บางกอกแอร์เวย์ส ลุยลงทุน “ธุรกิจใหม่” เสริมพอร์ตการบิน

จากรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่า ในปี 2561 ที่ผ่านมาภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของประเทศไทย เติบโตอยู่ที่ร้อยละ 8.1 ขณะที่สายการบินต่าง ๆ ก็ได้ขยายเส้นทางบินใหม่ ๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งเส้นทางบินภายในประเทศและต่างประเทศกันอย่างคึกคักต่อเนื่อง และส่งผลให้การแข่งขันของธุรกิจการบินยัง “รุนแรง” ต่อเนื่องเช่นเดิม

“พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ “การบินกรุงเทพ” ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ยอมรับว่า ผลการดำเนินงานสำหรับปี 2561 ที่ผ่านมานั้นรายได้จากธุรกิจการบิน ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 73.3 ของรายได้รวม ลดลงร้อยละ 0.1 ซึ่งเป็นผลจากภาวะการแข่งขันในตลาดที่ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยลดลงร้อยละ 6.1

แต่เนื่องจากตัวเลขที่เกี่ยวเนื่องกับ “สนามบิน” ยังสามารถเติบโตได้ร้อยละ 6.1ทำให้ภาพรวมมีกำไร 263.7 ล้านบาท

มุ่งเจาะตลาด CLMV

อย่างไรก็ตาม “บางกอกแอร์เวย์ส” ยังคงมุ่งขยายเส้นทางบินใหม่เพิ่มโดยเฉพาะใน CLMV ทั้งเวียดนาม ลาว และเมียนมา โดยในปีที่ผ่านมาได้เพิ่มเที่ยวบินกรุงเทพฯ-เวียงจันทน์ (ลาว) เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, กรุงเทพฯ-มัณฑะเลย์ (เมียนมา) เป็น 11 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, กรุงเทพฯ-เกาะฟูโกว๊ก (เวียดนาม) เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเปิดเส้นทางบินเชียงใหม่-ฮานอย (เวียดนาม) 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์และยังคงเดินหน้าเปิดเส้นทางบินใหม่และเพิ่มความถี่ในเส้นทางที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยใช้กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ), สมุย และเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางทางการบินให้ครอบคลุมไปยังเมืองสำคัญหรือแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของภูมิภาคเอเชีย 

โดยเส้นทางบินแรกที่เปิดไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา คือ กรุงเทพฯ-คัมรัน (เวียดนาม) 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเตรียมเปิดเชียงใหม่-กระบี่ (เที่ยวเดียว) 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ในวันที่ 31 มีนาคมนี้ และจะปรับเป็นให้บริการวันละ 1 เที่ยวบิน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป และเส้นทางเชียงใหม่-หลวงพระบาง (สปป.ลาว) 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ในวันที่ 2 เมษายนนี้

ขณะเดียวกัน ยังได้เพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางบินยอดนิยมอีก อาทิ กรุงเทพฯ-ดานัง (เวียดนาม) จาก 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ในวันที่ 1 มีนาคมนี้ และกระบี่-กรุงเทพฯ จาก 21 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 28 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ในวันที่ 31 มีนาคมนี้เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ในปีนี้ยังมีแผนเพิ่มเครือข่ายพันธมิตรทางการบินผ่านการทำข้อตกลงเที่ยวบินร่วม (codeshare) กับสายการบินชั้นนำเพิ่มเติมอีก 2-3 สายการบิน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 27 สายการบิน

ทั้งนี้ ตั้งเป้ารายได้ผู้โดยสารเติบโตร้อยละ 3.5 อัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ และการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 หรือประมาณ 6.16 ล้านคน

