ยกเครื่องท่องเที่ยวไทย ชงเก็บค่าต๋ง-ประกันภัยทัวริสต์

เวทีเสวนา “DASTA Forum 2018” เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ถกกันในประเด็นหัวข้อ “ขับเคลื่อนท่องเที่ยวไทยในยุค 4.0” จัดโดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.

โดยประเด็นหลักที่ถูกหยิบยกมา คือ ภาคท่องเที่ยวไทย มีการกระจายรายได้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงแล้วหรือยัง มีสิ่งใดเป็นอุปสรรคบ้าง และควรแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านท่องเที่ยวอย่างไร ในยุคที่นักท่องเที่ยวต่างชาติต่างแพ็กกระเป๋ามาเที่ยวไทยมากกว่า 35 ล้านคนต่อปี เทียบเท่าครึ่งหนึ่งของประชากรไทยไปแล้ว

โยก อพท.อยู่กับ ก.ท่องเที่ยวฯ

“วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ “ท่องเที่ยว” เป็น “เครื่องมือ” กระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลจะผลักดัน “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” ให้เติบโตและเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยการให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวและรับประโยชน์เอง

ทั้งนี้ เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นตัวรับใช้ชุมชน ไม่ใช่ให้ชุมชนรับใช้การท่องเที่ยวโดยที่ชุมชนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

โดยจะทำการผ่าตัดโครงสร้างการบริหารของกระทรวงการท่องเที่ยวฯที่จะนำ “อพท.” มาอยู่ใต้กระทรวง เพื่อดำเนินยุทธศาสตร์ไปในทิศทางเดียวกันและช่วยประสานงานรอบด้าน เพราะเจ้าของทรัพยากรท่องเที่ยวนั้นอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานและองค์กรที่หลากหลาย ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน วัด และท้องถิ่น

“ปัจจุบันไทยมีแหล่งท่องเที่ยวกว่า 4,800-5,000 แห่ง แต่ผลประโยชน์ยังกระจุกตัวอยู่ที่ 25 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก และนอกจากแหล่งท่องเที่ยวที่มีการสำรวจพบแล้ว ยังมีอีกจำนวนมากที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งท่องเที่ยวและรอการค้นพบ เช่น แหล่งท่องเที่ยวประเภทถ้ำ ปัจจุบันมีถึง 4,000 แห่ง และคาดมีจำนวนที่ยังไม่ถูกค้นพบอีกเท่าตัว”

ยกระดับสิ่งแวดล้อม-ปลอดภัย

ด้าน “ดวงกมล จันสุริยวงศ์” ที่ปรึกษาสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย บอกว่า หากภาคการท่องเที่ยวไทยต้องการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันในระดับโลกให้สูงขึ้นและเติบโตอย่างยั่งยืน ต้องแก้ไข 2 ด้านหลัก คือ “สิ่งแวดล้อม” ซึ่งเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม จัดอันดับขีดความสามารถด้านนี้เมื่อปี 2017 อยู่อันดับ 122 และด้าน “ความปลอดภัย” เพราะไทยอยู่อันดับ 118 จาก 136 ประเทศทั่วโลก

จึงขอเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของไทย เป็นการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อ “เทกแอ็กชั่น” ทันที ผ่านการจัดลำดับความสำคัญของโจทย์ที่ต้องแก้ เพื่อเร่งลดอันดับแย่ ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยอย่างจริงจัง

พร้อมตั้งเป้าว่า ภายใน 2 ปีนับจากนี้จะทำให้อันดับขีดความสามารถด้านสิ่งแวดล้อมจากอันดับ 122 มาอยู่ใน 100 อันดับแรก และผลักดันให้ติด 10 อันดับแรกในระยาว

เพิ่มขีดความสามารถระดับจังหวัด

ฟาก “มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด” ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ให้ความเห็นบนเวทีว่า สำหรับโจทย์ของรัฐบาลที่ต้องการกระจายรายได้ท่องเที่ยวนั้นจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปขีดความสามารถในการแข่งขันให้ลงลึกระดับ “จังหวัด” และ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (อปท.) เพราะเมื่อดูตามดัชนี Gini Coefficient ของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) อยู่ที่ 0.679 ขณะที่ของ GPP ด้านการท่องเที่ยวอยู่ที่ 0.859 สะท้อนให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจท่องเที่ยวสูงกว่ารายได้ปกติ

