“ท่องเที่ยว” ดับทุกเซ็กเตอร์ ทยอยปิดตัว-ปรับโมเดล

ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยนับเป็นกลุ่มธุรกิจแรกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทั่งวันนี้นับเป็นเวลากว่า 2 เดือน

“เทคซอส” ธุรกิจสตาร์ตอัพที่มุ่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยสร้างการเจริญเติบโตให้ธุรกิจ ได้จัดเสวนาออนไลน์นำเสนอแนวทางการปรับตัวของกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจไมซ์ และแนวทางการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจโฮสเทล หลังจากเผชิญวิกฤตโควิด-19 โดย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมมานำเสนอ ดังนี้

“โควิด” โหดสุดในช่วงชีวิต

“ธีร์ ฉายากุล” ผู้จัดการทราเวลโลกาประจำประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า แม้จะมีการเตรียมตัวดีแค่ไหน แต่สถานการณ์โควิด-19 ไม่ใช่สถานการณ์ที่จะสามารถเตรียมตัวได้และเป็นสถานการณ์ที่โหดมาก และน่าจะโหดที่สุดในช่วงชีวิตของเรา

ยกตัวอย่างกรณีของ “ทราเวลโลกา” แม้จะมีการเตรียมตัวสำหรับเคสที่แย่ที่สุดเอาไว้ แต่ดีมานด์ของทั้ง 3 เซ็กเมนต์ คือ สายการบิน โรงแรม และไลฟ์สไตล์ ล้วนลดลงอย่างมากและได้รับผลกระทบอย่างหนักไม่ต่างกัน

“ในช่วงเวลานี้มีสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำ 3 อย่าง คือ 1.ดูแลลูกค้าของเราที่จะต้องยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงการจองให้ดี โดยการเพิ่มช่องทางติดต่อและเพิ่มบุคลากรในการทำงานตรงนี้ 2.การดูแลพาร์ตเนอร์ในแต่ละเซ็กเมนต์ว่าจะสามารถช่วยเหลือให้เขาสามารถทำธุรกิจต่อไปอย่างไรได้บ้าง และ 3.การกลับมาพิจารณาโมเดลธุรกิจของตัวเองอีกครั้งว่าจะปรับอย่างไรให้สอดคล้องกับสถานการณ์และยืดหยุ่นในช่วงเวลาวิกฤตได้ดียิ่งขึ้น”

“ธีร์” บอกด้วยว่า สำหรับทราเวลโลกานั้นมองว่า ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวควรได้รับการเยียวยาทางการเงินจากภาครัฐ เพื่อนำเอากระแสเงินสดเข้ามาหมุนเวียนในสถานประกอบการให้สามารถยืดอายุอยู่ได้อย่างน้อย 3 เดือน ไม่เช่นนั้นหลังสถานการณ์สิ้นสุดจะมีผู้ประกอบการท่องเที่ยวเหลืออยู่น้อยกว่าที่ควรจะเป็นและผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เหลืออยู่อาจจะไม่พร้อมกับการให้บริการในทันที

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของซาร์ส อาจจะสามารถประเมินเบื้องต้นได้ว่าจะต้องใช้เวลา 3-6 เดือนสถานการณ์จึงจะสิ้นสุด และใช้เวลาอีก 3-6 เดือนในการฟื้นตัว โดยประเมินว่านักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่จะเริ่มเดินทางคือ นักเดินทางกลุ่มธุรกิจ ก่อนจะตามมาด้วยกลุ่มอื่น ๆ ดังนั้น บริษัทจึงวางแผนไว้ว่าอาจจะกลับมาเริ่มธุรกิจได้อีกครั้งในไตรมาส 3 ของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่าถ้าสถานการณ์ยืดยาวออกไปหรือใช้เวลาเป็นปีก็จะแย่กันทั้งอุตสาหกรรม

แฟ้มภาพ : ภาพจาก booking.com//hotel/th/once-again-hostel

“โฮสเทล” ปิด-เปลี่ยนโมเดล

ขณะที่ “ศานนท์ หวังสร้างบุญ” ผู้ก่อตั้ง Once Again Hostel กล่าวว่าธุรกิจโฮสเทลเป็นธุรกิจที่เดิมทีก็มีซัพพลายมากกว่าดีมานด์อยู่แล้ว เมื่อเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องทยอยปิดตัวลงไปหรือเปลี่ยนไปทำธุรกิจอย่างอื่นแทน เนื่องจากอัตราการเข้าพักที่เคยเต็มกลายเป็นศูนย์ หรือเลขหลักเดียว โดยหลายโฮสเทลหันไปจับธุรกิจทางด้านอาหารและเครื่องดื่มที่เคยเป็นธุรกิจรองเช่นเดียวกับ Once Again Hostel เช่นกัน