ทุ่มงบฯ พัฒนาสนามบิน

ด้านธุรกิจสนามบินนั้น ปีนี้กลุ่ม “บางกอกแอร์เวย์ส” มีแผนลงทุนรวมกว่า 1,000 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการขยายและพัฒนาสนามบินสุโขทัย วงเงิน 958 ล้านบาท ในการสร้างโรงซ่อมบำรุงอากาศยานและพัฒนาพื้นที่ภายในสนามบิน ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และคาดว่าหลังจากได้อีไอเอจะใช้เวลาในการก่อสร้างราว 2 ปี และโครงการขยายและพัฒนาสนามบินตราด วงเงิน 334 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่สนามบินและขยายทางวิ่งของเครื่องบิน เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่และเที่ยวบินระหว่างประเทศ

ขณะนี้อยู่ระหว่างขออนุญาตอีไอเอเช่นกัน อย่างไรก็ตาม คาดว่าน่าจะเริ่มดำเนินการในช่วงปลายปีนี้ และเปิดใช้งานได้ในช่วงกลางปี 2564 นี้

ขยาย “ครัวการบิน-ร้านอาหาร”

“กัปตันพุฒิพงศ์” ยังบอกด้วยว่า สำหรับในฟากของธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ธุรกิจการบินนั้น ปีนี้ “บางกอกแอร์เวย์ส”ก็มีแผนขยายงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน อาทิ ธุรกิจครัวการบิน หรือ Bangkok Air Catering-BAC ซึ่งในปีที่ผ่านมามีส่วนแบ่งการตลาด 25%มีลูกค้า 20 สายการบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนครัวการบินกรุงเทพฯ ภูเก็ต มีลูกค้า 12 ราย

โดยปีนี้มีแผนเปิดครัวการบินเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง คือ ครัวการบินกรุงเทพ สาขาสนามบินเชียงใหม่ คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในไตรมาส 2 

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทกูร์เมท์ พรีโม่ ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้า 12 ราย และธุรกิจร้านอาหาร โดยให้บริการร้านอาหารฝรั่งเศสแบบดั้งเดิม Brasserie 9, ร้านอาหารเลบานีสและอาหารอินเดีย Al Saray และภายในปีนี้มีแผนจะเปิดให้ร้านอาหารไทยตำรับชาววัง “เรือนนพเก้า”เพิ่มเติมอีก 1 แห่งด้วย

จ่อประมูล “ดิวตี้ฟรี” ทุกเงื่อนไข

นอกจากนี้ “บางกอกแอร์เวย์ส” และพันธมิตรยังได้เตรียมความพร้อมสำหรับเข้าร่วมประมูลดิวตี้ฟรี ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้วย รอเพียงแค่ความชัดเจนเรื่องทีโออาร์ของบริษัทท่าอากาศยานไทยเท่านั้นว่าเงื่อนไขเป็นอย่างไร และจะใช้หลักการแบบรายเดียวหรือแบ่งตามกลุ่มสินค้า ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเงื่อนไขทีโออาร์จะออกมาอย่างไร “บางกอกแอร์เวย์ส” และพันธมิตรก็พร้อมร่วมประมูลในทุกเงื่อนไข

จ่อลุยเมืองการบิน “อู่ตะเภา”

ไม่มีเพียงแค่นี้ยังมีแผนเข้าร่วมประมูลเมืองการบินที่อู่ตะเภาด้วย โดยบริษัทซึ่งเป็นผู้นำและพาร์ตเนอร์หลัก ๆ เข้ามาร่วมอีก 5-6 ราย พร้อมที่จะยื่นประมูลในวันที่ 21 มีนาคมนี้ และเนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีมูลค่าการลงทุนสูงจึงจำเป็นต้องมีพาร์ตเนอร์จำนวนมาก ซึ่งส่วนตัวคาดว่าในเฟสแรกนั้นน่าจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ในส่วนของบางกอกแอร์เวย์สเองก็เตรียมพร้อมด้านเงินลงทุนไว้เรียบร้อยแล้วเช่นกัน

เรียกว่าสำหรับ “บางกอกแอร์เวย์ส” แล้ว ปีนี้มีความพร้อมมากสำหรับการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ในทุกเงื่อนไขเลยทีเดียว…