นกสกู๊ตบุกญี่ปุ่น-เกาหลี ตั้งเป้าปี’61พลิกทำกำไร

“นกสกู๊ต” ประกาศพร้อมเดินเกมรุกอีกระลอก เผยเตรียมรับมอบเครื่องบินใหม่อีก 7 ลำภายในปี”64 รองรับไปเปิดเส้นทางบินใหม่สู่ “ญี่ปุ่น-เกาหลี” หวังปั้นยอดผู้โดยสารทะลุ 2 ล้านคน หนุนรายได้ขยายตัว 80% ตั้งเป้าหยุดขาดทุน-พลิกมีกำไรได้ในปีนี้

นายยอดชาย สุทธิธนกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกสกู๊ต เปิดเผยถึงแผนขยายฝูงบินของนกสกู๊ตในช่วง 4 ปีนับจากนี้ว่า ตั้งแต่ปี 2561-2564 มีแผนรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 ขนาด 415 ที่นั่ง จำนวน 7 ลำ โดยแบ่งเป็น ปี 2561 จำนวน 1 ลำ ในไตรมาสที่ 2 ของปี

ส่วนปี 2562-2564 นั้นมีแผนรับมอบเครื่องบินเพิ่มปีละ 2 ลำ เพื่อนำมาขยายเส้นทางบินใหม่และเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางที่มีอยู่แล้ว ทำให้นกสกู๊ตจะมีฝูงบินรวม 11 ลำ ในปี 2564 เพิ่มจากปัจจุบันมีขนาดฝูงบินโบอิ้ง 777-200 อยู่ที่ 4 ลำ ให้บริการเส้นทางบินสู่ 6 เมืองรองทางตอนเหนือของประเทศจีน และอีก 1 เมืองสู่ไทเป ไต้หวัน

สำหรับแผนการเปิดเส้นทางบินใหม่นั้น นายยอดชายกล่าวว่า นกสกู๊ตเตรียมเปิดเส้นทางไปประเทศญี่ปุ่น 2 เมือง คือ กรุงเทพฯ-โตเกียว (นาริตะ) วันละ 1 เที่ยวบิน และกรุงเทพฯ-โอซากา วันละ 1 เที่ยวบิน โดยทั้ง 2 เส้นทางนี้คาดว่าจะเริ่มทำการบินภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ และเปิดเส้นทางกรุงเทพฯ-โซล (อินชอน) ของเกาหลีใต้ วันละ 1 เที่ยวบินในช่วงครึ่งปีหลัง

ขณะที่ปี 2562 นั้น นกสกู๊ตมีแผนบุกตลาดอินเดีย จำนวน 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-นิวเดลี และกรุงเทพฯ-มุมไบ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างขอโควตาทำการบินไปนิวเดลี จำนวน 5 เที่ยวต่อสัปดาห์ และมุมไบ 7 เที่ยวต่อสัปดาห์ หลังจากที่ไทยได้สิทธิ์เพิ่มที่นั่งตามข้อตกลงด้านการบินระหว่าง 2 ประเทศ

“ตอนนี้ เรายังอยู่ระหว่างพิจารณานำเครื่องบินขนาดเล็กลงมาเสริมทัพ ทำการบินสู่เมืองรองอื่น ๆ ในประเทศจีน ที่ใช้ระยะเวลาบินสั้นลง และนำเครื่องใหญ่ไปโฟกัสตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เพิ่มเติม ทั้งนี้ยอมรับว่า การใช้เครื่องบินลำใหญ่ทำให้ต้องคำนึงถึงเส้นทางที่มีความต้องการของลูกค้าสูง เพื่อเติมเต็มที่นั่งบนเที่ยวบินเป็นหลัก ส่งผลให้เมืองเป้าหมายยังจำกัดที่เมืองหลักของแต่ละประเทศ หรือเมืองรองที่มีประชากรจำนวนมาก” นายยอดชายกล่าว

นายยอดชายยังกล่าวถึงเป้าหมายผลประกอบการของนกสกู๊ตในปีนี้ด้วยว่า คาดว่าจะเป็นปีแรกที่ทำกำไรได้มากกว่า 100 ล้านบาท จากการเติบโตด้านรายได้กว่า 80% หรือมีรายได้กว่า 1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ซึ่งปิดรายได้ไปที่ 5,600 ล้านบาท ขาดทุน 60 ล้านบาท และมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มเป็น 2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งปิดที่ 1.1 ล้านคน ขณะที่อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบินแฟกเตอร์) คาดว่าจะอยู่ที่เกือบ 90% หลังจากปีที่แล้วมีเคบินแฟกเตอร์ที่ 87% เติบโตจาก 79% ในปีก่อน

นอกจากนี้ นกสกู๊ตยังสามารถบริหารประสิทธิภาพของการใช้งานเครื่องบินได้ในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเพิ่มจาก 9.4 ชั่วโมงในปีที่ผ่านมา อยู่ที่เฉลี่ย 12 ชั่วโมงต่อวันในปัจจุบัน และวางเป้าหมายเพิ่มเป็น 13 ชั่วโมงต่อวันภายในปีนี้

นายยอดชายยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับธุรกิจการบินในปีนี้นั้นมีปัจจัยที่น่ากังวล 2 เรื่องหลัก คือ 1.สถานการณ์แข่งขันของธุรกิจสายการบินที่รุนแรง และ 2.ต้นทุนน้ำมันซึ่งครองสัดส่วนราว 30% ของต้นทุนทั้งหมดในปัจจุบัน หากราคาน้ำมันมีความผันผวนสูงกว่าที่ประเมินไว้ (80 เหรียญ) อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนและกำไรในปีนี้ได้

“การปรับขึ้นของราคาน้ำมันส่งผลกระทบต่อทุก ๆ สายการบิน ไม่ใช่แค่นกสกู๊ต เพราะต้องเผชิญภาวะเดียวกันหมด แต่ถ้าการปรับขึ้นนั้นเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ธุรกิจก็จะปรับตัวตามได้ แต่หากปรับขึ้นเร็วและก้าวกระโดด จะทำให้สายการบินเตรียมตัวไม่ทัน เพราะธุรกิจสายการบินนั้น เราเปิดขายตั๋วโดยสารล่วงหน้า โดยอิงกับต้นทุนปัจจุบัน นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการตัดสินใจจองตั๋วเครื่องบินของลูกค้าด้วย เพราะถ้าเห็นราคาตั๋วที่สูงขึ้น อาจชะลอแผนการเดินทางออกไปก่อนได้” ซีอีโอนกสกู๊ตกล่าว