ฉลองเปิด”ล้ง 1919″ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมเจ้าพระยา”มรดกหวั่งหลี”อายุ167ปี

ฉลองเปิด “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตระการตา จาก “มรดกหวั่งหลี” อายุ 167 ปี สู่ศักดิ์ศรี “มรดกแผ่นดิน” จุดหมายใหม่ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

ด้วยหัวใจรักและตระหนักถึงคุณค่าของมรดกที่บรรพบุรุษสร้างไว้ในอดีตจนเจริญมั่นคงในปัจจุบัน อันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมที่ถือเป็นมรดกของชาติด้วย ตระกูล “หวั่งหลี” ในฐานะผู้ถือครอง จึงริเริ่มโครงการ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำพระยา โดย บริษัท ชิโน พอร์ท จำกัด ในฐานะผู้บริหารโครงการฯ ได้จัดงานเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ โดยมี คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน ภายในงานยังได้รับเกียรติจากแขกผู้มีเกียรติ ผู้หลงใหลในศิลปวัฒนธรรมจีนจากหลากหลายวงการร่วมงานคับคั่ง อาทิ คุณใหม่ – สิริกิติยา เจนเซน, ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี, ม.ล.ภูมิใจ ชุมพล, ธีรวัฒน์ – สมพร กนกกุล, นวลพรรณ ล่ำซำ, พรนภา จันศิริ, ฐาปน – ปภัชญา สิริวัฒนภักดี, ทศ จิราธิวัฒน์, อารยา จิตตโรภาส, ปรมา ไรวา, ไกรสิงห์ วอน บูเรน, กรณ์วิภา โชติกเสถียร, สิรินิจ โชคชัยฤทธิกุล, ดิฐวัฒน์ อิสสระ, สรรพฤทธิ์ ปัญจะ, สายวิภา ปัญจะ, ณริช พารานุลักษา, ศิวะศิษฐ์ เลาหพงศ์ชนะ, ประกาศิต พรประภา, ดร.พรเทพ พรประภา, นภัสนันท์ พรประภา, นิภาภรณ์ ศิริพงษ์, สิรินิจ โชคชัยฤทธิกุล ฯลฯ พร้อมด้วยครอบครัวตระกูลหวั่งหลี ที่ทำหน้าที่เจ้าบ้าน ให้การต้อนรับ อาทิ สุกิจ หวั่งหลี, วุฒิชัย หวั่งหลี, สุจินต์ หวั่งหลี, ธรรมนูญ หวั่งหลี, สุชาติ หวั่งหลี, สุเทพ หวั่งหลี, รุจิราภรณ์ หวั่งหลี, ชลันต์ หวั่งหลี, พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร, ดร.ศรัณฐ์ หวั่งหลี, อนรรฆ หวั่งหลี, ฯลฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน 2560 ณ โครงการ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ถ.เชียงใหม่ เขตคลองสาน

กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงความสำคัญของงานเปิดโครงการฯ ครั้งนี้ว่า “โครงการ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำพระยา แห่งนี้กำลังเป็นที่จับตาของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเป็นอย่างมาก ด้วยความโดดเด่นเฉพาะตัวในหลายแง่ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งกินดื่มและช็อปปิ้งบนทำเลที่ดีอย่าง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงมีศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) เทพอุปถัมภ์ผู้เดินเรือศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเชื้อสายจีนมาตั้งแต่ครั้งอดีตจนปัจจุบัน และที่สำคัญคือคุณค่าทางประวัติศาสตร์ จากอาคารไม้สถาปัตยกรรมจีนโบราณ และการค้นพบจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างจีนโบราณ อายุ 167 ปี ที่คู่ควรแก่การอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ของคนรุ่นหลังอีกด้วย คาดว่าที่นี่จะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ถือเป็นการ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของชาติอีกด้วย ในส่วนของความรู้สึกส่วนตัวของดิฉันแล้ว ต้องขอขอบคุณจากใจ ที่ทำให้เราได้เห็น “ล้ง 1919” (LHONG 1919) กลับมามีชีวิตอีกครั้ง รู้ว่าเหนื่อย เป็นสิ่งที่ยากลำบาก แต่เพื่อให้เป็นสถานที่ที่ยังคงจะถูกอนุรักษ์ไว้ให้บรรพชนรุ่นหลังได้เห็นต่อไป ก็ทุ่มเทจนสำเร็จสมบูรณ์ในวันนี้ ดิฉันรู้สึกซาบซึ้งใจมากค่ะ”

ด้าน รุจิราภรณ์ หวั่งหลี ผู้บริหารโครงการ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวถึงที่มาของโครงการฯ ว่า “ด้วยความรัก ความภาคภูมิใจ และหัวใจอนุรักษ์ ครอบครัวหวั่งหลีที่ต่างเห็นพ้องต้องกันที่จะปลุกชีวิตของอดีตท่าเรือกลไฟ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ที่หลับใหล มาเป็นเวลายาวนาน 167 ปี ให้ตื่นขึ้นมามีชีวิตอีกครั้ง เป็นโครงการ ล้ง 1919” (LHONG 1919) แหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมไทย-จีน แห่งนี้ ด้วยวิธีการบูรณะเชิงอนุรักษ์แบบโบราณและเทคโนโลยี ด้านวิศวกรอันทันสมัย พร้อมเปิดให้เป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนภายนอก นักเรียนนักศึกษา รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ได้เข้ามาท่องเที่ยวและศึกษาประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม ของไทยกับจีน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อรักษามรดกของบรรพบุรุษ และมรดกแผ่นดิน”

ดร. ศรัณฐ์ หวั่งหลี, พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร, สุจินต์ หวั่งหลี, กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร, รุจิราภรณ์ หวั่งหลี,
สุกิจ หวั่งหลี, สุภีร์ หวั่งหลี, ธรรมนูญ หวั่งหลี

รุจิราภรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ ได้แก่ ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) อายุมากกว่า 167 ปี สิ่งศักดิ์สิทธิ์และศูนย์รวมใจ ของชาวจีนในแผ่นดินไทย, เรือนไม้สถาปัตยกรรมจีนโบราณโดดเด่นด้วยจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างจีน เพื่อการศึกษา, อาคารจัดงานอีเว้นท์ขนาดใหญ่, เวทีการแสดงและกิจกรรมกลางแจ้ง, ร้านค้าผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมี่ยม ได้แก่ ร้าน Karmakamet (คาร์มาคาเม็ท), ร้าน Lotus Arts de Vivre (โลตัส อาร์ต เดอะ วีฟ) พร้อมด้วยโซนร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Art & Craft (อาร์ต แอนด์ คราฟท์) ได้แก่ ร้าน Neighbor (เนเบอร์) โดยการรวมกันของ 3 แบรนด์หลัก ได้แก่ Neighbor (เนเบอร์), Zettino (เซ็ทติโน่) และ Akati (อคติ), ร้าน AGO (อะโก), ร้าน NINE Accessories, ร้าน San (ซาน), ร้าน TAY The Selected Shop (เท เดอะ ซีเล็คเต็ด ช็อป), ร้าน MINE CRAFTERIA (มายน์ คราฟเทอเรีย), ร้าน Poungphet by BPC (พวงเพชร บาย บีพีซี) และ ร้าน ROOM 5 D (รูม ไฟว์ ดี) ร้านอาหารและคาเฟ่สไตล์ อย่างเช่น ร้านนายห้าง, ร้านโรงสี, ร้านเพลินวาน พาณิชย์, ร้านลมโชย ฯลฯ และบริเวณที่นั่งพักผ่อนระเบียงริมแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมท่าเรือหวั่งหลีเพื่อการเดินทางทางน้ำ

กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร และ รุจิราภรณ์ หวั่งหลี

โดยบรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยเสน่ห์ของศิลปวัฒนธรรมไทย-จีนที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว พร้อมจัดการแสดงชุดพิเศษที่หาชมได้ยากมากมาย ได้แก่ การแสดงงิ้ว จากคณะ เม้ง ป.ปลา, การแสดงบอกเล่าประวัติชาวจีนโพ้นทะเล ประกอบเพลง “ความในใจ” โดย 2 นักร้องเด็ก น้องอ๊ะอาย – น้องแพงจัง จากรายการ “We Kid Thailand เด็กร้องก้องโลก” ปิดท้ายค่ำคืนสุดพิเศษด้วยความประทับใจจาก ศิลปินวง VieTrio (วีทรีโอ) ให้ตราตรึงใจไปอีกยาวนาน

เหล่าแขกผู้มีเกียรติหลากหลายวงการต่างให้ความสนใจกับโครงการนี้ เพราะต่างก็เป็นผู้หลงใหล ในศิลปวัฒนธรรมจีนอย่างแนบแน่น ไม่ว่าจะเป็น นวลพรรณ ล่ำซำ “แป้งรู้สึกภูมิใจกับสถานที่แห่งนี้มากค่ะ เพราะด้วยความที่ครอบครัว หวั่งหลี และ ครอบครัว ล่ำซำ มีความสัมพันธ์กันเหนียวแน่นมายาวนาน ตัวแป้งเองก็มีทั้งความเป็นคนหวั่งหลี และล่ำซำ เพราะคุณย่าสงวน ท่านเป็นคนครอบครัวหวั่งหลี ที่แต่งงานกับคุณปู่บรรยงค์ ล่ำซำ ค่ะ พอเห็นว่าทางหวั่งหลีได้ปรับโฉมที่นี่ให้กลายเป็นที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ในกรุงเทพ ซึ่งมีความสวยงามแบบผสมผสานทั้งศิลปวัฒนธรรมไทยและจีนได้อย่างลงตัวมากๆ ค่ะ เพราะเป็นอาคาร เรือนไม้แบบจีนและตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำสายหลักของไทยค่ะ”

คุณสิริกิติยา เจนเซน รับฟังการบูรณะจิตรกรรมฝาผนัง จาก รุจิราภรณ์ ผู้บริหารโครงการ ล้ง 1919

ปรมา ไรวา ก็เป็นอีกคนที่ชื่นชอบวัฒนธรรมดั้งเดิม “ส่วนตัวชื่นชอบอาหารจีนอยู่แล้ว เพราะว่าเป็นสิ่งที่ดั้งเดิม (Traditional) และเป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์ คนทั่วโลกชื่นชอบ สังเกตว่าทั่วโลกก็จะมีร้านอาหารจีน รวมถึงโดยส่วนตัว ชื่นชอบการชมภาพศิลปะจีน ถึงแม้จะไม่ทราบสตอรี่ของภาพวาดแต่ละชิ้น แต่นามว่า แต่ละภาพมีความหมาย บอกเล่าประวัติศาสตร์ของชาวจีนได้เป็นอย่างดี และถือว่าเป็นมรดกโลกที่ล้ำค่าค่ะ”

ส่วน พรนภา จันศิริ “เป็นคนชอบแต่งบ้านสไตล์ผสมผสานค่ะ ชอบเฟอร์นิเจอร์จีนโบราณ อย่างชิ้นโปรดบางชิ้นอายุหลายร้อยปีเลยค่ะ ชอบการแกะสลักลายแบบช่างจีน และเนื้อไม้สมัยก่อน จะเลือกมาจับวางสลับไปกับของแต่งบ้านแนวยุโรป อาจจะดูแตกต่าง แต่จริงๆ เสน่ห์ของทั้งสองวัฒนธรรม สามารถรวมกันได้ และดูเป็นสไตล์ที่พิเศษยิ่งขึ้นด้วยค่ะ”

รุจิราภรณ์ หวั่งหลี

สำหรับสองคู่รัก ฐาปน – ปภัชญา สิริวัฒนภักดี ต่างก็หลงเสน่ห์ของวัฒนธรรมจีนเช่นกัน โดยฝ่ายชายกล่าวว่า “ผมคิดว่าเรื่องศิลปวัฒนธรรมเป็นเรื่องของการผสมผสานเสน่ห์ที่มีเรื่องราวเป็นระยะเวลายาวนาน เมื่อมารวมตัวเข้าด้วยกันก็เป็นการสร้างความพิเศษให้กับวิถีชีวิตครับ ส่วนฝ่ายหญิงกล่าวว่า “เป็นคนชอบลวดลายแบบจีนค่ะ ไม่ว่าจะเป็นงานเครื่องแต่งตัวหรือของตกแต่งบ้าน เพราะมีความงามที่เป็นเอกลักษณ์มากๆ”

