ดัชนีเชื่อมั่นปี”61 สดใส ศก.ฟื้น-นักท่องเที่ยวพุ่ง 38 ล้านคน

ฤดูการท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ในไตรมาส 1 ของปี 2561 ผ่านพ้นไป ล่วงเข้าสู่ไตรมาส 2 ของปี ซึ่งถือเป็นช่วงโลว์ซีซั่นสำหรับตลาดนักท่องเที่ยว ทั้งตลาดคนไทยและต่างชาติกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“อิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) บอกว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทย ช่วงไตรมาส 1 ปี 2561 เท่ากับ 101 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปกติ

ศก.โลกฟื้น-ท่องเที่ยวโต

ทั้งนี้ รายได้จากภาคการท่องเที่ยวมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจโลก นำโดยสหรัฐอเมริกาและกลุ่มยุโรปที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ขณะที่ตลาดการส่งออกของเอเชียปรับขยายตัวดี ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัว

ส่วนไตรมาส 2 ปี 2561 นั้น สทท.คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นเท่ากับ 100 เป็นการคาดการณ์ในระดับปกติอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ประกอบการมีการปรับเพิ่มเป้าหมายผลประกอบการในไตรมาส 2 และบางส่วนวางแผนที่จะปรับเพิ่มราคาสินค้าไปพร้อม ๆ กับเพิ่มการจ้างงานและการลงทุน

นักท่องเที่ยวปี”61 พุ่ง 38 ล้าน

“ล่าสุด สทท.ได้ปรับประมาณการตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติสำหรับปีนี้แล้วว่าน่าจะเพิ่มเป็น 38.63 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 9.16% เมื่อเทียบกับปี 2560 และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.14 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 17.37%” อิทธิฤทธิ์ระบุ

พร้อมยังบอกด้วยว่า เมื่อเจาะจงลงไปในไตรมาส 1 ปี 2561 สทท.คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 9.84 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.07% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน ส่วนไตรมาส 2 นี้มองว่าหากไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติใด ๆ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 9.10 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11.93% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ในจำนวนนี้แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศในกลุ่มอาเซียน 2.66 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.37% นักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออก (รวมจีน) 3.74 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12.48% นักท่องเที่ยวจากยุโรปจะอยู่ที่ 1.25 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.62% จากปีที่แล้ว

ส่วนแนวโน้มการท่องเที่ยวตลาดในประเทศ ไตรมาส 1 ปี 2561 มีนักท่องเที่ยวไทยวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ 25% ต่ำกว่าระยะเดียวกันในปีก่อน ขณะที่ไตรมาส 2 ปี 2561 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 33% ซึ่งเพิ่มสูงกว่าปีก่อน จุดหมายที่ได้รับความนิยมในไตรมาส 2 ปีนี้ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง มาตรการรัฐหนุน

โดยนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งวางแผนการใช้ประโยชน์จากนโยบายการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวเมืองรอง ผ่านการท่องเที่ยวเมืองรองควบคู่กับเมืองหลัก และบางส่วนวางแผนท่องเที่ยวเมืองรองโดยเฉพาะ เช่น เชียงราย ลำพูน ทั้งนี้นักท่องเที่ยวไทยมีการวางแผนไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นจากปีก่อนมาก ทั้งในไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางในช่วงวันหยุดเทศกาล เช่น เทศกาลสงกรานต์ เป็นต้น

“อิทธิฤทธิ์” บอกด้วยว่า สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นมองว่ายังสามารถขยายตัวได้ดี ด้วยปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ การเดินทางที่สะดวกรวดเร็วและง่ายขึ้น รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้น พร้อมกับแผนการตลาดเชิงรุกจากหน่วยงานภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง

สร้างมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยว

ทั้งนี้ เห็นควรให้ภาครัฐวางระบบพัฒนาการคมนาคมขนส่งให้มีมาตรฐาน และเชื่อมต่อระบบการเดินทางต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเข้าไว้ด้วยกัน รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสถานที่ท่องเที่ยว และสถานประกอบการในพื้นที่ท่องเที่ยว ให้เป็นไปตามมาตรฐานสอดคล้องกับความสามารถในการรองรับของพื้นที่ และออกแบบการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้นโยบายที่มีความสัมพันธ์กับการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องและเข้าถึงทุกพื้นที่

ในส่วนของผู้ประกอบการควรพัฒนาคุณภาพสินค้า และการให้บริการให้อยู่ในมาตรฐานสากล มีการทำงานร่วมกันในพื้นที่ระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น และส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการ เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าและบริการได้อย่างมีคุณภาพ

บุ๊กกิ้งห้องพักพุ่ง

ด้าน “ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ” นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) บอกว่า สถานการณ์โรงแรมในประเทศไทยค่อนข้างดีต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้ว โดยปี 2561 ถือเป็นปีที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมากันจำนวนมากจริง ๆ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล เช่น ช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ทีเอชเอคาดว่าภาพรวมอัตราเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศในช่วงไตรมาส 1 ปี 2561 จะจบที่ 70% เมื่อแยกย่อยเป็นรายภูมิภาคและพื้นที่ พบว่ากรุงเทพฯมีอัตราเข้าพักดี 78-82% ขณะที่ภาคใต้ถือเป็นพื้นที่ที่ทำอัตราเข้าพักได้ดีที่สุดในไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 82% ขึ้นไป เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว

นอกจากนี้ยังทำอัตราราคาห้องพัก (ARR) เฉลี่ยสูงสุดของไทยด้วยเช่นกัน ฟากภาคเหนือ มีอัตราเข้าพักเฉลี่ย 77-80% ถือว่าไม่ได้ดีขึ้นมาก เติบโตลดลง 3.49% ด้านภาคตะวันออก อัตราเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 62-65% เพิ่มขึ้น 6.5% มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้อัตราเข้าพักไม่มากเหมือนเคย เช่น นักท่องเที่ยวรัสเซียที่มีปริมาณน้อย ไม่เหมือนเดิมที่เคยเดินทางมาเที่ยวพัทยากันเป็นจำนวนมาก

โรงแรมโซนตะวันตกอ่วม

สำหรับภาคตะวันตก เช่น ในพื้นที่เพชรบุรี หัวหิน และประจวบคีรีขันธ์ ในภาพรวมทั้งจังหวัด อัตราเข้าพักอยู่ในระดับค่อนข้างที่น่าเป็นห่วง โดยคาดว่าไตรมาส 1 ปีนี้จบที่ 50-55% ไม่สูงมากเท่าที่ควร ต่างจากเมื่อก่อนที่เคยพุ่งสูงถึงระดับ 80-90% เพราะคนไทยไปพักโรงแรมน้อยลง

ทั้งนี้ เนื่องจากมีการขยายตัวของคอนโดมิเนียมจำนวนมากใน 3 พื้นที่หลักดังกล่าว ทำให้มีการนำห้องชุดในคอนโดมิเนียมมาขายรายวันสู้กับโรงแรมอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และยังมีโรงแรมผิดกฎหมายรวมกันในสัดส่วนมากถึง 60-65%

อย่างไรก็ตาม ทีเอชเอหวังว่าโครงการเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก (Thailand Riviera) ของรัฐบาลจะช่วยกระตุ้นอัตราเข้าพักของโรงแรมในภาคตะวันตกให้ดีขึ้น !