“OTA จีน” ดาหน้าบุกไทย รองรับ “จีนเที่ยวไทย” โตทะลัก

หลังจาก “แจ็ก หม่า” ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้งกลุ่มอาลีบาบา ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจภายใต้กรอบความร่วมมือ Smart Digital Hub and Digital Transformation Strategic Partnership เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
หนึ่งในนั้นคือความร่วมมือกับ “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” หรือ ททท. ในการจัดทำ Thailand Tourism Platform สำหรับไทยโดยเฉพาะ รวมถึงความร่วมมือกันในด้านการใช้ข้อมูลทางการท่องเที่ยวและส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรองและระดับชุมชนของรัฐบาล

“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.เคยดำเนินแผนความร่วมมือกับ “ฟลิกกี้” (Fliggy) เมื่อ 2 ปีก่อน เมื่อครั้งยังใช้ชื่อ “อาลีทริป” (Alitrip) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทนำเที่ยวต่าง ๆ ให้เกิดภาพการเดินทางท่องเที่ยวแบบคุณภาพมากขึ้น

โดยหลังจาก “แจ็ก หม่า” ได้ลงนามความร่วมมือกับรัฐบาลไทย สิ่งที่จะทำงานร่วมกันคือการใช้ tourism big data เพื่อเจาะลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ฐานข้อมูล “เซซามิ เครดิต” ซึ่งเป็นโซเชียลเครดิตของอาลีบาบากรุ๊ป เพื่อเข้าถึงกลุ่มชาวจีนที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง และดึงให้มาเที่ยวและใช้จ่ายในไทยมากขึ้น

“อีกจุดที่เราจะทำงานร่วมกับฟลิกกี้คือ เร่งเจียระไนแหล่งท่องเที่ยวในเมืองรองของไทย เพื่อดึงนักท่องเที่ยวจีนให้ไปเที่ยวมากขึ้น หวังกระจายการเดินทางจากเมืองท่องเที่ยวหลัก”

“เสี่ยวจู” จ่อเปิดตัว Q3

นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์มให้บริการที่พักแบ่งเช่า (house-sharing) ที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วของจีนอีกรายหนึ่งที่เข้ามาจับมือกับกลุ่มผู้ประกอบการคนไทย คือ “เสี่ยวจู” เพื่อทำตลาดในประเทศไทยและในอาเซียน รองรับนักท่องเที่ยวจีนและต่างชาติรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง

“ไมเคิล ซุน” รองประธานกรรมการ บริษัท เสี่ยวจู จำกัด บอกว่า เสี่ยวจูมีแผนผลักดันความร่วมมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อรุกขยายธุรกิจออกไปทั่วโลก เพราะเล็งเห็นโอกาสจากการท่องเที่ยวทั้งขาเข้าและขาออกของชาวจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ พบว่าหลังจากที่ “เสี่ยวจู” เปิดตัวธุรกิจในต่างประเทศเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา ทำให้มีรายการที่พักสำหรับให้บริการนักท่องเที่ยวครอบคลุมแล้วกว่า 100 เมืองทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่กระแสโฮมสเตย์กำลังมาแรงและได้รับความนิยม เช่น ญี่ปุ่น ไทย เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยนั้น คาดว่า “เสี่ยวจู” จะดำเนินการได้เต็มรูปแบบในช่วงไตรมาส 3 ปี 2561 นี้ โดยคาดว่าในปี 2561 ซึ่งเป็นปีแรกของการดำเนินการในประเทศไทยจะมีจำนวนเครือข่ายห้องพักที่ประมาณ 5,000 ห้องพัก และเพิ่มเป็นประมาณ 20,000 ห้องพักในปี 2562