นอกจากนี้ ในงานยังมีคู่รักนักดีไซน์ อย่างเช่น ภฤศธร สกุลไทย ดีไซเนอร์ไดเร็คเตอร์ โครงการ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) และ รวมพร ถาวรอธิวาสน์ เจ้าของร้านอะโก (AGO) ร้านอาร์ทแอนด์คราฟท์ ในโครงการ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ที่ร่วมภูมิใจกับโครงการนี้ ภฤศธร ผู้ผูกพันกับโครงการตั้งแต่แรกกล่าวว่า “เป็นโอกาสดีอีกครั้งหนึ่งในชีวิตที่ผมได้มีโอกาสได้ออกแบบโครงการ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ครับ เริ่มจากผมทำงานกับคุณเปี๊ยะ-รุจิราภรณ์ หวั่งหลี ที่บริษัท PIA มานาน 15 ปี ก็รู้สึกผูกพัน เมื่อได้เข้ามาช่วยคุณเปี๊ยะออกแบบโครงการนี้ ตั้งแต่เริ่มรีเสิร์ช ออกแบบว่าจะพัฒนาเป็นรูปแบบใหม่อะไรได้บ้าง และเส้นทางการบูรณะที่กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และเมื่อมาถึงวันนี้ที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว ผมรู้สึกภูมิใจมากๆ ครับ” ส่วนคู่รักสาว รวมพร ก็ปลาบปลื้มใจไม่น้อยที่ได้เป็นหนึ่งของโครงการนี้ “เห็นครั้งแรกก็ชอบมากค่ะ ไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ เราถึงได้เห็นถึงความตั้งใจของผู้เป็นเจ้าของสถานที่แห่งนี้ในการพัฒนา และเห็นความตั้งใจของทีมงานทุกคน ก็ยิ่งทำให้เราต้องตั้งใจที่จะเลือกสรรสินค้าที่มีดีไซน์ ที่มีความงามที่เป็นเอกลักษณ์และแสดงถึงความตั้งใจของผู้ทำ ให้เป็นเจตนารมณ์เดียวกันกับเจ้าของสถานที่แห่งนี้ค่ะ”

นวลพรรณ ล่ำซำ

โครงการ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่สุดถนนเชียงใหม่ เขตคลองสาน เปิดให้นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปเข้าชมตั้งแต่ วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป เปิดบริการทุกวัน โซนศาลเจ้าแม่ + Art & Craft Shop (อาร์ต แอนด์ คราฟท์ ช็อป) เปิดเวลา 8.00-20.00 น. Eatery Zone (อีทเธอรี่ โซน) เปิดเวลา 10.00-22.00 น. ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก แฟนเพจ LHONG 1919

ฐาปน – ปภัชญา สิริวัฒนภักดี

 


ขบวนแห่แผ่พลังศักดิ์สิทธิ์ พิธีเบิกเนตร “องค์เจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน)”

“เจ้าแม่หม่าโจ้ว” (คลองสาน) หรือ MAZU ที่ประดิษฐานอยู่คู่ “ฮวย จุ่ง ล้ง” มีมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ.2393 (ค.ศ.1850) สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเจ้าแม่หม่าโจ้วทั้ง 3 ปางนี้ เป็นองค์ที่ชาวจีนนำขึ้นเรือเดินทางมาจากเมืองจีน เมื่อมาถึงเมืองไทยจึงอัญเชิญประดิษฐาน ณ ที่แห่งนี้ อายุเก่าแก่มากกว่า 167 ปี เวลาคนจีนเดินทางจากโพ้นทะเลมาถึงฝั่งประเทศไทย ก็จะมากราบสักการะท่านเพื่อเป็นการขอบคุณที่ช่วยทำให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ และเมื่อจะเดินทางกลับไปประเทศจีนก็จะมากราบลาเจ้าแม่ที่นี่เช่นกัน “เจ้าแม่หม่าโจ้ว” (คลองสาน) จึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนจีนในแผ่นดินไทย ซึ่งคนจีนที่ทำการค้าในไทยจนเจริญร่ำรวยเป็นเศรษฐีก็ล้วนก่อร่างสร้างตัวมาจากที่นี่

ซึ่งถือว่า องค์เจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) ที่ ล้ง1919 (LHONG) องค์นี้ คือองค์เจ้าแม่หม่าโจ้วที่มีพลังและความศักดิ์สิทธิ์มาก เพราะได้ประดิษฐานอยู่คู่มาตั้งแต่ต้นตระกูลของผู้ดูแลรักษา และผู้ที่ได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่หม่าโจ้วตั้งแต่เริ่มนั้น ต่อมาได้ประสบความสำเร็จความเจริญรุ่งเรืองมั่งคั่ง เรียกว่า “มั่งมีพลัง มั่งคั่งความสำเร็จ”สืบเนื่องยาวนานมาจนลูกหลานในปัจจุบันตลอด 6 ชั่วอายุคน นับได้ถึง 7 แผ่นดินตั้งแต่ แผ่นดินรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลที่ 10