ทั้งนี้ จากสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวฯในปี 2560 พบว่า รายได้ของภาคท่องเที่ยวไทยยังกระจุกอยู่ในเมืองหลัก เฉพาะกรุงเทพฯก็มีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 8.22 แสนล้านบาท ครองสัดส่วนมากถึง 38.16% ของรายได้ทั้งหมดแล้ว

รองลงมาคือ ภูเก็ต มีรายได้ 3.77 แสนล้านบาท คิดเป็น 17.53%, ชลบุรี 2.06 แสนล้านบาท คิดเป็น 9.57%, เชียงใหม่ 9 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 4.18% และกระบี่ 8.84 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 4.11% ขณะที่อีก 5 จังหวัดอันดับรองลงมา ได้แก่ สุราษฎร์ธานี สงขลา พังงา ระยอง และประจวบคีรีขันธ์ มีรายได้รวมกัน 2.36 แสนล้านบาท คิดเป็น 10.96%

ดังนั้น ภาคการท่องเที่ยวต้องเร่งพัฒนาด้าน “ซัพพลาย” เพื่อรองรับดีมานด์การท่องเที่ยวในทุกมิติ โดยเฉพาะ “เมืองรอง” ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือกระจายรายได้ เพราะปัจจุบันยังไม่พร้อมในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ประกอบการท่องเที่ยว เช่น บริษัทนำเที่ยว โรงแรม และร้านอาหารที่ยังมีอยู่น้อยราย รวมถึง “ระบบโลจิสติกส์” รองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว

แนะเก็บค่าต๋งนักท่องเที่ยว

“มิ่งสรรพ์” เล่าเพิ่มเติมว่า เมื่อดูจากดัชนีสภาพแวดล้อม ซึ่งวัดปัญหาใหญ่ของจังหวัดท่องเที่ยวของไทย ทั้งในเรื่องของคุณภาพสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และสุขภาพอนามัย พบว่าเมืองท่องเที่ยวหลักอย่าง “ภูเก็ต” อยู่ในอันดับที่ 55 จาก 76 จังหวัด ขณะที่เชียงใหม่อยู่ในอันดับที่ 61 จึงอยากจะเสนอให้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ใช้ดัชนีนี้เป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัดพร้อมทั้งเร่งเข้าไปบริหารเรื่องขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของแต่ละแห่ง และควรเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้แล้ว และไม่จำเป็นต้องกังวลว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะไม่มาไทย เพราะในอดีตเคยมีการศึกษาว่าหากเรียกเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวที่ 1,000 บาทต่อคน จะส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวแค่ 4 หมื่นคนเท่านั้น

“ปัจจุบันไทยมีการเติบโตด้านนักท่องเที่ยวที่รวดเร็วและมีจำนวนสูงมาก ทำให้มองว่านี่คือช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้ว ทั้งนี้ ต้องวางระบบการบริหารจัดการงบประมาณในการยกระดับทุก ๆ เรื่อง รวมถึงการให้บริการนักท่องเที่ยวที่ดีขึ้นด้วย ส่วนอีกประเด็นที่ต้องการให้เกิดขึ้นจริง คือ ควรจัดเก็บประกันภัยนักท่องเที่ยวไปด้วยเลย เพราะไม่ควรเป็นภาระของภาษีไทยในการดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติ”

สอดรับกับ “พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์” ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ บอกว่า ขณะนี้ประเทศที่โดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยวอย่างนิวซีแลนด์ เพิ่งประกาศให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยว 35 เหรียญนิวซีแลนด์ต่อคน (ประมาณ 800 บาท) คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2562 เพื่อรองรับความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวและแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ

ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ไทยควรจะพิจารณาเรื่องเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวที่มาเยือน เพื่อนำงบประมาณที่จัดเก็บได้ไปใช้ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ

นอกจากนี้ ส่วนตัวยังเห็นด้วยกับการใช้มาตรการบังคับให้นักท่องเที่ยวต้องทำประกันเมื่อมาเที่ยวไทย เพราะในช่วงที่ผ่านมาเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต ต้องใช้งบประมาณมาดูแล ซึ่งมองว่าไม่ใช่หน้าที่ของผู้เสียภาษีไทยที่ต้องมาร่วมรับภาระดูแลนักท่องเที่ยวในส่วนนี้