“รูบิกทริปส์” ชูหลากหลาย

ด้าน “ธีรพล อัศวธิตานนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจนโทเชีย จำกัด ประเทศไทย เจ้าของแพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์สัญชาติไทย “RubikTrips” ซึ่งมีเป้าหมายรุกตลาดตัวแทนขายสินค้าท่องเที่ยวออนไลน์ (online travel agent : OTA) ในจีน เล่าว่า ภาพรวมของตลาด OTA ในประเทศจีนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางด้วยตัวเองมากขึ้น โดยปัจจุบันผู้เล่นหลักคือ “ซีทริป” (Ctrip) กินส่วนแบ่งตลาดใหญ่สุดที่ 60-70% รองลงมาคือ “อาลีทริป” ที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อเป็น “ฟลิกกี้”

สำหรับ “รูบิกทริปส์” ได้วางกลยุทธ์ด้วยการดึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวด้านต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มให้เลือกหลากหลาย เพื่อช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในเซ็กเมนต์ใหม่ ๆ ซึ่งมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เพราะไทยมีจุดขายที่หลากหลายกว่าแค่สายการบินและโรงแรม

โดยวางตัวเองเป็นทั้ง medical hub, retirement & rehabilitation มีบริการด้าน wellness ในระดับโลก มีอาหารที่อร่อย ทั้ง 5 ดาวจนไปถึง street food มีจุดท่องเที่ยว unseen ต่างจากแพลตฟอร์มการจองสินค้าท่องเที่ยวอื่น ๆที่จะเจาะลึกแต่ละด้าน เช่น ห้องพัก หรือตั๋วเครื่องบิน เป็นต้น

“ตลาดนักท่องเที่ยวจีนมาไทยมีแต่จะเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากภาพรวมปีที่แล้วมีถึง 9.7 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 3.6 แสนล้านบาท โดยในปี 2561 ซึ่งเปิดให้บริการเป็นปีแรก คาดมีรายได้สะพัดไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และมีรายได้สะพัดบนแพลตฟอร์มเพิ่มเป็น 3,600 ล้านบาทในปี 2563 หรือปีที่ 3 ของการเปิดให้บริการ”

ย้ำ “จีน” ตลาดใหญ่-เติบโตสูง

ขณะที่ “พิมพ์ปวีณ์ นพกิจกำจร” ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารตลาด เอ็กซ์พีเดีย ลอดจ์จิ้ง พาร์ทเนอร์ เซอร์วิส ของเอ็กซ์พีเดียกรุ๊ป กล่าวว่า จากภาพรวมการเติบโตของท่องเที่ยวออนไลน์ทั่วโลก พบว่าจีนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก เมื่อปีที่แล้วเติบโตถึง 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน

นอกจากนี้ จีนยังติดอันดับ 9 ใน 10 ประเทศที่ใช้อินเทอร์เน็ตเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมากที่สุด ครอบคลุมทั้งการซื้อสินค้าท่องเที่ยวออนไลน์ อ่านข้อมูลรีวิว การค้นหากิจกรรมท่องเที่ ยว และเปรียบเทียบราคา มากกว่า 50%และด้วยขนาดประชากรที่มีมากกว่า 1 พันล้านคน แต่มีจำนวนผู้ถือหนังสือเดินทางเพียง 7% เท่านั้น ทำให้ยังมี “ช่องว่าง” ในการเติบโตอีกมากสำหรับตลาดนักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปต่างประเทศ

“พิมพ์ปวีณ์” ยังบอกอีกว่า เมื่อดูเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยแล้ว พบว่าครองสัดส่วนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของตลาดต่างชาติเที่ยวไทยที่ 25-28% ขึ้นอยู่กับแต่ละเดือน และจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมีแต่เติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะหยุดเติบโตหรือมีจำนวนคงที่

โดยเอ็กซ์พีเดียให้ความสำคัญกับตลาดนักท่องเที่ยวจีนอย่างมาก เพราะเป็นหนึ่งในตลาดที่มีการเติบโตสูงสุด แม้จะไม่มีแบรนด์ของเอ็กซ์พีเดียในตลาด OTA จีน แต่ก็ได้จับมือกับพันธมิตรที่แข็งแรงในจีน และปัจจุบัน “เอ็กซ์พีเดีย” มีลูกค้านักท่องเที่ยวจีนมาไทยมากเป็นอันดับ 6 รองจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร