ฟ้าทะลายโจร ป้องกันโควิดได้จริงหรือไม่ ?

ฟ้าทะลายโจรป้องกันโควิดได้หรือไม่
ภาพจากเทคโนโลยีชาวบ้าน

ในช่วงที่โควิดระบาดหลัก ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรถูกพูดถึงและกลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง เนื่องจากหลายคนเชื่อว่าสามารถรักษาและป้องกันโควิดได้

วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรฟ้าทะลายโจร โดยอ้างว่าสามารถป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากแห่ซื้อฟ้าทะลายโจรติดบ้าน เพื่อกินดักเอาไว้ล่วงหน้า ทั้งที่ยังไม่มีอาการป่วยหรือติดเชื้อแต่อย่างใด

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เพื่อหาคำตอบว่าสมุนไพรชนิดนี้แท้จริงแล้วสามารถป้องกันโควิดได้จริงหรือไม่ ? รวมถึงข้อระมัดระวังต่าง ๆ ในการใช้ยาฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจรป้องกันโควิดได้หรือไม่ ?

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า สมุนไพรฟ้าทะลายโจร มีสารออกฤทธิ์สำคัญ ชื่อ “สารแอนโดรกราโฟไลด์” (Andrographolide) ซึ่งมีฤทธิ์การต้านไวรัสที่น่าสนใจ โดยเมื่อปีที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ศึกษาว่าฟ้าทะลายโจร เมื่อไปอยู่กับเซลล์ในร่างกายแล้วจะสามารถป้องกันเชื้อไวรัสโควิดได้หรือไม่ ปรากฏว่าเชื้อไวรัสสามารถทะลุทะลวงเข้าไปในเซลล์บนที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ได้ ฉะนั้นแปลว่า “ฟ้าทะลายโจรไม่สามารถป้องกันโควิดได้”

ด้าน นพ.ธรณัส กระต่ายทอง กล่าวว่า ฟ้าทะลายโจรช่วยลดเรื่องการอักเสบได้ โดยสามารถช่วยรักษาโรคโควิดได้ เมื่อบุคคลนั้นมีอาการป่วยหรือติดเชื้อแล้วเท่านั้น และหากติดเชื้อแล้วมีผลตรวจเป็นลบ แนะนำให้กิน 60 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ถ้ามีอาการไม่มาก ไอและเจ็บคอเล็กน้อยให้กิน 180 มิลลิกรัมต่อวัน และให้กินติดต่อกันแค่ 5 วันเท่านั้น

“ฟ้าทะลายโจรไม่สามารถใช้กินเพื่อป้องกันได้เนื่องไม่มีฤทธิ์ป้องกัน และไม่ควรกินเกินขนาดเนื่องจากเป็นยาที่มีรสขม ซึ่งจะส่งผลข้างเคียงต่อตับได้”

รักษาโควิดในผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง

พญ.อัมพร กล่าวอีกว่า เมื่อไม่สามารถป้องกันได้ คำถามต่อมาคือฟ้าทะลายโจรสามารถนำมารักษาได้หรือไม่ ? เมื่อปีที่แล้ว กรมวิทย์ศึกษาพบว่า สารแอนโดรกราโฟไลด์ในฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ฆ่าไวรัสในหลอดทดลองได้ แถมยังฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางตัวได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นยาลดไข้ที่ดี ใช้เป็นยาหลักในการลดไข้ตั้งแต่ปี 2559 และพบอีกว่าฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ลดการอักเสบ รวมถึงยังส่งเสริมภูมิคุ้มกันได้ด้วย

ที่ผ่านมากรมการแพทย์แผนไทยและกรมการแพทย์ทางเลือก ได้ร่วมการศึกษาวิจัยใน 9 โรงพยาบาล กับผู้ป่วย 304 คน เริ่มในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย ไม่มีปอดบวม โรงพยาบาลให้กินยาฟ้าทะลายโจร พร้อมกำหนดให้มีระดับของสารแอนโดรกราโฟไลด์ที่เพียงพอสำหรับการกำจัดเชื้อไวรัสได้ โดยไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ในที่สุดก็คำนวณได้ว่าต้องอยู่ในระดับ 180 มก. ติดต่อกัน 5 วัน

ปรากฏว่าในผู้ป่วย 304 ราย ทุกรายอาการดีขึ้น ไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง แต่อาจจะมีผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น เวียนศีรษะ ใจสั่น หน้ามืด รวมถึงถ่ายเหลว

จึงสรุปว่า “ฟ้าทะลายโจรมีโอกาสถูกเสนอเป็นทางเลือกที่สำคัญในการใช้รักษาโควิด กับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง” และขณะนี้ได้มีการขยายการศึกษาลงไปสู่กลุ่มโรงพยาบาลสนามบางแห่ง ซึ่งหากมีความก้าวหน้าอย่างไร กรมการแพทย์จะหยิบยกผลลัพธ์มารายงานต่อไป

ใช้ฟ้าทะลายโจรไม่ต้องฉีดวัคซีนใช่หรือไม่ ?

ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร บอกว่า การฉีดวัคซีนเป็นการเสริมภูมิคุ้มกันที่จำเพาะสำหรับเชื้อโควิด ถึงแม้จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่อย่างน้อยก็ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง ลดภาระของระบบบริการสุขภาพได้

การใช้ฟ้าทะลายโจรมีข้อมูลสนับสนุนว่ามีฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกันทั้งภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิดและภูมิคุ้มกันจำเพาะ แต่ยังไม่มีการศึกษากับเชื้อโควิดโดยตรง ดังนั้นประชาชนควรฉีดวัคซีน ซึ่งจะเห็นได้จากประเทศอังกฤษที่มีการฉีดวัคซีนกันอย่างกว้างขวางทำให้อัตราการติดเชื้อลดลง

ข้อห้ามสำหรับยาฟ้าทะลายโจร

แม้ฟ้าทะลายโจรจะมีประโยชน์แต่ก็มีข้อควรระวัง ดังนี้

  • ผู้ป่วยที่มีประวัติเคยแพ้ยาฟ้าทะลายโจรมาก่อน หรือกินครั้งแรกแล้วผื่นขึ้นเป็นสัญญาณว่าต้องหยุดใช้
  • ไม่แนะนำสำหรับหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร
  • ไม่แนะนำสำหรับผู้มีโรคประจำตัวโดยเฉพาะโรคตับ ไต
  • ห้ามเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่กินยารักษาโรคประจำตัว เช่น วาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล และยาลดความดันโลหิต เพราะการกินรวมกันอาจทำให้ประสิทธิภาพออกฤทธิ์ไม่เหมือนเดิม
  • กินติดต่อกันไม่เกิน 5 วัน หยุด 2 วัน ต่อเนื่องไม่เกิน 3 เดือน ทั้งนี้ ต้องพึงระวังอาการข้างเคียงอื่น ๆ ด้วย ข้อแนะนำนี้เกิดจากผลการศึกษาจากชิลีที่ช่วยให้การติดเชื้อหวัดลดลง
  • ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดควรหยุดใช้สมุนไพรนี้อย่างน้อย 2 สัปดาห์

ทั้งนี้ การกินยาฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาโรคหรือภาวะผิดปกติบางอย่าง ยังต้องหาหลักฐานยืนยันถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย จึงไม่ควรรับประทานตามคำอ้างต่าง ๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