“ซีไนน์ โฮเทล” เผยผลวิจัยชี้หลังโควิดไทยยังเป็นจุดหมายปลายอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวจีน

แฟ้มภาพ

“ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส์” เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นการท่องเที่ยวชางจีน 2020 พบว่ากว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการเดินทางไปต่างประเทศภายในปีนี้ โดยตั้งเป้าเดินทาง ในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม-ธันวาคม ยันประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 1 มีสัดส่วนถึง 71%

นายบิล บาร์เน็ต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส์ จำกัด (C9 Hotelworks) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมกับเดลิเวอร์ริ่ง เอเชีย คอมมิวนิเคชั่นส์ (Delivering Asia Communications) ทำการสำรวจความเชื่อมั่นการท่องเที่ยวของชาวจีนปี 2020 (China Thailand Travel Sentiment Survey 2020) ในช่วงกลางเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา

โดยจากการสำรวจพบว่า 53% ของผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งเป็นชาวจีนในเมืองชั้นนำ ต้องการเดินทางไปต่างประเทศภายในปีนี้ โดยเดือนที่มีการตั้งเป้าจะเดินทางมากที่สุด ได้แก่ สิงหาคม ตุลาคม และธันวาคม และประเทศที่ผู้บริโภคชาวจีนต้องการมาเที่ยวสูงสุดคือประเทศไทย มีสัดส่วนถึง 71%

นอกจากนี้ ยังพบว่า พฤติกรรมการท่องเที่ยวของชาวจีนแบบดั้งเดิมในตลาดมวลชน (mass market) มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ กล่าวคือ 83% ของนักท่องเที่ยวจีนมีแนวโน้มจะเลือกเดินทางแบบอิสระ (independent travel) มากกว่าการท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ โดยช่องทางการซื้อที่ตอบโจทย์นักเดินทางชาวจีนสู่ประเทศไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ CTrip (61%), Fliggy (16%), เว็บไซต์โรงแรม (9%), Booking.com (5%) และ WeChat (5%)

“ที่สำคัญผลการสำรวจยังระบุด้วยว่า จุดหมายปลายทางในประเทศไทยที่เป็นที่นิยมสำหรับการพักผ่อนมากที่สุดของผู้ตอบแบบสอบถามชาวจีน ได้แก่ กรุงเทพ, ภูเก็ต, เชียงใหม่, เกาะสมุย และพัทยา โดยกว่า 75% เลือกเดินทางมายัง 3 อันดับแรก”

กรรมการผู้จัดการซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส์กล่าวด้วยว่า จากมุมมองที่คาดการณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2563 การเดินทางทางอากาศเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับภาคการท่องเที่ยว ตัวบ่งชี้กิจกรรมของสายการบินจาก Flightradar24 สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สายการบินระดับภูมิภาคและสายการบินต้นทุนต่ำ (LCC) ของจีนได้กลับมาให้บริการแล้ว

ในขณะที่ยังมีปัจจัยความหวาดกลัวทั่วโลกสำหรับนักเดินทางหลังจากการระบาดของโรคไวรัส จึงคาดว่าจะทำให้เกิดการเดินทางแค่ระยะสั้นในช่วงแรก เนื่องจากความกังวลเรื่องสุขภาพในการเดินทางโดยเครื่องบิน ทั้งนี้ ประเทศไทยมีสายการบินตรงจากจีน รวมถึงมีเครือข่ายสายการบินที่ได้รับการจัดสรรและอนุญาตเส้นทางการบินจากจีนมายังไทยมากมาย

“ดัชนีชี้นำในการฟื้นตัวของการเดินทางในเอเชียอีกประการหนึ่งคือ การแข็งค่าของเงินหยวนของจีนเทียบกับเงินบาทไทย หลังจากที่ลดลงถึงระดับต่ำสุดในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและสงครามการค้า ปัจจุบันสกุลเงินได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2563 ซึ่งเท่ากับมูลค่าที่เพิ่มขึ้น มีผลต่อนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะมายังประเทศไทย”

ด้านนายเดวิด จอห์นสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เดลิเวอร์ริ่ง เอเชีย คอมมิวนิเคชั่นส์ กล่าวเสริมว่า ข้อมูลด้านประชากรของนักเดินทางจากจีนที่กำลังเปลี่ยนแปลงว่า โยนักเดินทางชาวจีนหน้าใหม่มีอายุน้อยลง มีอิสระมากขึ้น และได้รับอิทธิพลทางดิจิทัลมากกว่าที่เคยเป็นมา โควิด-19 มีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อความตั้งใจของผู้บริโภคกลุ่มนี้ในการเดินทาง ซึ่งพวกเขามีความปรารถนาอย่างมากที่จะออกมาท่องเที่ยว ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องใช้กลยุทธ์ดิจิทัลใหม่เพื่อเข้าถึงพวกเหล่านั้นด้วย