เปิดศูนย์สิริกิติ์โฉมใหม่ 12 ก.ย.นี้ ตั้งเป้ารายได้ 2,000 ล้าน

ภาพมุมสูงของศูนย์ฯ สิริกิติ์ กลางคืน มีถนนรัชดาภิเษกพาดผ่านทางด้านซ้าย และมีบึงน้ำของสวนเบญจกิติอยู่ทางด้านขวา

เตรียมเปิดตัว “ศูนย์สิริกิติ์” โฉมใหม่ 12 ก.ย.นี้ ขยายพื้นที่เกือบ 5 เท่า ตั้งเป้ารายได้ปี 2566 2,000 ล้าน สัดส่วนงานไทย 70% พร้อมตั้งตัวแทนการขายในต่างประเทศ หวังดันงานนานาชาติมากขึ้น โชว์ความพร้อมจัดงานเอเปค พ.ย.นี้

วันที่ 19 สิงหาคม 2565 นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากการปิดปรับปรุงศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (Queen Sirikit National Convention Center-QSNCC) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ใช้เงินลงทุนไปกว่า 15,000 ล้านบาท ล่าสุดได้ฤกษ์เปิดตัวศูนย์สิริกิติ์ ในวันที่ 12 กันยายน 2565

โดยศูนย์สิริกิติ์โฉมใหม่ ได้ขยายพื้นที่รวม (Total Space) เพิ่มขึ้น จากเดิม 65,000 ตารางเมตร เป็น 300,000 ตารางเมตร หรือเกือบ 5 เท่า ขยายพื้นที่จัดงาน (Event Space) จากเดิม 25,000 ตารางเมตร เป็น 78,500 ตารางเมตร เพิ่มจำนวนห้องประชุมจากเดิม 13 ห้อง เป็น 50 ห้อง มีศักยภาพรองรับการจัดงานในทุกรูปแบบ นอกเหนือจากงานประชุมและงานไมซ์

“บริษัทคาดว่ามีผู้เข้าใช้บริการมากกว่า 13 ล้านคนต่อปี เพิ่มจากช่วงก่อนปิดปรับปรุงที่มีผู้เข้าใช้บริการ 6 ล้านคนต่อปี สลัดภาพการเป็นเพียงศูนย์ประชุม สู่การเป็นอีเวนต์แพลตฟอร์มระดับสากล” นายศักดิ์ชัยกล่าว

ตารางเปรียบเทียบพื้นที่ใช้สอยของศูนย์ฯ สิริกิติ์ก่อนและหลังปรับปรุง

นอกจากนี้ ผู้เข้าใช้บริการศูนย์สิริกิติ์โฉมใหม่ จะได้รับประสบการณ์ตั้งแต่การเชื่อมต่อรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) ที่ได้เจาะอุโมงค์เชื่อมต่อเข้าสู่ศูนย์การประชุมโดยตรง และการปรับปรุงครั้งนี้ พื้นที่จอดรถที่เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า จากเดิมรองรับการจอดรถได้ 600 คัน เพิ่มเป็น 3,000 คัน โดยในปี 2565 นี้ ยังจอดรถฟรี 3 ชั่วโมงแรก ขยายพื้นที่รีเทล/ร้านอาหาร จากเดิม 5,000 ตารางเมตร เป็น 12,000 ตารางเมตร

บริเวณทางเข้าฮอลล์ (Hall Entrance) ชั้น G มีขนาดโอ่โถง
บริเวณทางเข้าฮอลล์ (Hall Entrance) ชั้น G

นายสุทธิชัย บัณฑิตวรภูมิ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าว่าในปี 2566 “ศูนย์สิริกิติ์” จะมีรายได้อยู่ที่ราว 2,000 ล้านบาท

ปัจจุบันได้มีการตั้งตัวแทนการขาย (Representative) ในต่างประเทศ เช่น จีน ยุโรป ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันของลักษณะงาน ตั้งเป้างานต่างประเทศเป็นงานจากต่างประเทศราว 30% ไทย 70% และในอนาคตจะมีการตั้งตัวแทนในเกาหลีใต้ภายในปีนี้

ห้องบอลรูม (Ballroom) ชั้น 1 ศูนย์สิริกิติ์ มีขนาดโอโถง เพดานเผยให้เห็นงานระบบ
ห้องบอลรูม (Ballroom) ชั้น 1

“เริ่มเห็นงานประเภทใหม่ ๆ มาจัดที่ศูนย์มากขึ้น เช่น งานคอนเสิร์ต T-pop Concert Fest งานเปิดตัวสินค้า งานเบียนนาเล่ (Biennale)” นายสุทธิชัยกล่าว

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ยังเป็นสถานที่จัดงานประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ในวันที่ 13-18 พฤศจิกายน 2565 นอกจากนี้ ในปี 2565 ยังมีกิจกรรม-อีเวนต์ที่จะจัดขึ้น ณ “ศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่” ตัวอย่างดังนี้

  • Asia Pacific Leather Fair หรือ APLF งานแสดงสินค้าเครื่องหนังชั้นนำของโลก ปกติแล้วจะจัดอยู่ที่ประเทศฮ่องกง จะจัดในวันที่ 19-21 ตุลาคม 2565
  • ASIA FRUIT LOGISTICA งานแสดงสินค้านานาชาติด้านผักและผลไม้แห่งภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเคยจัดอยู่ที่ฮ่องกงเช่นกัน จะจัดในวันที่ 2-4 พฤศจิกายน 2565
  • Jewellery & Gem ASEAN Bangkok (JGAB) งานจัดแสดงสินค้าอัญมณีครั้งยิ่งใหญ่ รวบรวมทั้งการค้าขาย สัมมนา และกิจกรรมเสริมความรู้ด้านอัญมณี เพื่อผู้ซื้อและซัพพลายเออร์จากทั่วโลก เดิมจัดที่ประเทศสิงคโปร์ จะจัดในวันที่ 2-5 พฤศจิกายน 2565
  • T-Pop Concert Fest” รวมศิลปินเพลงพ็อปแนวหน้าชั้นนำของไทย เช่น พีพี บิวกิ้น, ศิลปินเกิร์ลกรุ๊ป “4EVE”, โบกี้ ไลอ้อน ในวันที่ 29-30 ตุลาคม 2565
  • งานมหกรรมเกมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “Thailand Game Show” ในวันที่ 21-23 ตุลาคม 2565
บนผนัง มีงานแกะสลักไม้พระราชพิธีอินทราภิเษก
ผลงานศิลปะ ‘งานแกะสลักไม้ พระราชพิธีอินทราภิเษก’ ชั้น LG