เมื่อตระกูล “หวั่งหลี” ผู้ดูแลองค์เจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) มีความตั้งใจที่จะบูรณะเชิงอนุรักษ์ และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่นอกจากจะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองแล้ว ยังถือเป็นการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้สำหรับคนรุ่นหลัง ระหว่างการบูรณะจึงจำเป็นต้องอัญเชิญเจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) ไปประดิษฐานชั่วคราวยังบ้านหวั่งหลีที่ตั้งอยู่ด้านข้างโครงการ 1 ปีผ่านไปการบูรณะเสร็จสิ้นก็ได้เวลาเหมาะสมที่จะอัญเชิญเจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) กลับไปประดิษฐานยังศาลเจ้าที่เดิม โดยมีพิธีเบิกเนตรตามประเพณีจีน ขบวนแห่เจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) จึงต้องยิ่งใหญ่ สมเกียรติกับการพิธีศักดิ์สิทธิ์ และเป็นการประกาศความศรัทธาที่มีต่อองค์เจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) จากผู้นับถือ

โดยขุนพลแห่งพลังมงคลที่เหล่าลูกหลานตั้งใจจัดขึ้นเพื่อสรรเสริญแก่ความศรัทธา มีลำดับต่อไปนี้

1.ขบวนมังกรทองยาว 35 เมตร เพื่อถวายแด่เจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) มังกร สัญลักษณ์แห่งพลัง อำนาจ ความยิ่งใหญ่ สัตว์มงคลสูงสุดตามความเชื่อตามประเพณีจีน เพราะเป็นการรวมของสัตว์มงคลทั้ง 9 ชนิด ได้แก่

– กงเล็บของนกอินทรีย์หมายถึง การแม่นยำในการล่าเหยื่อ และหลบลี้หนีภัยได้ทันท่วงที
– ตาของวัวหมายถึง ดวงตาสุกใสของวัว ที่เปรียบเสมือนกับความซื่อสัตย์
– แผงคอและเสียงคำรามของสิงโต หมายถึง อำนาจและบารมี
– เขาของกวาง หมายถึง ความอ่อนโยน การระแวดระวังภัย
– ลำตัวของงูหมายถึง ความลื่นไหล ราบรื่น
– เกล็ดของปลา หมายถึง เหลือกินเหลือใช้
– หนวดของเสือหมายถึง ความน่าเกรงขาม
– หัวของอูฐหมายถึง ความอดทน
– หางของม้า หมายถึง การมีพลัง และ การเดินทางปลอดภัย

ส่วนจำนวน 35 เมตร มีความหมายดังนี้ เลข 3 หมายถึง “ซำปอหกโจ้ว” คือ พระพุทธรูป 3 องค์ เลข 5 หมายถึง ธาตุทั้ง 5 ของโลก ได้แก่ ไม้ น้ำ ไฟ ดิน และ ทอง เลข 3 และเลข 5 รวมกันเป็น 8 หมายถึง ความร่ำรวย มั่งมีไม่มีที่สิ้นสุด

2.ขบวนสิงโต 9 ตัว 9 สี เพื่อถวายแด่เจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) เป็นดังตัวแทนดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 เปรียบเหมือนเป็นการอัญเชิญ “กิ่วฮ้วงหกโจ้ว” คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 7 พระองค์ และ พระโพธิสัตว์ 2 พระองค์ เสด็จลงมาจากสวรรค์ เพื่อประทานพร สิงโตมาพร้อมบริวาร คือ เอ็งกอ 30 คน เป็นการแสดงตำนานนักสู้แห่งเขาเหลียงซาน ซึ่งก็คือพระอรหันต์โดยผู้แสดงแต่งหน้าอำพรางคน แสดงความเข้มแข็งตามดนตรี ต่างมีความสามารถในการต่อสู้ด้วยมือเปล่า ไม้พลอง มีด การดำน้ำ การเดินป่าทางไฟ การรักษาโรค ฯลฯ จำนวน 30 หมายถึงการปกป้องคุ้มครองโดยเหล่าเทพผู้กล้าที่จะคุ้มครองตลอดเดือน ตลอด 30 วัน

3. ขบวนหลอโกว้ ดนตรีโบราณของจีน 30 คน ป้ายมงคลขนาบซ้ายขวา ด้านละ 4 ป้าย รวม 8 ป้าย

4. ประธาน 3 ท่าน ได้แก่ คุณสุจินต์ คุณวุฒิชัย และ คุณธรรมนูญ หวั่งหลี

5. เจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) 3 องค์ 3 ปาง ประทับเกี้ยว 3 หลัง ร่มฉัตร 3 คัน โคมไฟ 2 อัน

6. ขบวนพระชัยมงคล พร้อมเครื่องสักการะ และกระถางธูป

7. ขบวนเจ้าแม่กวนอิม พร้อมกระถางธูป

8. สมาชิกตระกูลหวั่งหลี

9. ธงมงคล 8 ธง