โจทย์ใหญ่จากสนามใหม่สเปอร์ ยุคธุรกิจกีฬาท้าทายกว่าเดิม

การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับกีฬาหลายชนิด รวมถึงฟุตบอลด้วยคือเรื่องสนามอันเปรียบเสมือนเป็น “บ้าน” ของตัวเอง หลายปีที่ผ่านมาสโมสรในยุโรปไม่ต่ำกว่า 15 ทีมกำลังรอคอยสนามใหม่กันอยู่ และต้นปี 2019 ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ จากลอนดอนเป็นทีมที่เพิ่งประเดิมสนามเหย้าแห่งใหม่ของตัวเองเป็นครั้งแรก สนามที่ทันสมัยของ “ไก่เดือยทอง” มีหลายแง่มุมที่น่าสนใจทีเดียว

โลกแห่งทุนนิยมในการกีฬาทำให้สภาพธุรกิจเปลี่ยนไป แน่นอนว่ามีทั้งเชิงลบและบวกสำหรับแง่บวก สโมสรฟุตบอลทั่วโลกได้รับประโยชน์จากการลงทุนขยับขยายทางธุรกิจไม่น้อยเลย โครงสร้างพื้นฐานอย่างสนามนั้นอาจเป็นการลงทุนมากที่สุด แต่ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ เช่นกัน

หลังจากรอคอยและผลักดันกันมาหลายปี สเปอร์เพิ่งได้สนามแห่งใหม่สามารถขยับขยายอัตราความจุผู้เข้าชม และเครื่องอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย ทีมไก่เดือยทองแห่งลอนดอนลงทุนกับสนามใหม่ด้วยทุน 1 พันล้านปอนด์ ได้สนามที่มีความจุ 62,000 ที่นั่งมากกว่าสนามไวท์ ฮาร์ท เลน สนามเหย้าเดิม 2 เท่า เป็นอีกสนามที่มีความจุอันดับต้น ๆ ในพรีเมียร์ลีก และเป็นสนามที่มีความจุมากที่สุดในลอนดอน

แค่สถิติแรกอย่างน้อยก็จุได้มากกว่าสนามเอมิเรตส์สเตเดี้ยมของอาร์เซนอล คู่ปรับร่วมเมืองที่สนามปัจจุบันของทีมปืนใหญ่จุได้ 60,260 ที่นั่งแล้ว ขณะเดียวกัน ก็สามารถแปรสภาพสนามเป็นสนามแบบพื้นเทียม (ที่อยู่ข้างใต้) สำหรับแข่งอเมริกันฟุตบอลในเวลาแค่ 25 นาทีเท่านั้น (สเปอร์เซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับศึกอเมริกันฟุตบอล 10 ปี) สนามแห่งนี้จึงเป็นสเตเดี้ยมแรกในสหราชอาณาจักรที่มีสนาม 2 ประเภทในแห่งเดียว นี่เป็นแค่ตัวอย่างความทันสมัยในสนามใหม่เท่านั้น ยังมีหลายมุมที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี ผสมผสานกับเชิงศิลป์ด้านการออกแบบที่น่าสนใจและใช้งานได้จริง ช่วยให้แฟนบอลและในชุมชนสะดวกมากขึ้น

คำพูดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องการลงทุนในกีฬาของ แดเนียล เลวีย์ ประธานสโมสรที่ว่า “ชัยชนะคือเรื่องเกี่ยวกับทั้งในและนอกสนาม” เป็นวาทะที่บอกเล่าสภาพธุรกิจกีฬาในโลกทุนนิยมได้เห็นภาพชัดเจน รอบเวลา 10 ปีนับตั้งแต่สเปอร์ประกาศโปรเจ็กต์พัฒนาพื้นที่โดยมีสนามใหม่เป็นแกนหลัก

พวกเขาเป็นเช่นเดียวกับทีมอื่นที่ผลงานทั้งในและนอกสนามก็วิ่งขึ้นลงสลับกันไปมา แต่ด้วยการบริหารจัดการภายในสนามและนอกสนามที่ช่วยกันสนับสนุนกันและกัน ทำให้พวกเขาก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ โดยเฉพาะยุคที่ แฮร์รี่ เรดแน็ปป์ นำทีมขึ้นมาแบบก้าวกระโดดด้วยชุดผู้เล่นที่นำโดย แกเร็ธ เบล ก่อนทีมขายดาวเตะเวลส์รายนี้ด้วยมูลค่ากว่า 80 ล้านปอนด์ หลังจากนั้น ก็ได้เล่นในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีกหลายฤดูกาลในช่วงที่สนามยังสร้างไม่เสร็จ พวกเขาหันไปใช้สนามเวมบลีย์ที่มีความจุมากกว่าไวท์ ฮาร์ท เลนหลายเท่าเป็นการชั่วคราว รายได้จากค่าตั๋วเกมพรีเมียร์ลีกเพิ่มจาก 19 ล้านปอนด์ เป็น 42.6 ล้านปอนด์

เหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทำให้สเปอร์ยังมีตัวเลขผลประกอบการฤดูกาล 2017-18 มีรายได้เป็นประวัติการณ์ที่ 113 ล้านปอนด์หลังหักภาษีแล้ว การบริหารเพดานค่าเหนื่อยนักเตะและนโยบายซื้อ-ขายนักเตะอย่างคุ้มค่า ทำให้สเปอร์ มีแนวโน้มที่ดีในทางการเงินสำหรับพัฒนาทีม ถ้าเอ่ยให้ชัดขึ้นคือ เมื่อมีรายได้มากขึ้น (ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือมาจากค่าตั๋ว)

หมายความว่าสามารถขยายเพดานค่าเหนื่อยนักเตะขึ้น เมื่อมาประกอบกับสนามใหม่แล้วยิ่งน่าสนใจ โครงสร้างพื้นฐานอย่างสนามเหย้าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้สร้างรายได้จากทั้งสปอนเซอร์ ไปจนถึงดึงดูดนักเตะชื่อดังอย่างที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เคยทำได้เมื่อครั้งย้ายจากสนามเมนโรดเมื่อปี 2003 แม้ว่าตอนนี้สเปอร์อาจไม่ต้องใช้สนามใหม่มาเป็นปัจจัยแล้วก็ตาม แต่เพดานค่าเหนื่อยที่สเปอร์จะพอขยับได้น่าจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับนักเตะฝีเท้าดีที่จะเสริมทีมในอนาคต

ความพิเศษของสนามท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ สเตเดี้ยมอีกอย่าง คือ อัฒจันทร์ที่เรียกกันว่า Single Tier Stand สำหรับแฟนบอลตัวยงจำนวน 17,500 ที่นั่ง พื้นที่ส่วนนี้จะทำให้บรรยากาศสนามใกล้เคียงกับอัฒจันทร์ของโบรุสเซีย

ดอร์ทมุนด์ สนามที่ขึ้นชื่อเรื่องบรรยากาศแฟนบอลทีมเหย้าที่ดีที่สุดอันดับต้น ๆ ในยุโรป ที่นั่งฝั่งหนึ่งของทีมเสือเหลืองแห่งบุนเดสลีกา เยอรมัน เป็นที่รู้จักในนาม “กำแพงสีเหลือง” จากที่แฟนบอลสวมเสื้อเหลืองแน่นขนัดนั่นเอง

การพัฒนาเหล่านี้ไม่ได้มาง่าย ๆ โครงร่างของโปรเจ็กต์เปลี่ยนแปลงกันไปหลายรอบ กำหนดการเปิดสนามที่ล่าช้าเกือบครึ่งปี งบประมาณที่บานปลายจากตัวเลขเดิมที่ 750 ล้านปอนด์ แต่ด้วยการเดินหน้าอย่างจริงจัง และวิสัยทัศน์จากผู้บริหารทำให้สเปอร์ได้สร้างสนามสมใจในที่สุด

อย่างไรก็ตาม คำถามที่น่าสนใจต่อผลกระทบทั้งในและนอกสนามยังคงมีอยู่ สำหรับในสนามพวกเขาพัฒนาในยุคนี้ได้ส่วนหนึ่งเพราะฝีมือ เมาริซิโอ โพเช็ตติโน กุนซืออาร์เจนไตน์ ซึ่งไม่แน่ว่าจะอยู่ทำงานกับไก่เดือยทองในระยะยาว ขณะเดียวกัน สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ก็สร้างความกังวลต่อชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบทั้งในแง่วิถีชีวิตและด้านธุรกิจ เมื่อมีคนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาที่สนาม การจัดการด้านจราจร หรืออื่น ๆ ย่อมมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนในชุมชน

น่าจับตาว่าการย้ายสนามใหม่ของทีมมาแรงในอังกฤษอย่างสเปอร์ จะนำพวกเขาไปสู่จุดไหน และหากมีการเปลี่ยนแปลงภายในหรือนอกสนาม พวกเขาจะรับมืออย่างไร ติดตามกันให้ดี