพจิตเท่านั้น ซึ่งมีหน้าที่ได้แก่

1.ส่งเสริมภาพลักษณ์การทำงานด้านสุขภาพจิต

2.ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อช่วยให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดี

3.ปฏิบัติงานจิตอาสากรมสุขภาพจิต และ 4.ขยายเครือข่ายจิตอาสาเพื่อสร้างกระแสการเป็นผู้รับฟังที่ดี เช่นเดียวกับความร่วมมือของกรมสุขภาพจิตกับกองประกวดมิสไทยแลนด์เวิล์ดในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการมอบหมายภารกิจทูตด้านสุขภาพจิตเช่นเดียวกัน

กรมสุขภาพจิตมีเป้าหมายในการสร้างความสุขให้แก่ประชาชนและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาโดยตลอด แต่อย่างไรก็ดี กรมสุขภาพจิตรับทราบถึงความกังวลใจของประชาชนในขณะนี้ และกรมสุขภาพจิตไม่สามารถดำเนินภารกิจที่อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งและสร้างความไม่สบายใจแก่ประชาชนในสังคมได้

ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตได้มีการปรึกษาหารือกับกองประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์และรับทราบร่วมกันถึงความกังวลใจของประชาชน ทางกรมสุขภาพจิตจึงขอยุติบทบาทภารกิจทูตด้านสุขภาพจิตดังกล่าวตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

มติชนยังรายงานเพิ่มเติมว่า ที่เพจเฟซบุ๊ก กรมสุขภาพจิต ใต้โพสต์การรายงานข่าวการแต่งตั้ง อะแมนด้า เป็นทูตกรมสุขภาพจิตและอีกหลาย ๆ โพสต์ที่มีความเกี่ยวข้องกับอะแมนด้า มีผู้เข้าไปแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งของเธอ เช่น

  • นางงามที่แสดงทัศนะด้วยอคติและนำข้อมูลเท็จใส่ร้ายประเทศไทยต่อนานาชาติควรทำหน้าที่เป็นตัวแทนกรมสุขภาพจิตหรือเรื่องนี้มีดีลพิเศษอะไรหรือไม่ เรื่องน่าอายของกระทรวงระดับมันสมองของประเทศ
  • ไม่ว่าจะเป็น นางงาม นักกีฬา หรือ แฟนต้ายุวทูต ฯลฯ ถ้าคุณได้ถูกอุปโลกน์ให้เป็น “ทูตกิตติมศักดิ์” สิ่งแรกที่คุณต้องมีคือ ภาพลักษณ์และพฤติกรรมที่ดีในการเป็นตัวแทนส่งเสริมภาพลักษณ์ของ “ราชอาณาจักรไทย”….
  • นางงามคนนี้แสดงทัศน-อคติที่เป็นพิษกับสุขภาพจิตคนไทยนะคะ
  • นางงามสุขภาพจิตฟั่นเฟือนป่าวงะ…เลือกไม่ดูเลย ทั้งประเทศไม่มีคนอื่นแล้วหรอค่ะ
  • จะพูดเพื่อลดอคติ ลดความเกลียดชัง ได้อย่างไร เมื่อผู้พูดมีอคติและความเกลียดชัง ไม่ใช้เหตุผลและสมองในการคิดวิเคราะห์ เปลี่ยนเถอะค่ะ

อย่างไรก็ตาม มีผู้เข้าไปให้กำลังใจอะแมนด้าจำนวนมากเช่นกัน

  • สนับสนุนน้องด้า 100% นะคะอแมนด้าเหมาะสมมากๆค่ะ
  • ด้าให้ความสำคัญกับเรื่อง mental health มาตั้งแต่แรก เมื่อได้เป็น MUT แล้วยังมาสานโครงการต่อ สนับสนุนค่ะ
  • สนับสนุนด้าที่ทำโครงการดี ๆ แบบนี้ขึ้นมาค่ะ คิดว่าน่าจะมีคนจำนวนเยอะเลยที่ต้องได้เข้าร่วมโครงการนี้ ทำดีแล้วไม่ต้องกลัวอะไรค่ะ
  • อะแมนด้าเหมาะสมกับตำแหน่งนี้แล้วนะคะ จะมีใครเข้าใจปัญหานี้เท่ากับคนที่ประสบมาโดยตรง น้องให้ความสำคัญกับMental Healthมาตลอด และตั้งใจมากที่จะทำโครงการHave you listenedและตั้งใจจะช่วยเหลือคนที่มีปัญหาด้านนี้ สนับสนุนและซัพพอร์ตกรมสุขภาพจิตและอะแมนด้าค่ะ

 

สำหรับสาเหตุที่ทำให้อะแมนด้าถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลนั้น คาดว่าเป็นเพราะเธอออกมาแสดงความเห็นต่อประเด็นทางสังคม เช่น การที่เธอรีทวีตข้อข้อความ ศูนย์ข้อมูล Covid-19 ถึงกรณีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถำนการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 17)

ซึ่งมีการยกระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค ให้ประชาชนในพื้นที่ติดตั้งแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” ควบคู่การใช้แอปพลิเคชั่นไทยชนะ หากพบว่าติดเชื้อโควิด-19 แล้วไม่มีแอปพลิเคชั่นดังกล่าวในโทรศัพท์มือถือ มีความผิดตามกฎหมาย 

ซึ่งเธอตอกกลับเรื่องนี้ผ่านทางทวิตเตอร์ว่า “อยากเห็นความจริงจังในการจัดการผู้กระทำผิดและเป็นต้นเหตุในการระบาดของเชื้อ เช่น ผู้เปิดให้มีการลักลอบขนแรงงานต่างด้าว ผู้ที่ปล่อยให้มีการลักลอบเล่นการพนัน เหมือนกับที่จริงจังในการบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบแบบนี้อย่างเท่าเทียม”