โจทย์ที่ใหญ่กว่าความดังของ คอรี กอฟฟ์ ดาวรุ่งสาวแห่งปี

US player Cori Gauff celebrates after winning a point against Romania's Simona Halep during their women's singles fourth round match on the seventh day of the 2019 Wimbledon Championships at The All England Lawn Tennis Club in Wimbledon, southwest London, on July 8, 2019. (Photo by GLYN KIRK / AFP) / RESTRICTED TO EDITORIAL USE

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

เป็นเรื่องน่ายินดีเสมอที่แวดวงกีฬาได้สัมผัสกับการปรากฏตัวของเยาวชนหนุ่มสาว ซึ่งผงาดขึ้นมาทำผลงานได้โดดเด่นเข้าตาแบบที่ไม่มีใครคาดฝัน บรรยากาศในการลุ้นชมเชียร์ดูมีสีสันมากขึ้น แถมยังมีแง่มุมให้ได้พูดคุยถกเถียงกันต่อ ดังเช่นการปรากฏตัวของคอรี “โคโค่” กอฟฟ์ นักเทนนิสสาววัยเพียง 15 ปี ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์ในเทนนิสแกรนด์สแลม ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

นักหวดสาวอเมริกันที่ยังไม่สามารถขับขี่ยานพาหนะบนถนนได้ตามกฎหมายด้วยซ้ำ กลับสามารถทำผลงานผ่านเข้ารอบ 4 ของรายการวิมเบิลดัน 1 ใน 4 แกรนด์สแลมคลาสสิกตลอดกาลของวงการเทนนิส ถือเป็นนักเทนนิสหญิงที่อายุน้อยที่สุด ซึ่งสามารถเก็บชัยชนะในรอบหลักของรายการแกรนด์สแลม นับตั้งแต่ ค.ศ. 1991 ปีนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่แฟนเทนนิสได้รู้จักกับดาวรุ่งสาวอีกราย ตามหลังจากปรากฏการณ์เมื่อปี 2018 ที่นาโอมิ โอซากะ สาวลูกครึ่งญี่ปุ่น-เฮติ วัย 20 ปี ที่ล้มเซเรน่า วิลเลียมส์ คว้าแชมป์ยูเอส โอเพ่น

ขณะที่ปีนี้ คอรี กอฟฟ์ คือผู้ที่ล้ม วีนัส วิลเลียมส์ สร้างกระแสได้ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นรายการวิมเบิลดัน และยังทะลุเข้าไปถึงรอบ 16 คนสุดท้าย แต่ก็มาจอดป้ายเมื่อแพ้ ซิโมน่า ฮาเล็บ มือ 1 ของโลก (ซึ่งกลายเป็นแชมป์ประจำปี 2019 ในภายหลัง) อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ในแกรนด์สแลมใหญ่กลางปี ก็ทำให้เธอถูกพูดถึงในโลกกีฬากันมาตลอดเดือน

ก่อนจะพูดถึงส่วนผสมที่น่าสนใจสำหรับการแจ้งเกิดในโลกกีฬายุคใหม่ โดยมีตัวอย่างเป็นกรณีของ คอรี กอฟฟ์ และ นาโอมิ โอซากะ คงต้องเอ่ยถึงเส้นทางของคอรี กอฟฟ์ อีกสักครั้ง เธอเติบโตในครอบครัวของนักกีฬา พ่อและแม่ของคอรี กอฟฟ์ ก็เป็นนักกีฬา แถมยังได้พี่ชายเป็นผู้ช่วยผลักดัน สำหรับกรณีของคอรี เธอก็ประสบความสำเร็จในระดับเยาวชนตั้งแต่อายุ 6 ขวบเรื่อยมา พัฒนาการของเธอในช่วงแรกคงอธิบายได้ว่า เป็นไปตามลำดับและไม่ได้ออกมาในอัตราเร่งที่รวดเร็ว กราฟไต่ระดับแบบช้า ๆ แต่ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2017 ที่เข้ารอบชิงแชมป์ยูเอส โอเพ่น ระดับเยาวชน และมาระเบิดจากผลงานที่วิมเบิลดันคอรี ได้โอกาสมาเล่นในวิมเบิลดันหลังผ่านรอบคัดเลือก ซึ่งคงไม่มีใครคาดคิดว่าเธอจะสามารถล้ม วีนัส วิลเลียมส์ ไอดอลของเธอเองได้ ด้วยวัยแค่ 15 ปี เท่านั้น ไม่เพียงแค่ความสามารถในสนามที่โดดเด่น

สิ่งที่แฟนกีฬาชื่นชอบในตัวกอฟฟ์ ยังเป็นเรื่องแคแร็กเตอร์เฉพาะตัว เมื่ออยู่ในสนาม เธอดูมุ่งมั่นและเล่นด้วยพลังขับเคลื่อนแบบหนุ่มสาวอย่างชัดเจน ขณะที่เมื่ออยู่นอกสนามแล้ว เธอก็ยังเหมือนวัยทีนที่สดใสแบบทั่วไป เล่นสื่อสังคมออนไลน์ สนุกสนานร่าเริง เธอมีตัวตนแบบเดียวกับปุถุชนเช่นเดียวกับคนทั่วไป ขณะเดียวกันก็มีแรงขับเคลื่อนที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำสิ่งที่ตัวเองมุ่งมั่นให้เป็นตัวอย่างแก่คนอื่น

