สทน.ลุ้น “มาตรการรัฐ” ปลุกรายได้ “เที่ยวในประเทศ”

สัมภาษณ์

หลังจากโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” เปิดให้คนไทยเข้าไปลงทะเบียนรับสิทธิ 1,000 บาท จำนวน 10 ล้านคน ผ่าน www.ชิมช้อปใช้.com เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคธุรกิจท่องเที่ยวของรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ไปแล้วเมื่อ 23 กันยายนที่ผ่านมา ล่าสุดทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ประกาศเปิดตัวแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวอีก 2 แคมเปญใหญ่คือ ร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย และเที่ยววันธรรมดาราคาช็อกโลก เพื่อปลุกกระแสการเดินทางท่องเที่ยวในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้อีกระลอกใหญ่

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “ภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์” นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) องค์กรสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวไทย และส่งเสริมให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศถึงภาพรวมของการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ รวมถึงอานิสงส์จากมาตรการของภาครัฐในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ไว้ดังนี้

เฟสแรกตกถึงท่องเที่ยวน้อย

“ภูริวัจน์” บอกว่า โครงการชิม ช้อป ใช้ เฟสแรกที่ออกมานั้นส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับสิทธิจะนำไปใช้สำหรับการจับจ่ายซื้อสินค้าและรับประทานอาหารมากกว่าการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นเหมือนแคมเปญ “ช็อปช่วยชาติ” ซึ่งก็ได้ผลในแง่ของการกระตุ้นการจับจ่ายของคนไทย และเกิดการหมุนเวียนของเงินในภาคธุรกิจมากขึ้น

Advertisment

เพียงแต่ยังไม่ตอบโจทย์ในเรื่องของการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวเท่าที่ควร แม้แต่ในช่วงวันหยุดยาว (12-14 ตุลาคม) ที่ผ่านมาซึ่งเป็นเทศกาลออกพรรษา คนไทยก็มีการเดินทางข้ามจังหวัดเป็นจำนวนมาก แต่เม็ดเงินส่วนใหญ่ก็ยังคงตกอยู่ในมือของกลุ่มสินค้าในหมวดอุปโภคบริโภคเป็นหลัก

“จากการพูดคุยกับกลุ่มสมาชิกของสมาคม ที่มีทั้งโรงแรม ร้านอาหาร บริษัททัวร์ แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ ในหลาย ๆ จังหวัด พบว่าหมวดที่ได้อานิสงส์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มร้านอาหาร สินค้าชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่วนหมวดโรงแรม, บริษัทนำเที่ยวยังไม่ได้รับอานิสงส์มากนัก อาจเป็นเพราะส่วนใหญ่เดินทางข้ามจังหวัดจริงแต่ไม่ได้พักค้างคืน และเป็นกลุ่มที่เดินทางเองไม่ผ่านบริษัททัวร์”

ลุ้น 2 แคมเปญใหญ่โค้งท้าย

“ภูริวัจน์” บอกด้วยว่า ประเด็นที่กลุ่มเอกชนท่องเที่ยวให้ความสนใจอยู่ในตอนนี้คือ 2 แคมเปญใหญ่ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่จะออกมาใช้กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวอีกระลอกในช่วง 2 เดือนสุดท้าย ของปี หรือในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2562 นี้

Advertisment

ประกอบด้วย แคมเปญ “ร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย” ซึ่ง ททท.ได้ร่วมกับเอกชนท่องเที่ยวทั้งหมวดการเดินทาง โรงแรม-ที่พัก อาหารและเครื่องดื่ม แหล่งท่องเที่ยวและบริษัททัวร์ จำหน่ายสินค้าท่องเที่ยวรายการละ 100 บาท รวม 40,000 รายการ ตลอดแคมเปญในช่วง 2 เดือนสุดท้าย และแคมเปญ “เที่ยววันธรรมดาราคาช็อกโลก” ที่ร่วมกับเอกชนท่องเที่ยวจำหน่ายสินค้าด้านการท่องเที่ยวในราคาลดสูงสุดถึง 80% สำหรับให้บริการในวันธรรมดาตลอดช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีเช่นกัน

ทั้งนี้ มองว่าทั้ง 2 แคมเปญดังกล่าวนี้น่าจะช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้คนไทยทั่วประเทศเกิดการเดินทางท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น เพราะเป็นแคมเปญที่ออกมาสำหรับกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยตรงบวกกับมาตรการชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 ที่กำลังจะออกมา ที่ให้ออนท็อปส่วนลดเพิ่มขึ้นอีกสำหรับผู้ใช้เงินกระเป๋า 2 (ของโครงการชิม ช้อป ใช้ เฟสแรก 15%) ซึ่งหากได้ส่วนลดเพิ่มขึ้นเป็น 20% หรือมากกว่านั้นเชื่อว่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้คนที่ได้สิทธิใช้เงินในกระเป๋า 2กันเพิ่มมากขึ้นแน่นอน