ทั้งนี้ เชื่อว่าหลังจากสถานการณ์คลี่คลายลง พฤติกรรมนักท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปอย่างมาก และธุรกิจโฮสเทลซึ่งเป็นธุรกิจที่ผู้เข้าพักจะต้องใช้ของส่วนกลางร่วมกันจะถูกดิสรัปต์มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวและหันมาให้ความสำคัญกับสุขอนามัยมากยิ่งขึ้นไปอีก

นอกจากนั้น ผู้ประกอบการโฮสเทลซึ่งมักทำตลาดเดียวอาจจะต้องหันมากระจายความเสี่ยงออกไปให้มีนักท่องเที่ยวหลากหลายสัญชาติ รวมถึงคละกับการปล่อยเช่ารายเดือนหรือธุรกิจอาหารมากขึ้น

“ต้องยอมรับว่าธุรกิจโฮสเทลได้รับผลกระทบมาก เพราะอิงอยู่กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดังนั้น ตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงปลายปีที่นักท่องเที่ยวบางส่วนอาจจะเริ่มเดินทางบ้างเล็กน้อยจึงต้องปรับตัวอย่างมาก หลายรายอาจต้องยอมออกจากธุรกิจนี้ไป รวมถึงผู้ที่อยากจะเข้ามาทำธุรกิจโฮสเทลอาจจะทำได้ยากมากขึ้นจากที่ยากอยู่แล้ว หน้าใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดจะต้องมีจุดขายที่ชัดเจนและแข็งแกร่งจริง ๆ เท่านั้น”

“ไมซ์” (อาจ) สูญ 7 หมื่นล้าน

ด้าน “ศุภวรรณ ตีระรัตน์” รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ระบุว่า โดยปกติแล้วอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) สร้างรายได้โดยตรงเข้าสู่ประเทศ 2 แสนล้านบาท แต่หลังจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ช่วงที่ผ่านมากระทบกับการเดินทางในไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ โดยนักเดินทางไมซ์ลดลงไปจากเป้าที่ตั้งไว้กว่า 50% ทำให้ไทยสูญเสียรายได้ตรงนี้ไปกว่า 3 หมื่นล้าน และหากสถานการณ์ยังลากยาวไปจนถึงมิถุนายน หรือล่วงเข้าสู่ไตรมาส 3 คาดว่าจะเสียหายเพิ่มอีก 4 หมื่นล้านบาทอย่างแน่นอน เนื่องจากธุรกิจไมซ์มีผู้เกี่ยวข้องมากและหลายฝ่าย

สำหรับ “ทีเส็บ” นั้นได้เร่งเปิดศูนย์ข้อมูลโควิด-19 นับตั้งแต่การแพร่ระบาดเพิ่งเริ่มต้น โดยศูนย์ข้อมูลออนไลน์นี้จะรวบรวมข้อมูลเป็นซิงเกิลเมสเสจในการสื่อสารข้อมูลอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งในไทยและต่างประเทศผ่านการรวบรวมข้อมูลจากสมาคมต่าง ๆ รวมถึงแคมเปญที่ทีเส็บเป็นผู้ออกเพื่อดูแลและวางแผนฟื้นฟูผู้ประกอบการไมซ์ในอนาคต

โดยในช่วงที่ผ่านมาทีเส็บได้ออกแคมเปญออนไลน์สำคัญ 3 แคมเปญ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงเวลานี้ ได้แก่ แคมเปญ “VMS” นำเสนอ Webminar ในการจัดประชุมออนไลน์ที่สมาชิกสามารถเข้าร่วมประชุมได้มากกว่าครั้งละร้อยคน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถจัดการประชุมออนไลน์ขึ้นได้แคมเปญ “อีเลิร์นนิ่ง แพลตฟอร์ม” เพื่ออัพสกิลและรีสกิลให้กับผู้ประกอบการและบุคลากรไมซ์ และแคมเปญ “Virtual Event Platform” เพื่อจำลองงานไมซ์มาไว้ในรูปแบบออนไลน์

นอกจากนั้น ทีเส็บยังได้เตรียมการเยียวยาด้วยการสนับสนุนแคมเปญสำหรับการปรับปรุงห้องประชุม ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดงานต่าง ๆ ให้ถูกสุขอนามัยและเหมาะสมกับการรับมือสถานการณ์หลังโควิด-19 อาทิ มีเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ จัดที่นั่งห่าง ฯลฯ โดยจะมีงบประมาณให้สถานที่ละ 30,000 บาท

จากนั้นเมื่อการแพร่ระบาดยุติลง “ทีเส็บ” จะเร่งส่งเสริมการเจาะกลุ่มตลาดไมซ์ระยะใกล้ เช่น กลุ่มประเทศในอาเซียนและเอเชีย เพื่อให้เกิดการเดินทางอย่างรวดเร็ว โดยสนับสนุนการดึงงานระดับนานาชาติ และงานรวมกลุ่มของผู้จัดงาน เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับประเทศไทยชัดเจนขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการประเมิน คาดการณ์ และการเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ของกลุ่มธุรกิจหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเท่านั้น