คอรี มีภูมิหลังบางส่วนใกล้เคียงกับกรณีของนาโอมิ กล่าวคือพ่อแม่ก็เป็นผู้สนับสนุนลูกสาวในด้านกีฬาอย่างเต็มที่ และเธอรักกีฬาโดยมีแรงบันดาลใจจากพี่น้องวิลเลียมส์ เหมือนกับนาโอมิด้วย (นักเทนนิสรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ก็ได้แรงบันดาลใจจากพี่น้องวิลเลียมส์ไม่มากก็น้อย)

นอกเหนือจากวิธีการเลี้ยงดูและผลักดันให้ไปสู่เป้าหมายด้วยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สิ่งที่เห็นได้ชัดคือเรื่องทางจิตวิทยา คอรีให้สัมภาษณ์ว่า เป้าหมายของเธอต่างจากความใฝ่ฝันที่ต้องการเป็นแบบไอดอล แต่มุมมองอีกแบบหนึ่งคือเป้าหมายของเธอคือ “ชัยชนะ” เพดานเป้าหมายของเธอจึงถูกยกระดับขึ้นไปจนอาจเรียกได้ว่า ไม่มีเพดานสูงสุดเลย นั่นคือไปให้ไกลที่สุดเท่าที่ทำได้ มากกว่าแค่ไปให้ถึงเป้าหมายแล้วหยุดที่ตรงนั้น นี่คือวิธีการสร้างแรงบันดาลใจสำหรับการขับเคลื่อนของนักกีฬารุ่นใหม่ในยุคนี้

หลังจากที่แจ้งเกิดได้อย่างรวดเร็ว กระแสต่าง ๆ ถาโถมเข้ามาไม่ต่างจากกรณีของนาโอมิ โจทย์คลาสสิกสำหรับนักกีฬาดาวรุ่ง คือ พวกเขาจะรับมือกับสิ่งที่พุ่งเข้ามาหาได้อย่างไร จะรักษากราฟพัฒนาการของตัวเองได้นานแค่ไหน

นาโอมิที่ได้แชมป์แกรนด์สแลมตั้งแต่อายุยังน้อย ตกรอบวิมเบิลดันล่าสุดตั้งแต่ช่วงแรก และโบกมือลาจากรายการพร้อมด้วยน้ำตา หากมองว่าภูมิหลังของพวกเธอใกล้เคียงกันในบางส่วน นั่นเป็นวิธีคิดที่สะท้อนและตอกย้ำถึงสัญญาณต่อแนวโน้มชะตากรรมในอนาคตสำหรับกรณีอื่น

ประเด็นเรื่องการหมดไฟ หรือลงแข่งเยอะเกินไปในนักกีฬาเยาวชน ก็ถูกพิจารณาเช่นกันเมื่อเคยมีกรณีตัวอย่างมาแล้ว องค์กรที่ดูแลการแข่งระดับเมเจอร์ก็มีกฎควบคุมด้วย ดับเบิลยูทีเอ ที่ดูแลรายการเทนนิสฝ่ายหญิงก็มีระเบียบจำกัดจำนวนรายการแข่งตามระดับอายุ เลี่ยงความเสี่ยงเรื่องบาดเจ็บและกดดันเกินจนส่งผลต่อการพัฒนาในอนาคต

กอฟฟ์ในวัย 15 ปี จนถึงอายุ 16 ปี ก็ยังคงต้องเลือกว่าจะลงแข่งรอบคัดเลือกยูเอส โอเพ่น แกรนด์สแลมสุดท้ายของปี หรืออาจต้องรอลุ้นไวลด์การ์ด ซึ่งก่อนหน้านี้เธอตอบรับไวลด์การ์ดครบตามระเบียบที่ 3 รายการแล้ว แต่ด้วยกระแสในขณะนี้ แม้แต่องค์กรที่ดูแลการจัดการแข่งเทนนิสในสหรัฐก็เชื่อว่า ยูเอส โอเพ่น อาจปรับกฎเพื่อให้ได้เธอมาร่วมในรายการ และย่อมเป็นแม่เหล็กดึงความสนใจจากทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจและการบริหารจัดการก็คงต้องอยู่ในมือของครอบครัว และทีมงานผู้จัดการของคอรี เรื่องความโด่งดังและกระแสที่มาแรงอย่างมากอาจนำพาชื่อเสียง และที่สำคัญคือ เงินทองจากสัญญาต่าง ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามา อนาคตของนักกีฬาดาวรุ่งคงไม่ได้ขึ้นกับพัฒนาการของตัวเองเท่านั้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับคนรอบข้างและการตัดสินใจสำคัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หวังว่าเราจะได้เห็นดาวรุ่งพัฒนาตัวไปทดแทนซูเปอร์สตาร์ในอนาคตได้อีกหลายคน