ผู้ประกอบการเร่งปรับกลยุทธ์

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ยังไม่ได้อานิสงส์จากโครงการชิม ช้อป ใช้ เฟสแรกมากนักก็ต้องเริ่มปรับตัว ปรับกลยุทธ์กันใหม่อีกรอบ เพื่อหาวิธีดึงเงินงบประมาณของภาครัฐและจากกระเป๋านักท่องเที่ยวคนไทยมาอยู่ในกระเป๋าตัวเองให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

“โครงการนี้ผู้ประกอบการในภาคเอกชนขานรับกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะโครงการเที่ยววันธรรมดาราคาช็อกโลก เพราะปกติแล้ววันธรรมดาจะมีนักท่องเที่ยวใช้บริการที่น้อยอยู่แล้ว การให้ส่วนลดเป็นแรงจูงใจจะช่วยให้นักท่องเที่ยวได้รับความสุขในการท่องเที่ยวมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็มีโอกาสขายได้มากขึ้น บวกกับ 2 เดือนสุดท้ายซึ่งปกติเป็นช่วงไฮซีซั่น มีกระแสการเดินทางท่องเที่ยวในอัตราที่สูงอยู่แล้ว จึงเชื่อมั่นว่ามาตรการทั้ง 2 แคมเปญจะช่วยกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ให้มีบรรยากาศที่ดียิ่งขึ้น”

ลุ้นรายได้เที่ยวใน ปท. แตะ 1.2 ล้าน ล.

นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ ยังให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมของสถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศด้วยว่า ในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ที่ผ่านมาด้วยว่า โดยรวมยังถือว่าไม่ดีนักเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (จากการสรุปตัวเลขของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ)

แต่เมื่อภาครัฐมีโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” ออกมาก็พบว่ากราฟที่เคยอยู่ในระนาบแนวนอนและตกนิดหน่อยก็เริ่มปรับตัวมาอยู่ในทิศทางบวกขึ้น

เรียกว่า ตอนนี้บรรยากาศของการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเริ่มคึกคักกว่าตลาดต่างชาติเที่ยวไทย (อินบาวด์) เล็กน้อย ก็หวังว่าหลังจากภาครัฐออกมาตรการออกมากระตุ้นอีก 2 แคมเปญดังกล่าวก็น่าจะทำให้บรรยากาศและตัวเลขรายได้ของการท่องเที่ยวภายในประเทศดีขึ้น

ส่วนจะทำให้ภาพรวมทั้งปีของปีนี้เท่ากับหรือดีกว่าปีที่ผ่านมา หรือจะเป็นไปตามเป้าหมายรายได้ 1.2 ล้านล้านบาทตามที่ ททท.คาดการณ์หรือไม่นั้นยังคงต้องรอประเมินในช่วงท้ายของปีอีกครั้ง

แนะรัฐวางฐานเที่ยวใน ปท.

“ภูริวัจน์” ยังเสนอด้วยว่าภาครัฐควรหันมาสนับสนุนและส่งเสริมให้การท่องเที่ยวภายในประเทศมีความแข็งแรง และสร้างรายได้ให้ประเทศได้ในสัดส่วนที่มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและมีความแข็งแรงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจประเทศ ไม่ใช่ว่าพอเจอวิกฤตเศรษฐกิจ หรือวิกฤตค่าเงิน ตลาดอินบาวด์ (ต่างชาติเที่ยวไทย) ได้รับผลกระทบแล้วค่อยหันมาสนับสนุนเที่ยวภายในประเทศ

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือโมเดลของประเทศญี่ปุ่นที่เขาสนับสนุนท่องเที่ยวภายในประเทศ กระทั่งมีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 3 ใน 4 ของรายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งหมด และพึ่งพาต่างชาติเพียงแค่ 1 ใน 4 เท่านั้น

“ผมพูดเรื่องนี้มาหลายเวทีตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาว่า หากประเทศไทยทำได้แบบนี้ เชื่อว่าไม่ว่าประเทศไทยจะเผชิญกับวิกฤตอะไร ภาคธุรกิจท่องเที่ยวก็จะยังสามารถเป็นเครื่องยนต์หลักที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่งและเดินหน้าต่อได้อย่างแข็งแรง”

พร้อมทั้งย้ำว่า รัฐบาลควรตระหนักและให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างต่อเนื่องและจริงจัง และดันให้สัดส่วนรายได้จากท่องเที่ยวภายในประเทศมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่ง และเชื่อว่าหากท่องเที่ยวในประเทศมีความแข็งแรง ปลอดภัย และเข้าถึงง่าย นักท่องเที่ยวต่างชาติก็อยากมาท่องเที่ยวเช่นกัน…